เตรียมเคลื่อนไหวค้าน “ดองกองทุนการออมฯ” ชี้ รมว.คลังแก้ กม.ล้วงเงินกองทุน
เวที ‘เดินหน้าบำนาญประชาชน’ ค้าน รบ.ดอง พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ 2 ปีไม่เปิดรับสมาชิก แรงงานนอกระบบ 35 ล้านคนเสียโอกาส ติง รมว.คลังเล็งแก้ กม.เอื้อการเมืองล้วงเงินกองทุน
วันที่ 18 ม.ค. 56 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ สำนักงานปฏิรูปร่วมกับศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ จัดเสวนา ‘สิ้นสุด...การรอคอย เดินหน้า...บำนาญเพื่อประชาชน’ สืบเนื่องที่รัฐบาลยังไม่บังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 11 พ.ค.54 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ทำให้กองทุนการออมแห่งชาติซึ่งเป็นหลักประกันยามชราแก่ผู้สูงวัยและแรงงานนอกระบบยังไม่เกิดขึ้นจริง โดยอยู่ระหว่างการเสนอแนวทางแก้ไขกฎหมายตามข้อเสนอของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(รมว.คลัง)
โดยนายชนะชัย ประยูรสิน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง(สศค.) กล่าวถึงสาเหตุความล่าช้าที่รัฐบาลยังไม่เปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.)ตามที่ พ.ร.บ.ระบุให้เปิดรับสมาชิกตั้งแต่ 8 พ.ค.55ว่าที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้เตรียมพร้อมทั้งด้านสำนักงาน งบประมาณและอื่นๆแล้วเสร็จก่อน 8 พ.ค. 55 แต่ รมว.คลัง และสศค.มีนโยบายให้แก้ไขกฎหมาย จึงจำเป็นต้องเลื่อนเปิดรับสมาชิกออกไปเพื่อให้กระบวนการแก้ไขกฎหมายผ่านการพิจารณาของรัฐสภาก่อน โดยยอมรับว่าความล่าช้าดังกล่าวทำให้แรงงานนอกระบบเสียประโยชน์ โดยจะรีบเร่งรัดการยกร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จและบังคับใช้โดยเร็วที่สุด
นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่าผลของการที่รัฐบาลไม่ผลักดันให้เกิดกองทุนการออมแห่งชาติทำให้แรงงานนอกระบบราว 35.5 ล้านคน รวมทั้งเยาวชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปที่รอจะเข้าเป็นสมาชิก กอช.เสียประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุเข้าใกล้ 60 ปีที่อาจพลาดโอกาสการได้รับหลักประกันยามชรา ทั้งนี้เครือข่ายแรงงานเคยยื่นหนังสือทวงถาม ต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์รับปากจะเร่งรัดให้แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ประสบผลโดยมองว่ายิ่งรัฐบาลผลักดันให้มี กอช.เร็วมาเท่าใด นอกจากประชาชนจะได้ประโยชน์แล้วจะยังช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณและลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศ เนื่องจากเป็นกองทุนที่ประชาชนมีส่วนร่วมสมทบเงินอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่กองทุนที่รัฐให้เปล่า
ด้านนางสุนี ไชยรส คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่าการผลักดันให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวโดยเร็วเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยตรง ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงการคลังฝ่ายเดียว เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 84 (4) บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ คือ จัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชน แต่ปัจจุบันรัฐบาลก็ยังไม่นำกฎหมายที่ประกาศใช้แล้วไปปฏิบัติ ซึ่งการเพิกเฉยเช่นนี้อาจนำไปสู่การฟ้องร้องว่ารัฐบาลละเลยหน้าที่ได้ ทั้งนี้สภานิติบัญญัติต้องตรวจสอบรัฐบาลต่อการละเลยดังกล่าวด้วย ซึ่ง คปก.จะทำหนังสือเสนอความเห็นรัฐบาลต่ออีกครั้ง อย่างไรก็ดีเห็นว่าควรบังคับใช้ พ.ร.บ.โดยเร็วเสียก่อน หากต้องการแก้ไขจุดใดจึงแก้ไขตามที่หลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนเสียโอกาสเพราะความล่าช้าในกระบวนการแก้กฎหมาย
“เป็นกฎหมายที่จำเป็นจะต้องเดินต่อโดยเร่งด่วน เพราะตอบโจทย์ให้แรงงานนอกระบบซึ่งไม่ได้รับสิทธิหลักประกันยามชรามีโอกาสเช่นแรงงานในระบบ แม้การออมแค่นี้ไม่พอสำหรับชีวิตจริง แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ในการปรับระบบสวัสดิการ ซึ่งยังจะต้องมีการพัฒนาอีกต่อไป” นางสุนี กล่าว
ขณะที่รศ.ดร.วรเวศน์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปัจจุบันไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย มีประชาชนซึ่งนอกเหนือไปจากกลุ่มข้าราชการและพนักงานเอกชนที่ยังขาดหลักประกันยามชราอยู่จำนวนมาก แม้รัฐบาลจะมีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ทุกเดือน แต่ก็เป็นเงินจำนวนน้อยที่ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ขณะที่รัฐบาลจะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้มากขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมี กอช.
อย่างไรก็ดีเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายในประเด็นที่เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สมาชิกเป็นเรื่องดี เช่น การเพิ่มอายุสมาชิกจาก 15–60 ปีเป็น 15–70 ปี หรือการที่รัฐบาลจ่ายเงินสมทบอัตราเดียวร้อยละ 100 ทุกช่วงอายุสมาชิก ส่วนข้อแก้ไขที่น่าเป็นกังวลคือประเด็นการบริหารจัดการกองทุนที่จะเปลี่ยนให้ผู้บริหารกองทุนจากเดิมต้องมาจากการสรรหาเป็นให้ ผอ.สศค.ดำรงตำแหน่งโดยปริยาย ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่อิสระและเปิดโอกาสให้การเมืองยื่นมือควบคุมเงินของสมาชิกง่ายขึ้นโดยเมื่อใดที่รัฐบาลขาดเงินอาจใช้กองทุนการออมแห่งชาติเป็นงบประมาณแหล่งใหม่เพื่อด้วยการออกพันธบัตรให้กองทุนซื้อตามแนวทางที่มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายใหม่ด้วยการเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตรรัฐ
นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ กล่าวอีกว่าไม่เห็นด้วยที่รมว.คลังเสนอให้แก้ไขเพิ่มทางเลือกให้ผู้สูงอายุเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญได้ เพราะการให้เงินก้อนอาจหมดไปในพริบตา ผิดหลักการที่รัฐจะต้องดูแลผู้สูงอายุอย่างมั่นคงตลอดชีพ ทั้งนี้การเข้าเป็นผู้ประกันตนของแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม กับการเป็นสมาชิก กอช.จะไม่ซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากมาตรา 40 เป็นลักษณะการให้บำเหน็จผู้สูงอายุ แต่กอช.(ตามกฎหมายปัจจุบันที่ยังไม่แก้ไข)เป็นการให้บำนาญซึ่งเป็นหลักประกันที่มั่นคงกว่า
“ในญี่ปุ่น การแก้กฎหมายเกี่ยวกับบำนาญประชาชนทำเป็นกิจวัตรทุกปี ผมคิดว่าถ้าเรารอกฎหมายที่สมบูรณ์ที่สุด ก็คงไม่ต้องทำอะไรกัน และ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ก็อาจต้องเติมคำว่า ‘หน้า’ ต่อท้าย”
ด้านนางมุกดา อินต๊ะสาร ประธานภาคประชาชนกองทุนสวัสดิการชุมชน กล่าวถึงแนวทางแก้ไขกฎหมายกอช.ของกระทรวงการคลังในประเด็นการไม่กำหนดเพดานเงินฝากว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ตัวอย่างธนาคารชุมชนที่ดำเนินการอยู่ก็ยังต้องกำหนดเพดานเงินฝาก หากไม่ทำเช่นนั้นธนาคารหมู่บ้านกลายเป็นของนายทุนที่มีเงินเยอะ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสมดุล ควรกระจายเงินมากกว่ากระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการเสวนามีการพูดถึงสาเหตุการแก้กฎหมายทำให้บังคับใช้ล่าช้า ว่ามาจากการเมืองที่ไม่ต้องการให้เห็นว่าพ.ร.บ.กองทุนการออมฯเป็นผลงานของรัฐบาลชุดก่อนด้วย ทั้งนี้จะนำข้อสรุปที่ได้จากเวทีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ขณะที่เครือข่ายแรงงานนอกระบบระบุจะเคลื่อนไหวเร่งรัดเรื่องดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีและผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯด้วย .
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม :: ‘“ดองกองทุนการออมแห่งชาติ” เหตุผลฟังไม่ขึ้น แรงงานนอกระบบเสียโอกาส’ http://bit.ly/XgxViL
ที่มาภาพ ::: http://hilight.kapook.com/view/41618
.........................
(ล้อมกรอบ)
ความแตกต่างของพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554และแนวทางการแก้ไขของรมว.คลัง วิเคราะห์โดยรศ.ดร.วรเวศน์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประเด็น |
พ.ร.บ.ปัจจุบัน |
แนวทางการแก้ไข พ.ร.บ. |
อายุสมาชิก |
15-60 ปี โดยมีบทเฉพาะกาลมาตรา 69 ให้ผู้มีอายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่สมัครเป็นสมาชิกมีสิทธิเป็นสมาชิกกองทุนต่อไปได้อีกสิบปีนับแต่วันที่เป็นสมาชิก |
ทบทวนแก้เป็น 15-70 ปี |
เงินสะสมเข้ากองทุน |
กำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50 บาท แต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง |
กำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50 บาท แต่จะไม่จำกัดเพดานเงินสะสม |
เงินสมทบจากภาครัฐ |
รัฐบาลสมทบให้หลายอัตราตามอายุของสมาชิก ณ เวลาที่จ่ายเงินสะสม รัฐบาลออม สมาชิกอายุ 15-30 ปี ร้อยละ 50 สมาชิกอายุ 31-50 ปี ร้อยละ 80 และ สมาชิกอายุ 51-60 ปี ร้อยละ 100 |
รัฐบาลสมทบอัตราเดียว ร้อยละ 100ทุกช่วงอายุสมาชิก |
การรับเงินสะสมคืน |
ให้เลือกรับเฉพาะบำนาญ |
เปิดทางเลือกบำนาญหรือบำเหน็จ |
สมาชิกตกอยู่ภาวะทุพพลภาพ |
สมาชิกรับคืนเฉพาะเงินสะสมกับเงินผลประโยชน์ (เงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายให้จะไม่ได้คืน) |
สมาชิกรับคืนทั้งเงินสะสม เงินสมทบ และเงินผลประโยชน์ |
โยบายการบริหารจัดการเงินกองทุน |
ลงทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 |
เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมั่นคงสูง โดยเน้นการลงทุนในเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล เป็นหลัก |
การค้ำประกันผลตอบแทนการลงทุน |
มี ทั้งนี้พิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภทสิบสองเดือนโดยเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธกส. และธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ห้าแห่งตามคณะกรรมการกำหนด |
ไม่มี เนื่องจากเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมั่นคงสูง |
ผู้บริหารกองทุน |
เลขาธิการกองทุนการออมแห่งชาติ (โดยกระบวนการสรรหา) |
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (โดยตำแหน่ง) |
ที่มา:สรุปโดยผู้เขียนจากพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 และข่าวกองทุนการออมแห่งชาติ เกณฑ์ใหม่ยุค “กิตติรัตน์” วันที่ 10 ตุลาคม 2555 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ .