เปิดใจ 2 ศิลปินแห่งชาติ-ครูของชุมชน : ‘เคล้าน้อย–มกุฏ'
“16 มกราคม วันครูแห่งชาติ” น้อมวันทาพระคุณครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ด้วยการพาไปเปิดใจ 2 ศิลปินแห่งชาติผู้มีบทบาทพัฒนาชุมชน… ‘เคล้าน้อย โรจนเมธากุล’ และ ‘มกุฏ อรฤดี’
กระทรวงวัฒนธรรม เพิ่งประกาศรายชื่อศิลปินแห่งชาติปี 55 จำนวน 16 ท่าน 3 สาขา และเนื่องในวาระวันครูแห่งชาติปี 56 นี้ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา จึงขอถือโอกาสพาไปพบกับงานสร้างสรรค์ชีวิตและชุมชนของศิลปินแห่งชาติ 2 ท่าน
‘มกุฏ อรฤดี’ ครูวิชาหนังสือ และ ‘เคล้าน้อย โรจนเมธาดุล’ ครูหนังตะลุง ผู้ทำงานสืบสานวัฒนธรรมและพัฒนาการอ่านชุมชน
ครูเคล้าน้อย โรจนเมธากุล' : “ต้องขวนขวายวิชา มิเช่นนั้นอาจเป็นบัวเหล่าที่ 4 ไม่มีวันพ้นน้ำ”
‘เคล้าน้อย โรจนเมธากุล’ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง(การแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง) วัย 70 ปี เกิดที่ ต.การะเกด อ.เชียงใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช (ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่จ.กระบี่) เริ่มแสดงหนังตะลุงเมื่อปี 2507 โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาการแสดงท้องถิ่นจากนายสีชุม โรจนเมธากุล เจ้าของหนังสีชุม ผู้เป็นบิดา และครูหนังมากมาย เช่น หนังจันทร์แก้ว หนังประทิน และหนังแคล้ว จนมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดช่วงปี 2508-2520 มีเจ้าภาพรับการแสดงเดือนละ 20-30 คืน ซึ่งนอกจากมีพรสวรรค์ด้านการขับร้องบทและเจรจาหนังแล้ว ยังเป็นเลิศทางด้านเชิดรูปหนัง จนสามารถแข่งขันชนะหนังพร้อมน้อย หรือนายพร้อม บุญฤทธิ์ จ.พัทลุง อดีตศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ ครั้งเชิดรูปพระอิศวรทรงโคที่กรมประชาสัมพันธ์อีกด้วย
นอกจากนี้เนื้อเรื่องที่แสดงหน้าม่านนั้นยังสร้างความเพลิดเพลิน สอดแทรกคติธรรมได้อย่างดี โดยเฉพาะประเภทจักรๆวงศ์ ๆ กว่า 40 เรื่อง เช่น กรรมของแม่ กองทัพธรรม ราชินีสืบตระกูล พระแสงถวัลย์วงศ์ ที่สำคัญยังถ่ายทอดอารมณ์ตัวละครได้สมจริง ลึกซึ้ง โดยเฉพาะตัวตลกประจำโรง ‘สีแก้ว’ หรืออ้ายแก้วหัวกบ จนได้รับคำชื่นชมและรางวัลทางด้านการแสดงหลายเวทีการันตีฝีมือ เช่น รางวัลฤาษีทองคำ ช้างเผือกทองคำ โล่ทองคำถ้วยทองคำ เทวาทองคำ
‘เคล้าน้อย’ เล่าให้ฟังว่าหนังสีชุม ผู้เป็นบิดาได้ถ่ายทอดวิชาบทขับร้องและเจรจาหนังให้ลูกศิษย์ในภาคใต้มากมาย รวมถึงตนผู้เป็นสายเลือดโดยตรงด้วย ซึ่งผู้ที่จะแสดงได้นั้นจะต้องมีพรสวรรค์เป็นทุนเดิม ประกอบกับอาศัยการฝึกฝนจึงจะแสดงได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัจจุบันกระแสความนิยมชมหนังตะลุงลดน้อยลงมาก ยกเว้นหนังตะลุงเก่าแก่ที่ยังคงดึงดูดผู้ชมได้คืนละกว่า 3,000 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้ชมวงดนตรีลูกทุ่งเอกชัย ศรีวิชัยที่มีเพียง 2,000 คนต่อคืนเท่านั้น เช่น หนังพร้อมน้อย หนังเอียดนุ้ย หนังน้องเดียว หนังอ.ณรงค์ ตะลุงบัณฑิต หนังทวี พรเทพ โดยล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ลูกหากัน
ทั้งนี้กระแสความนิยมลดลงเกิดจากขาดการส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ดีอย่างต่อเนื่อง แม้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จะเดิมเกมรุกพัฒนาจริงจัง แต่หากหน่วยงานระดับท้องถิ่นไม่สานต่อ อนาคตหวั่นอาจสูญหายได้ จึงฝากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เร่งศึกษารวบรวมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานสืบไป
กว่า 50 ปีของชีวิตที่คลุกคลีกับหนังตะลุงนับว่าประสบความสำเร็จสูงสุด ‘เคล้าน้อย’ จึงมีแนวคิดตอบแทนสังคม โดยปัจจุบันได้นำเงินที่ชาวบ้านมีจิตศรัทธาร่วมบริจาคจัดตั้งเป็น ‘ศูนย์การศึกษาเรียนรู้ชุมชน’ เพื่อเป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า วิจัย ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะหนังตะลุง และเป็นห้องสมุดประจำหมู่บ้าน สำหรับส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่าน เพราะตนตระหนักเสมอว่าหากประชาชนขาดความรู้ก็ยากที่จะพัฒนาชาติให้เจริญได้ ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างแล้ว คาดว่าใช้ระยะเวลา 2 ปีจึงแล้วเสร็จ
“เรามิได้ส่งเสริมเฉพาะคนดีให้รู้จักรักการอ่าน แต่ต้องฝึกฝนคนไม่ดีให้รักการอ่าน รวมทั้งฝึกหนังตะลุงด้วย เพื่อมุ่งหวังให้นำความรู้ไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จะได้ช่วยอนุรักษ์ศิลปะท้องถิ่นและไม่เป็นภาระของชาติ จนหลายคนประสบความสำเร็จ”
ท้ายสุด ศิลปินเมืองใต้ ยังแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ว่าจะสืบสานหนังตะลุงจนกว่าชีวิตดับสูญ พร้อมฝากข้อคิดดี ๆ แก่เยาวชนรุ่นหลังให้หมั่นศึกษาหาความรู้ อันเป็นพื้นฐานความสำเร็จ หากสนใจเรื่องใดให้ตั้งใจและฝึกฝนจริงจังขวนขวายความรู้ มิเช่นนั้นอนาคตอาจเป็นดอกบัวเหล่าที่ 4 ที่ไม่มีวันโผล่พ้นน้ำ
ครูมกุฏ อรฤดี : ‘การส่งเสริมการอ่านต้องเข้าใจความต้องการของชุมชน’
‘นิพพานฯ’ หรือ ‘วาวแพร’ คือ นามปากกาของ ‘มกุฏ อรฤดี’ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (นวนิยายและเรื่องสั้น) หรือ ‘ครูมกุฎ’วัย 62 ปี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และอาจารย์พิเศษผู้ริเริ่ม‘วิชาหนังสือ’ หลักสูตรเดียวในไทยที่ผลิตคนทำหนังสือคุณภาพ ณ สาขาวิชาบรรณาธิการศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ‘มกุฏ’ เริ่มทำงานหนังสือตั้งแต่อายุ 17 ปี ผ่านการทำงานกับนิตยสารชื่อดังในอดีตมากมาย เช่น ลลนา หนุ่มสาว โดยเริ่มเป็นบรรณาธิการให้กับนิตยสารครอบครัวเล่มแรกของไทยอย่างบีอาร์(บางกอกรีดเดอร์)ตั้งแต่อายุเพียง 25 ปี และเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานเขียนคุณภาพโดยเฉพาะวรรณกรรมเด็กและเยาวชน ที่สำคัญเช่น ‘ผีเสื้อและดอกไม้’ ‘ปีกความฝัน’
‘มกุฏ อรฤดี’ ยังเป็นผู้มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการก่อตั้ง ‘สถาบันหนังสือแห่งชาติ’ หน่วยงานสำคัญที่จะทำหน้าที่แก้ปัญหาและพัฒนาการอ่าน การเขียน พัฒนาคนทำหนังสือ และกระจายโอกาสในการเข้าถึงการอ่านของคนทั้งชาติให้ทัดเทียมกัน เพื่อให้หนังสือสร้างคนและสังคมที่มีคุณภาพ
เพราะเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เคยขาดโอกาสในการอ่านหนังสือ แม้วันนี้ ‘มกุฎ’ จะกลายเป็นคนที่คลุกคลีกับวงการหนังสืออย่างมากถึงมากที่สุด แต่เขาก็ยังมองว่าโอกาสในการอ่านระหว่างคนเมืองกับชนบทก็ยังมีเหลื่อมล้ำเช่นเดิม และแม้ว่าจะมีการก่อตั้งห้องสมุดชุมชนในหลายพื้นที่ แต่ห้องสมุดเหล่านี้ก็ยังเป็นเสมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ยากที่ชาวบ้านตาสีตาสาซึ่งนุ่งผ้าขาวม้า ไม่ใส่รองเท้าจะกล้าเข้าใช้บริการ
“หากเราไปสำรวจหนังสือตามห้องสมุดชุมชนจะเห็นว่ามักจะมีแต่หนังสือสำหรับคนที่อ่านออก อ่านคล่องแล้ว เช่น พวกวรรณกรรมชั้นสูง แต่ข้อเท็จจริงคือคนที่เขาห่างเหินเรื่องหนังสือ จบชั้นประถมฯ4 ไม่ได้ต้องการอ่านหนังสือที่วิเศษวิโส แต่ต้องการอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเขา เช่น การประกอบอาชีพ สุขภาพ แสดงว่าหนังสือพื้นฐานที่เหมาะสำหรับคนแต่ละท้องถิ่เป็นสิ่งที่จำเป็นเบื้องต้น ไม่ใช่การมีห้องสมุดใหญ่ ๆ”
สิ่งแรกประเทศไทยควรทำเพื่อให้การส่งเสริมการอ่านได้ผลจริง คือ การทำข้อมูลภูมิศาสตร์ประชากรด้านการอ่าน เพื่อให้รู้ว่าคนแต่ละท้องถิ่นมีความต้องการอ่านหนังสือประเภทใด มีวิถีชีวิตอย่างไร ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องการอ่านในแต่ละชุมชนแต่ละท้องที่จะทำให้เหมือนกันหมดด้วยทฤษฎีเดียวกันไม่ได้
“ตัวอย่างถ้าถามว่าถ้ามีห้องสมุดเพิ่มขึ้นอีก 100 แห่งคนกรุงเทพฯจะอ่านหนังสือมากขึ้นไหม เชื่อได้เลยว่าไม่ เพราะว่าชีวิตของเขารีบร้อนเกินกว่าจะแวะเข้าห้องสมุดหยิบหนังสืออ่าน”
แต่การมีระบบหนังสือหมุนเวียนต่างหาก คือ สิ่งที่เขาฝันถึงและทำได้จริงมาแล้วด้วยความสำเร็จของ โครงการระบบหนังสือหมุนเวียนในมัสยิด 8 แห่งในจังหวัดกระบี่ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 โดยการสนับสนุนงบประมาณของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และ‘มกุฎ’ คือหนึ่งในคณะทำงานผู้ริเริ่มโครงการ หลักการระบบหนังสือหมุนเวียนคือการแบ่งมัสยิด 8 แห่ง ออกเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีหนังสือ 4 กอง และให้ชุมชนในมัสยิดซึ่งมักจะมาทำพิธีกรรมทางศาสนาประจำทุกสัปดาห์ได้ยืมไปอ่าน โดยมีข้อแม้ว่าทุก 3 เดือนหนังสือจะเวียนไปยังมัสยิดอื่นและรับเอาหนังสือกองใหม่จากมัสยิดอีกแห่งมาแทน และมีการแข่งขันทักษะที่ได้จากการอ่านหนังสือระหว่างมัสยิดทุกคนที่มีการแลกเปลี่ยน ซึ่งหลักการเช่นนี้ทำให้การส่งเสริมการอ่านทำได้โดยประหยัดแต่ได้คุณภาพโดยผู้อ่านมีความรับผิดชอบมากขึ้น
“ก่อนที่เราจะจัดหาหนังสือให้ เราถามชาวบ้านว่าอยากได้อะไร ส่วนใหญ่ต้องการหนังสือกฎหมาย ศาสนา อาชีพ แล้วเราก็มาพิจารณาเรื่องภูมิศาสตร์ประชากร เช่น เขาอยู่ติดชายฝั่งทะเล เขาควรจะอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประมง ถ้าเราเลือกแล้วเขาไม่พอใจ เขาก็จะส่งข่าวมาบอก
เรื่องที่ทำให้เราทึ่งมาก คือ หลังจากคนในมัสยิดอ่านหนังสือไป 1 ปี เขาคิดตั้งกองทุนสวัสดิการหมู่บ้านขึ้น เพื่อไว้จ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร ฯลฯ หรือ มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาบอกว่าอยากได้หนังสือกฎหมาย ผมก็ถามว่าจะเอากฎหมายอะไร เขาตอบว่า ผมไม่รู้ครับว่าต้องเป็นกฎหมายอะไร แต่เป็นกฎหมายที่จะบอกได้ว่าถ้ามีห้างฯมาปักป้ายโฆษณาในตำบลของเรา เราจะไปเรียกเก็บภาษีจากเขาได้อย่างไร เห็นไหมว่าชาวบ้านคิดไกลกว่าเราเยอะ”
แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เป็นเป้าหมายสำคัญของระบบหนังสือหมุนเวียน คือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ‘มกุฏ’ เล่าว่า ระบบดังกล่าวช่วยเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนต่างหมู่บ้านให้เข้ากันได้ดีขึ้นทั้งคนศาสนาเดียวกันและต่างศาสนา “เช่น เดิมมัสยิด 2 แห่งไม่เคยมีความสัมพันธ์กันเลย แต่เดี๋ยวนี้เวลาเขาจะทำอะไร เขาจะมาปรึกษากันในหมู่กรรมการมัสยิดเครือข่ายระบบหนังสือหมุนเวียน ซึ่งประชุมกันทุกเดือน และเขาไม่ได้ประชุมกันเฉพาะเรื่องหนังสือแล้ว แต่ประชุมเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น เรื่องการบุกรุกป่าในพื้นที่”
ตัวอย่างความสำเร็จของโครงการดังกล่าวทำให้สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสำนักจุฬาราชมนตรี มีแนวคิดที่จะนำไปใช้กับมัสยิดในกรุงเทพฯ ขณะที่ ‘มกุฎ อรฤดี’ เองก็เริ่มก่อร่างโครงการระบบหนังสือหมุนเวียนในชุมชน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่บ้านผู้นำชุมชนอย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้การส่งเสริมการอ่านบนพื้นฐานความต้องการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตเข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง
“ถ้าคนไม่อ่านหนังสือ ไม่มีความรู้ การพัฒนาการเมืองเศรษฐกิจสังคมก็ป่วยการ แต่ถ้าคนมีวิชาจะพัฒนาอะไรก็ทำได้ง่ายขึ้น” การที่คนในชาติมีพัฒนาการทางสติปัญญาคือความมุ่งหวังของศิลปินแห่งชาติผู้นี้.
------------------------
“ความรู้คือของขวัญอันล้ำค่าของชีวิต” โดยประการหนึ่งทำให้คนย้อนไปรู้จักรากเหง้าตนเอง ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี ร่องรอยบรรพบุรุษ และเมื่อมองไปข้างหน้ายังก่อปัญญาที่พร้อมจะถูกหยิบขึ้นมาเป็นอาวุธสร้างตน-สร้างชาติ
ดังที่ 2 ศิลปินแห่งชาติผู้เป็นครูของแผ่นดิน-ครูของชุมชน ท่านฝากไว้ว่า “ต้องขวนขวายวิชา มิเช่นนั้นอาจเป็นบัวเหล่าที่ 4 ไม่มีวันพ้นน้ำ” และ “ถ้าคนมีวิชาจะพัฒนาอะไรก็ทำได้ง่ายขึ้น”
…………………………………………………………….
(ล้อมกรอบ)
วันที่ 9 ม.ค. 56 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2555 จำนวน 3 สาขา ทั้งหมด 16 ท่าน ดังนี้
สาขาทัศนศิลป์ 4 ท่านได้แก่ 1.รองศาสตราจารย์เข็มรัตน์ กองสุข ด้านประติมากรรม 2.นางเนื่อง แฝงสีคำ ด้านประณีตศิลป์ - ช่างทอง 3.ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี ด้านสื่อผสม และ4.ศาสตราจารย์พิเศษอารี สุทธิพันธุ์ ด้านจิตรกรรม
สาขาวรรณศิลป์ 4 ท่าน ได้แก่ 1.นางนงไฉน ปริญญาธวัช 2.คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ 3.คุณหญิงวิมล ศิริไพบูรย์ และ4.นายมกุฏ อรฤดี
สาขาศิลปะการแสดง 8 ท่าน ได้แก่ 1.นางบัวซอน ถนอมบุญ ด้านการแสดงพื้นบ้าน - การขับซอ 2.นายดอกดิน กัญญามาลย์ ด้านภาพยนตร์ 3.นายสมส่วน พรหมสว่าง ด้านดนตรีไทยลูกทุ่ง 4.นายมนัส ปิติสานต์ ด้านดนตรีไทยสากล 5.พันโทเสนาะ หลวงสุนทร ด้านดนตรีไทย 6.พันโทวิชิต โห้ไทย ด้านดนตรีไทย - โยธวาทิต 7.นายเคล้าน้อย โรจนเมธากุล ด้านการแสดงพื้นบ้าน - หนังตะลุง และ8.นางสาวทัศนีย์ ขุนทอง ด้านดนตรีไทย - คีตศิลป์
ทั้งนี้ ศิลปินแห่งชาติทั้ง 16 ท่าน จะเข้ารับพระราชทางเข็มและโล่เชิดชูเกียรติจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์ในวันศิลปินแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และได้รับค่าตอบแทนรายเดือนๆละ 20,000 บาท รวมถึงเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามกองทุนส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรม
สำหรับศิลปินแห่งชาติที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติไปแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2528-2554 มี 221 ท่าน และพ.ศ. 2555 จำนวน 16 ท่าน รวมทั้งสิ้น 237 ท่าน แบ่งเป็นสาขา ทัศนศิลป์ 66 ท่าน วรรณศิลป์ 39 ท่าน และศิลปะการแสดง 132 ท่าน ส่วนศิลปินแห่งชาติที่เสียชีวิตไปแล้วทั้งหมด 97 ท่าน และยังมีชีวิตอยู่ 140 ท่าน .
ที่มาภาพ :: 'เคล้าน้อย โรจนเมธากุล' www.culture-ns.go.th