สสว.ไร้แผนชัดช่วย SMEs กมธ.พัฒนาศก.เล็งยื่น “ยิ่งลักษณ์” ทบทวน แก้ให้ตรงจุด
ปลัดก.แรงงาน แจงกมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาฯ เผยภาพรวมผลกระทบจากขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน ครึ่งเดือนม.ค. พบตัวเลขเลิกจ้างแค่หลักพัน ยันเป็นเกณฑ์ที่ปกติ พร้อมโชว์มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ-ลูกจ้าง 3 ด้าน
วานนี้ (16 ม.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชนินทร์ รุ่งแสง เป็นประธาน ได้เชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ตามนโยบายประชานิยมของรัฐบาล เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน มาชี้แจงแนวทางในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ตอบข้อซักถามของ นายจุติ ไกรฤกษ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ต่อเรื่องการเตือนผู้ประกอบการ การวิเคราะห์ผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตที่ประเทศจะเสียประโยชน์ และเหตุผลที่ไม่รับข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่า ทุกอย่างต้องรอการดำเนินการทางภาครัฐ ส่วนเรื่องของการส่งออกก็มีการหารือในแนวทางการแก้ไขอยู่บ้าง แต่เนื่องจากปัญหายังไม่เกิดมาตรการที่ออกมาจึงยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม สสว.มีแนวทางปฎิบัติในปี 2556 ในเรื่องการให้คำปรึกษาเบื้องต้นในการลดต้นทุนในการผลิต จะมีการจัดทีมนักวิชาการไปวิเคราะห์ขีดความสามารถของสถานประกอบการ ส่วนสถานประกอบการที่มีความจำเป็นที่จะต้องย้ายฐานการผลิตเพื่อไปอยู่ในพื้นที่ที่มีแรงงานราคาถูก ก็จะมีการช่วยเหลือในการปล่อยกู้ และเรื่องของการลดหย่อนดอกเบี้ยจากแหล่งเงินทุน
อย่างไรก็ตาม นายจุติ ท้วงติงนโยบายที่ทาง สสว. ชี้แจงเป็นสิ่งเลื่อนลอย ใช้วิธีการเปิดตำราในการแก้ปัญหา ไม่สามารถทำได้จริง และไม่ทันการต่อการแก้ปัญหาเร่งด่วนที่มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก
ขณะที่นายชนินทร์ กล่าวว่า มีความไม่สบายใจกับการแก้ปัญหาของ สสว.ที่ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ทั้งที่ผลกระทบกำลังจะบานปลาย แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับยังรอเวลาเพื่อให้ปัญหาลุกลามโดยไม่มีการเตรียมการแก้ไข สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ สถานประกอบการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรที่จะเน้นให้การช่วยเหลือเป็นอันดับต้น ๆ
ตัวแทนจาก สสว.ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการประมาณ 600 ราย ส่วนใหญ่ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท แต่ก็มีการช่วยเหลือตัวเองโดยการลดต้นทุนในการผลิต เช่น เปลี่ยนการจ้างงานจากลูกจ้างประจำ เป็นการจ้างงานแบบเหมาชิ้น พร้อมยอมรับว่า บางพื้นที่เช่นจังหวัดทางภาคเหนือที่เคยมีค่าแรงถูกที่สุด อาจต้องเสียศักยภาพในการผลิต
"แต่หากมองในเชิงนโยบาย ก็เห็นว่า รัฐบาลเองก็มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมให้ย้ายฐานการผลิตไปยังพื้นที่ที่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ แรงงานและสะดวกต่อการขนส่งมากขึ้น"
ด้านนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า ภาพรวมผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน ตั้งแต่ 1-15 ม.ค. 2556 มีตัวเลขการเลิกจ้างหนึ่งพันกว่าคน ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่ปกติ สำหรับมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่จะตกงาน ได้คำนึงถึงปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 3 ด้านคือ
1.การว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง ได้เตรียมตำแหน่งงานว่างรองรับแล้ว 120,000 อัตรา 2.ใช้กระบวนการแรงงานสัมพันธ์ ทำให้นายจ้างกับลูกจ้างรับรู้และเข้าใจปัญหาซึ่งกันและกันในกรณีที่นายจ้างปรับลดสวัสดิการลูกจ้างลงเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และ 3.ปัญหาแรงงานเคลื่อนย้ายกลับสู่ภูมิภาคมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในเมืองขาดแคลนแรงงาน ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการจัดหาแรงงานทดแทนให้ตรงตามความต้องการโดยเร็วที่สุด ด้วยโครงการฝึกอบรมนักเรียนนักศึกษาระยะก่อนจบให้ไปฝึกงานในสถานประกอบการ
นอกจากนี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทยในหลายประเภทงานที่แรงงานไทยไม่ยอมทำ แต่แรงงานต่างด้าวทำได้ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ก็เร่งควบคุมด้วยการจัดระบบแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ให้ถูกกฎหมาย
“การจ้างแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เขมร ลาว พม่า เป็นเพียงการจ้างในระยะสั้นทดแทนแรงงานไทยที่มีจำนวนลดลง ส่วนในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำก็ต้องจ่ายให้อย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย เพราะนี่เป็นหลักสากล เชื่อว่าในระยะยาวผลประโยชน์ก็จะตกที่แรงงานไทยมากกว่า” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
ส่วนนายชนินทร์ รุ่งแสง ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯจะส่งหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนมาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ว่า มีมาตรการใดที่สามารถใช้ได้จริง รวมถึงแจกแจงแยกแยะว่า อุตสาหกรรมใดควรได้รับความช่วยเหลือก่อนก็ควรรีบช่วยเหลือให้ตรงจุด ทั้งนี้เห็นว่า มาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลเป็นมาตรการทางอ้อม ไม่ค่อยได้ผล ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษี มาตรการให้สินเชื่อ และ 11 มาตรการเดิม
นอกจากนี้การประชุมในวันนี้ทางคณะกรรมาธิการฯได้เชิญนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมา เพื่อให้ข้อมูลกับกรรมาธิการฯ แต่กลับส่งข้าราชการประจำมา แล้วยังไม่ได้ชี้แจงอะไร ถือว่าที่ประชุมในวันนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มาตรการที่เป็นข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่เสนอออกมาก่อนหน้านี้ คือให้รัฐบาลชดเชยส่วนต่างในการจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างในระยะเวลา 3 ปี โดยชดเชยส่วนต่างที่ 75- 50-และ 25% ตามลำดับ แต่ในเรื่องนี้รัฐบาลมีท่าทีปฏิเสธ สำหรับงบประมาณเพื่อชดเชยที่มีการประมาณการณ์ไว้คือ อัตรา 75% ใช้เงิน 1.3 หมื่นล้านบาท 50% ใช้เงิน 8000 ล้านบาทและ 25% ใช้เงิน 4000 ล้านบาท