ซัมซุงบุกหัวงานเขื่อนแก่งเสือเต้น หวังประมูลจัดการน้ำ 3.5แสนล้าน
บ.ซัมซุง-เกาหลี บุกสำรวจพื้นที่เตรียมสร้างเขื่อนใหญ่แพร่ พะเยา ตามคำเชิญรัฐบาลไทยให้ร่วมประมูลโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบ. ชาวบ้านสะเอียบ-แพร่ ยืนยันค้านสุดตัวแก่งเสือเต้น-ยมบน-ยมล่าง
วันที่ 16 ม.ค.56 ชาวบ้านสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เปิดเผยว่ามีคณะบุคคลจำนวน 9 คนที่อ้างว่ามาจากบริษัทซัมซุง โดยสารรถตู้โตโยต้าสีบรอนเงิน เลขทะเบียน ฮค 8553 กรุงเทพมหานคร และรถแวนโตโยต้าฟอร์จูนเนอร์สีขาว เลขทะเบียน ฆม 4730 กรุงเทพมหานคร เข้ามาในบริเวณพื้นที่ที่จะเป็นหัวงานก่อสร้างเขื่อนยมล่าง ซึ่งห่างจากหัวงานเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ชาวบ้านตั้งเวรยามเฝ้าหัวงานอยู่ประมาณ 10 กิโลเมตร
ชาวบ้านเข้าไปสอบถามได้รับคำชี้แจงว่ามาจากบริษัทซัมซุงประเทศเกาหลี เพื่อดูช่องทางการจัดการน้ำลุ่มน้ำยมที่รัฐบาลไทยประกาศให้ประเทศต่างๆมาประมูลงานการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งในแผนงานมีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง(เขื่อนแม่น้ำยม) ซึ่งทางบริษัทให้ความสนใจอยากเข้าร่วมประมูลงานนี้ด้วย
ซึ่งชาวบ้านชี้แจงว่าได้คัดค้านการสร้างทั้ง 3 เขื่อนนี้ เพราะจะทำให้เกิดน้ำท่วมป่าสักทองผืนสุดท้ายของไทยและของคนทั้งโลก และเคยเสนอให้รัฐบาลไทยสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ซึ่งจะแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งได้ดีและยั่งยืนกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า โดยชาวบ้านได้ขอให้บริษัทซัมซุงยุติความคิดที่จะมาประมูลงาน แต่ทางบริษัทยืนยันว่าจะส่งคณะชุดใหญ่มาอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นก็นำคณะออกจากพื้นที่ไป โดยอ้างว่าจะไปดูพื้นที่การจัดการน้ำของจังหวัดพะเยาต่อไป
นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ กล่าวว่า “เราเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการผลักดันเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งแก่งเสือเต้น ยมบน ยมล่าง เพราะส่งผลกระทบต่อชุมชนสะเอียบนับพันครอบครัวที่จะต้องอพยพมากกว่า 5,000 คน อีกทั้งผลกระทบต่อป่าสักทองผืนสุดท้ายของไทย ส่วนที่บริษัทต่างๆจะเข้ามาหัวงานมาหาข้อมูล เราจะไม่ยอมให้ข้อมูลเด็ดขาด หากเตือนแล้วไม่ฟังคงต้องใช้มาตรการเข้มข้นขึ้น ตนขอเรียกร้องให้หน่วยงาน บริษัทต่างๆอย่าได้คิดมาทำลายชุมชน มาทำลายป่าสักทองผืนนี้เลย ขอให้เก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมลุ่มน้ำยมนั้น ได้เคยมี 12 ข้อเสนอให้รัฐบาล ซึ่งเป็นแนวทางที่กระทบชุมชนกระทบป่าและสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า” .