“สุขุมพันธุ์” แจงคดี BTS ผ่านเว็บหาเสียง-ย้ำ DSI ไม่มีอำนาจสอบ
“สุขุมพันธุ์” แจงคดี BTS ผ่านเว็บหาเสียง ย้ำ DSI ไม่มีอำนาจสอบ ต้องให้ ป.ป.ช.ทำ แจงต่อสัญญา้เดินรถต่างกับสัมปทานอย่างไร
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในเว็บไซต์ http://www.sukhumbhand.com ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ใช้เป็นอีกช่องทางในการรณรงค์หาเสียง ได้ขึ้นคำชี้แจงกรณีที่เป็นวิพากษ์วิจารณ์สมัยที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.รวม 3 กรณี ได้แก่กรณีติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือ CCTV ที่มีกล้องพรางอยู่ด้วย กรณีสนาม Bangkok Futsal Arena เสร็จไม่ทันใช้แข่งขันฟุตซอลโลก เมื่อปลายปี 2555 และที่น่าสนใจที่สุด ได้แก่กรณีต่อสัญญาการเดินรถไฟฟ้า BTS ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กำลังพยายามดำเนินคดีกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์รวมถึงผู้เกี่ยวข้องอยู่ในเวลานี้
โดยคำชี้แจงของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ที่ปรากฏในเว็บไซต์ดังกล่าว มีสาระสำคัญดังนี้
1.กทม.ขอยืนยันว่าการดำเนินการของ กทม.ไม่ใช่การต่อสัมปทาน แต่เป็นสัญญาว่าจ้างโดยใช้ทรัพย์สินของ กทม. ซึ่งรายได้ทั้งหมดจากโครงการจะตกเป็นของ กทม. เป็นการดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ของ กทม.อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 281 และมาตรา 283 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกทม. พ.ศ.2528 และ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542
ที่อ้างว่า กทม.ฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 นั้น ความจริง คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยในหลายเรื่องหลายครั้ง (ตามเรื่องเสร็จที่ 252/2525 เรื่องเสร็จที่ 398/2535 และเรื่องเสร็จที่ 572/2546) ว่า กิจการที่กำหนดตามประกาศของคณะปฏิวัติ รวมทั้งกิจการการเดินรถรางนั้น ใช้บังคับเฉพาะสำหรับกรณีการอนุญาตหรือการให้สัมปทานแก่เอกชนเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งเอกสารทั้งหมด กทม.ได้จัดส่งให้คณะกรรมการคดีพิเศษทั้ง 2 ชุด รวมถึงเจ้าหน้าที่ของ DSI แล้ว
นอกจากนี้ ยังเคยมีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ระบุว่า ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
2.ผู้บริหาร กทม.มิได้กังวลต่อการตรวจสอบของหน่วยงานที่มีอำนาจ ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามมาตรา 19 ของกฎหมาย ป.ป.ช. เนื่องจากผู้ว่าฯกทม.และรองผู้ว่าฯกทม.เป็นข้าราชการการเมือง หากมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบก็คือคณะกรรมการ ป.ป.ช. DSI ไม่มีอำนาจสอบสวน รวมถึงการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ต่อผู้ว่าฯกทม.และรองผู้ว่าฯกทม. ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง และเป็นบุคคลตามมาตรา 66 ของกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งเรื่องนี้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามเรื่องเสร็จที่ 32/2550 รองรับอยู่แล้ว
3.ที่ DSI เสนอกระทรวงมหาดไทย (มท.) ให้ยกเลิกสัญญาที่ กทม.ดำเนินการในเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ มท.จะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพราะหาก มท.จะด่วนบอกเลิกสัญญาตามข้อเสนอของ DSI จะส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำชี้แจงของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ดังกล่าว ยังมีการทำตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการต่อ "สัมปทาน" กับการต่อ "สัญญาจ้างเดินรถ"
โดยการต่อ “สัมปทาน” ต้องมีลักษณะ 1.รายได้เป็นของเอกชนและอาจแบ่งรายได้บางส่วนให้รัฐ 2.เอกชนได้กำไรจากการลงทุนเองทั้งหมด 3.รัฐมอบสิทธิการดำเนินการให้กับเอกชน และ 4.เป็นอำนาจตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ข้อ 11
ส่วนการต่อ “สัญญาจ้างเดินรถ” ต้องมีลักษณะ 1.รายได้ทั้งหมดตกเป็นของรัฐ 2.เอกชนได้ผลตอบแทนเป็นค่าจ้างเท่านั้น 3.เอกชนไม่มีสิทธิบริหารทรัพย์สิน และ 4.เป็นอำนาจของ กทม.ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหาราชการกทม. พ.ศ.2528 มาตรา 89 (8)