ม.มหิดล เล็งของบฯ พันล้าน เดินหน้าสร้างศูนย์ผู้สูงอายุแบบครบวงจร
อธิการบดี ม.มหิดล ตั้งเป้าศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจร และบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย เนื้อที่ 100 ไร่ จ.ประจวบฯ กลายเป็นต้นแบบกระจายไปทั่วประเทศ - ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
วันที่ 17 มกราคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน “วิถีแห่งการบริบาลผู้ป่วย ระยะท้ายและการเยียวยา ความทุกข์ของผู้สูญเสีย” ณ ห้องประชุม 101 อาคารประชาสังคมอุดมพัฒน์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม โดยภายในงานมีการแนะนำโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจร และบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บนพื้นที่ 100 ไร่ ซึ่งคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ร่วมกับญาติมิตรได้มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์ฯ นี้ ที่คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1 พันล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเรื่องเพื่อขอจัดสรรงบประมาณต่อสำนักงบประมาณ และคาดว่า รัฐบาลจะอนุมัติงบฯ ภายในเดือนมิถุนายน 2556 หลังจากนั้นจะเป็นการก่อสร้าง และสามารถเปิดใช้โครงการในระยะที่ 1 อย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2558 ขณะที่การสิ้นสุดโครงการทั้งหมดระยะที่ 2 ภายในเดือนตุลาคม 2559
“เราพยายามเสนอแนวทางให้รัฐบาลเห็นความสำคัญ หลังประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นๆ ประกอบกับจำนวนคนวัยทำงานลดลง ขนาดครอบครัวเล็กลง ฉะนั้น ประเทศไทยควรมีระบบเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุ เริ่มตั้งแต่ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง ผู้สูงอายุที่เริ่มเจ็บป่วย และผู้สูงอายุที่เข้าสู่วาระของชีวิต ซึ่งการรักษาจะเน้นแบบประคับประคองไม่มุ่งยืดชีวิต”
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า การลงทุนเช่นนี้จะได้ผลกลับคืนมาแน่นอน แม้ตัวเลขงบประมาณหลักพันล้านบาท จะไม่เพียงพอ แต่ทางมหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้มีการระดมเงินบริจาคจากภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันนี้อาคารกลุ่มแรก ได้รับการบริจาคจากภาคเอกชนแล้วจำนวน 60 ล้านบาท
เมื่อถามถึงความพร้อม ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีคณะวิชาต่างๆ ที่พร้อมจะบูรณาการในศาสตร์ และวางแนวทางต่างๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าศูนย์ฯ นี้จะเป็นต้นแบบวางมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วย การศึกษาวิจัย และการพัฒนาบุคลากร นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับ เครือข่ายการบริการด้านสุขภาพของประเทศ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ชุมชน ภาคเอกชน ทุกภาคส่วนของประชาสังคม และอาสาสมัคร เพื่อให้เป็นต้นแบบและขยายผลไปทั่วประเทศ และในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
สำหรับศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจร และบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ได้รับการออกแบบและวางผังให้เกิดความสงบสูงสุด เรียบง่าย สอดคล้องกับธรรมชาติ และประหยัดพลังงาน นำธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ขณะเดียวกันยังมีบรรยากาศอบอุ่น คุ้นเคยเหมือนบ้าน ด้วยการออกแบบอาคารให้มีขนาดเล็ก กระจายตัว มีความสูงไม่เกินยอดต้นไม้ใหญ่ รวมถึงกลมกลืนกับธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสกับธรรมชาติทั้งด้านสายตา กลิ่น เสียง และสัมผัสทางกาย