เปิดตัว “บัตรประชาชนเกษตรปราดเปรื่อง” ช่วยวางแผนพัฒนาเกษตร-จัดโซนนิ่ง
5 หน่วยงานร่วมเปิดตัว “สมาร์ทฟาร์เมอร์การ์ด” ทุกข้อมูลเกษตรในใบเดียว นำร่องนครนายกฯ ก่อนสู่เกษตรกร 7.2 ล้านคน “ยิ่งลักษณ์”เปรยใช้เป็นฐานข้อมูลโครงการจำนำข้าว
วันที่ 17 ม.ค. 56 ที่โรงแรมรามาการ์เด้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการสนับสนุนนโยบาย Smart Farmer/Smart Officer ‘หนึ่งบัตรประชาชนเพื่อเกษตรกรปราดเปรื่อง : One ID Card for Smart Farmer’ ระหว่าง 5 หน่วยงาน และเยี่ยมชมระบบการใช้งานบัตรดังกล่าว รวมทั้งมอบบัตรให้กับกลุ่มตัวแทนเกษตรกรจากจังหวัดนครนายก 10 คนด้วย
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่านโยบายดังกล่าวมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรกว่า 12 ล้านคนหรือ 7.2 ล้านครอบครัว เนื่องจากการบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานในการจัดทำระบบข้อมูลนอกจากจะทำให้เกษตรกรได้รับความสะดวกในการเข้าถึงบริการจากรัฐมากขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความซ้ำซ้อนในการให้บริการของหน่วยงาน ทำให้รัฐบาลมีข้อมูลพื้นฐานภาคเกษตรที่เป็นเอกภาพเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์สถานการณ์และคาดการณ์ผลผลิตเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรได้แม่นยำมากขึ้น
ด้านนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(รมว.กษ.) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามฯ ว่าโครงการบัตรประชาชนเพื่อเกษตรกรปราดเปรื่อง คือการนำข้อมูลทะเบียนเกษตรกรมาเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตทางการเกษตร ซึ่งขณะนี้มีความจำเป็นต้องปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะนำข้อมูลดังกล่าวจัดเก็บไว้บนบัตรประจำตัวประชาชนแบบเอนกประสงค์ (Smart Card) ให้เป็นบัตรเดียวที่มีข้อมูลของเกษตรกรอย่างเป็นเอกภาพ ถูกต้อง ทันสมัย และสามารถใช้ร่วมกันได้ทุกหน่วยงาน
โดย กษ.จะถ่ายโอนฐานข้อมูลเกษตรกร 7.2 ล้านครัวเรือนที่มีอยู่จากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมงไปยังกระทรวงมหาดไทยให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อรวบรวมใส่ไว้ในฐานข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน หลังจากนั้นจะนำข้อมูลสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2556 ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงไอซีทีมาเทียบเคียงอีกครั้ง
โดยประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับคือทำให้การตรวจสอบสถานภาพและข้อมูลเกษตรกรโดยภาครัฐง่าย ถูกต้องและรวดเร็วมากขึ้น ช่วยลดขั้นตอนการรับบริการ ทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสารเพื่อการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการดังกล่าวจะนำร่องในจังหวัดนครนายกเป็นพื้นที่แรกและจะขยายโครงการครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีต้องการให้นำบัตรประชาชนที่บรรจุข้อมูลเกษตรกรไปใช้กับโครงการจำนำข้าว แต่เนื่องจากต้องรอข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมายืนยันอีกครั้ง จึงไม่ทันโครงการจำนำข้าวรอบ 2 ในปีการผลผลิต 2555/2556
“การรวบรวมข้อมูลนี้จะทำให้รัฐบาลรวมทั้งหน่วยงานรัฐทราบว่าเกษตรกรนั้นมีพื้นที่เพาะปลูกขนาดเท่าใด มีที่ดินกี่แปลง มีอาชีพเกษตรกรรมอะไรบ้าง เมื่อเกิดภัยธรรมชาติก็สามารถช่วยเหลือได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวจะไปอยู่ที่สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนเพื่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศ รวมทั้งเป็นข้อมูลในการทำโซนนิ่งเกษตร” นายยุคลกล่าว
ด้านนายคมสัน จำรูญพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัด กษ.กล่าวถึงประโยชน์การใช้งานบัตรประชาชนเพื่อเกษตรกรว่า เกษตรกรจะสามารถใช้บัตรยืนยันสิทธิ์ความเป็นเกษตรกรได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องให้ใครรับรองสิทธิ์ โดยเกษตรกรผู้ถือบัตรจะมีรหัส 4 หลักซึ่งตัวเกษตรกรเท่านั้นที่รู้ หรือใช้ลายนิ้วมือในการเข้าถึงข้อมูลของตน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอในแต่ละพื้นที่ โดยข้อมูลในบัตรจะประกอบด้วยข้อมูลชนิดการปลูกพืช พื้นที่เพาะปลูก ผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ ซึ่งเกษตรกรสามารถพิมพ์ใบรับรองการขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้เพื่อนำไปใช้ในการเข้าร่วมโครงการต่างๆของรัฐบาลได้ทันที ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการเข้าถึงโครงการต่างๆของรัฐได้มาก
นางละเอียด เจริญขำ เกษตรกร จ.นครนายก ผู้ได้รับมอบบัตรประชาชนเกษตรปราดเปรื่อง กล่าวว่าแต่ก่อนเมื่อจะเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวจะต้องใช้ทั้งบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ใบเช่านา โดยต้องมีผู้ใหญ่บ้านเซ็นรับรองว่าเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจริงหรือไม่ รวมทั้งต้องมีใบรับรองจากสำนักงานเกษตรอำเภอ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ด้วย ซึ่งต่อไปนี้จะสามารถใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวในการยืนยันสิทธิ์ของตนเพื่อเข้าร่วมโครงการด้านการเกษตรต่างๆของรัฐได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภารกิจที่หน่วยงานต่างๆจะต้องร่วมดำเนินงานตามโครงการหนึ่งบัตรประชาชนเพื่อเกษตรกรปราดเปรื่อง ได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสานักงานสถิติแห่งชาติ ดำเนินการจัดทำสามะโนเกษตร พ.ศ.2556 โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรให้การสนับสนุนในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกับฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และจะนำไปตรวจสอบปรับปรุงฐานข้อมูลให้ถูกต้องกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หลังจากนั้นจะมีการรวมกันพัฒนาระบบการให้บริการของภาครัฐในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการจัดเก็บไว้ในระบบการจัดเก็บขนาดใหญ่ (g-Cloud Computing) โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
กระทรวงมหาดไทย โดยสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง จะร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร นำข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปบูรณาการกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร และบันทึกข้อมูลในบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด (Smart card)
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้การสนับสนุนข้อมูลและแผนที่ รวมทั้งรายละเอียดของพื้นที่ อนุรักษ์ พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ใช้วางแผนและจัดการการผลิตด้านการเกษตรให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล
ทั้งนี้ทั้ง 5 หน่วยงานที่ร่วมลงนามในโครงการหนึ่งบัตรประชาชนเพื่อเกษตรกรปราดเปรื่อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) กระทรวงมหาดไทย(มท.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) .