สวนอุตสาหกรรม 304 แจงผลวิเคราะห์ ปัดไม่ได้เป็นต้นเหตุของสารปรอท
304 อินดัสเตรียล ปาร์ค เผยผลตรวจสอบคุณภาพน้ำทั้งในบ่อพักน้ำที่บำบัดแล้วและแหล่งน้ำโดยรอบ ซึ่งตรวจสอบโดยบริษัทรับตรวจสอบคุณภาพน้ำที่มีเครือข่ายทั่วโลก ไม่พบสารปรอทที่เป็นอันตรายต่อชุมชน ลั่นยินดีให้ความร่วมมือตรวจสอบข้อเท็จจริง
นายพูลศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด เปิดเผยหลังจาก ที่เจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเปิดเวทีหารือร่วมระหว่าง304 อินดัสเตรียล ปาร์ค และตัวแทนชุมชน จากกรณีที่มีความเป็นห่วงว่าจะมีสารปรอทกระทบต่อชุมชนในพื้นที่
นายพูลศักดิ์ ได้ชี้แจงข้อมูลระบบบำบัดน้ำ และเผยผลวิเคราะห์คุณภาพน้ำจากบริษัท SGS (บริษัทรับตรวจสอบคุณภาพน้ำที่มีเครือข่ายทั่วโลก) ดังนี้
1. ผลตรวจสอบคุณภาพน้ำจากบริษัท SGS ซึ่งสุ่มตรวจสอบน้ำทุกสัปดาห์ ตั้งแต่โรงงานเริ่มดำเนินการผลิต โดยผลจากตัวเลขย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ 2545 พบว่า น้ำที่บำบัดแล้วของกลุ่มโรงงานมีค่าสารปรอทอยู่ที่น้อยกว่า 0.0005 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (PPM) จนถึง มีปริมาณน้อยจนไม่สามารถตรวจวัดค่าได้ ซึ่งไม่เกินค่ามาตรฐานน้ำทิ้งของกรมโรงงาน ที่กำหนดไว้ 0.005 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (PPM) ซึ่งดีกว่าค่ามาตรฐาน 10 เท่า
2. และแม้ว่า น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วของกลุ่มโรงงานในพื้นที่สวนอุตสาหกรรม 304 จะมีค่าที่ดีกว่าค่ามาตรฐานกำหนด แต่ด้วยนโยบายของบริษัทฯ ที่จะไม่มีการปล่อยน้ำทิ้งลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะของชุมชนโดยเด็ดขาด ดังนั้น ที่ผ่านมา เราจึงบริหารจัดการน้ำโดยนำไปใช้ประโยชน์เพื่อรดแปลงไม้ และแปลงปลูกพืชพลังงาน อาทิ มันสำปะหลังและหญ้าเนเปียร์ เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
3. ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำล่าสุด โดยบริษัท SGS ที่ได้สุ่มตรวจสอบบ่อพักน้ำที่บำบัดแล้วของสวนอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 10 มกราคม และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบตัวอย่างน้ำจากคลองชะลองแวง ในจุดเดียวกับที่กรมควบคุมมลพิษเก็บตัวอย่าง เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2556 ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำจากห้องแล็บ SGS ทั้งที่บ่อพักและในคลองชะลองแวง พบว่ามีค่าน้อยกว่า 0.0005 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (PPM) จนถึงมีปริมาณน้อยจนไม่สามารถตรวจวัดค่าได้ ซึ่งดีกว่าค่ามาตรฐาน 10 เท่าเช่นกัน
จากข้อเท็จจริงทั้งหมดที่กล่าวมา ยิ่งเป็นการตอกย้ำข้อมูลว่า ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดค่าปรอทอย่างต่อเนื่อง หรือจากผลการสุ่มตรวจล่าสุดเมื่อวันที่ 10 และ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ผลวิเคราะห์ดีกว่าค่ามาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งหมด จึงสามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า โรงงานในพื้นที่สวนอุตสาหกรรม 304 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสารปรอทปนเปื้อนต่อชุมชนแน่นอน
นอกจากนี้ หลังการเข้าตรวจโรงไฟฟ้า ทางสวนอุตสาหกรรม 304 ได้ประสานงานให้โรงไฟฟ้าส่งข้อมูลผลการตรวจคุณภาพอากาศเพิ่มเติมให้กับดีเอสไอ
โดยผลการตรวจคุณภาพอากาศจากปล่องของโรงไฟฟ้าในปี 2552-2555 ซึ่งตรวจวัดค่าปรอทโดยบริษัท เอแอล เอส แลบบอลาทอรี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า ค่าที่ได้อยู่ที่น้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จนถึงมีปริมาณน้อยจนไม่สามารถตรวจวัดค่าได้ ซึ่งดีกว่าค่ามาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2.4 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือดีกว่าค่ามาตรฐาน 240 เท่า
แม้ว่าผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจะอยู่ในมาตรฐาน และยืนยันได้ว่า สวนอุตสาหกรรม 304 ไม่ได้เป็นต้นเหตุของสารปรอทดังกล่าว แต่เพื่อความมั่นใจและตามคำร้องขอของคนในชุมชน จึงได้มีการเพิ่มมาตรการลดการฝุ้งกระจายของฝุ่นจากโรงไฟฟ้า โดยสวนอุตสาหกรรม 304 ได้ขอให้โรงไฟฟ้าเพิ่มมาตรการและเข้มงวดในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงไฟฟ้าในการปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นแล้ว คือ จะมีการคลุมผ้าใบเพิ่มที่ลานกองให้ครบทุกจุด และได้กำกับให้รถที่ขนส่งทุกคันนอกจากจะต้องคลุมผ้ามิดชิดระหว่างการขนส่งแล้ว ช่วงนำรถเตรียมเข้าโรงงานห้ามเปิดผ้าใบก่อนโดยเด็ดขาด จนกว่าจะเข้าบริเวณพื้นที่ของโรงไฟฟ้าแล้วเท่านั้น และในลำดับต่อไปจะหาแนวทางหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น
“จากรายงานการพบสารปรอทในปลาช่อน 20 ตัวและเส้นผมของชาวบ้าน 20 คนนั้น เป็นเรื่องที่หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และชุมชน ควรให้ความร่วมมือกันเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยทางสวนอุตสาหกรรม 304 ยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และชุมชนในการตรวจสอบ เพื่อร่วมกันวางแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของจังหวัดปราจีนบุรีและประเทศชาติ” นายพูลศักดิ์ กล่าว ตอนท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:ตะลึง! พบสารปรอทอื้อ ในปลา-เส้นผมคนรอบ โรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ปราจีน
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง: "พื้นที่ปนเปื้อนสารปรอทของประเทศไทย แหล่งโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตเยื่อกระดาษ ตำบลท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี"