"สุดโต่ง-ก่อการร้ายทำลายคุณค่ามนุษย์" เสียงจากเวทีสัมนาอิสลามศึกษานานาชาติ
"การถือทิฐิ ความรุนแรง ความสุดโต่ง เป็นตัวทำลายศาสนาและคุณค่าความเป็นมนุษย์" เป็นคำกล่าวของ เชค อุมาร์ อุบัย ฮาซานะห์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยค้นคว้าและอิสลามศึกษา กระทรวงศาสนสมบัติ ประเทศกาตาร์ หนึ่งในองค์ปาฐกของงานสัมนานานาชาติเรื่อง "อิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย" ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ระหว่างวันที่ 14 -16 ม.ค.
การสัมนานานาชาติครั้งนี้ ซึ่งใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Islamic Studies in Changing World : Challenges and Opportunities นับเป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน ท่ามกลางกระแสตอบรับอย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่ของภาพพจน์ประเทศที่ให้ความสำคัญกับ "อิสลามศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม และยังเป็นการยกระดับการพัฒนาการศึกษาด้าน "อิสลามศึกษา" ที่ ม.อ.ปัตตานี และสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายแห่งเปิดสอนอยู่ให้มีคุณภาพมากขึ้น รองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนซึ่งมีประชากรมุสลิมไม่ต่ำกว่า 300 ล้านคน
การสัมนาได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีประเทศกีนี อินโดนีเซีย กัมพูชา เอกอัครราชทูตจากลิเบีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย อธิการบดี และปราชญ์รวมทั้งนักวิชาการด้านอิสลามศึกษาจากกาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน ตุรกี อียิปต์ โซมาเลีย ตูนีเซีย ปากีสถาน สหราชอาณาจักร และอื่นๆ รวม 40 ประเทศ กว่า 700 คนเข้าร่วมงาน
เชค อุมาร์ อุบัย ฮาซานะห์ กล่าวว่า อิสลามต้องดำรงอยู่และปรับตัวให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เวทีสัมนาลักษณะนี้ทำให้อิสลามได้เสนอมุมมองต่างๆ ต่อมนุษยชาติภายใต้การแข่งขันในโลกสมัยใหม่ โลกที่ไม่มีที่สำหรับคนไม่พัฒนาตนเอง การไม่ยอมรับการพัฒนาเป็นการสูญพันธุ์ทางวัฒนธรรม ต้องเตรียมการปกป้องจากความหวาดกลัว กฏชารีอะฮ์ของอิสลามไม่มีการปฏิเสธหรือคัดค้านการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จะเห็นว่าอัลกุรอานในยุคมาดีนะฮ์แตกต่างกับที่มักกะฮ์ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป นักคิดอิสลามได้เปลี่ยนคำวินิจฉัยตามสถานการณ์ของสังคม
ที่ผ่านมามุสลิมสามารถตอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้เป็นอย่างดี หลายศตวรรษที่ผ่านมาอิสลามแก้ปัญหาในด้านต่างๆ มากมาย เริ่มบทบาทจากการเป็นผู้ให้ มีความหลากหลายในสังคม การปฏิสัมพันธ์ในอารยธรรม หากสิ่งเหล่านี้ขาดหายและไม่มีความหลากหลาย จะเป็นความตายและชะงักงันทางวัฒนธรรม
"ไม่มีการปกปิดว่าความรุนแรง ความสุดโต่ง ปัญหาการก่อการร้าย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนคือการทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์ มุสลิมต้องมีทักษะและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทบทวนหน้าที่ความเป็นพลเมือง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการสานเสวนา การเยียวยาบาดแผลโดยไม่มีการบังคับและไม่สุดโต่งจึงจะพบทางสว่างแห่งสันติสุขในทุกพื้นที่"
เชค อุมาร์ อุบัย ฮาซานะห์ ยังกล่าวถึงบทบาทของมุสลิมไทยในสถานการณ์ปัจจุบันว่า สังคมไทยให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาของมุสลิม ฉะนั้นมุสลิมไทยต้องถามตัวเองว่าบทบาทของตนเป็นอย่างไร ได้แสดงศักยภาพ ร่วมแรงร่วมใจกันแค่ไหนที่จะช่วยพี่น้องมุสลิมด้วยกันเอง และต้องเชิญชวนสังคมอื่นมาร่วมเป็นสักขีพยาน นำเสนอความเป็นอิสระในการเลือกเดินสู่เป้าหมายของมนุษยชาติด้วยกัน
"การถือทิฐิ ความรุนแรง ความสุดโต่งเป็นตัวทำลายศาสนา การสัมนาครั้งนี้เป็นการลดปัญหาเหล่านั้นของสังคมมุสลิม วิทยาลัยอิสลามศึกษาและสถาบันการศึกษาทุกที่เป็นหน่วยเล็กๆ ที่จะเผยแผ่สานสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีสวัสดิภาพ" นักวิชาการจากประเทศกาตาร์ กล่าว และว่า การสัมนาในอีก 2 ปีข้างหน้าควรมีพี่น้องต่างศาสนิกมาร่วมและมีบทบาทด้วยกัน เพื่อจะได้สามารถสื่อสารและสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่มากขึ้นต่อไป
การสัมนานานาชาติเรื่อง "อิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย" เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. โดยมี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี และ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนา
นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวตอนหนึ่งว่า วัตถุประสงค์ของรัฐบาลไทยคือการทำให้อิสลามศึกษาเป็นศาสตร์ที่บูรณาการและสามารถเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นๆ ได้ ต้องสร้างให้นักศึกษาสาขาวิชานี้มีความรอบรู้และมีทักษะเชี่ยวชาญในสาขาอื่นๆ ไปพร้อมกัน เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพการงานที่ดีในอนาคต
"ด้วยเหตุนี้วิทยาลัยอิสลามศึกษาจึงเสนอหลักสูตร 2 ปริญญาในสาขาวิชารัฐศาสตร์ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และวิทยาการจัดการ สิ่งที่ต้องการในอนาคตคือ การบูรณาการหลักสูตรอิสลามศึกษากับสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร อาหารฮาลาล อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง การพยาบาล และอื่นๆ ขณะเดียวกันวิทยาลัยอิสลามศึกษายังฝึกนักศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมในอนาคตสำหรับการเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนที่มีคุณสมบัติสมบูรณ์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่ต้องฝึกให้นักศึกษามีความชำนาญทั้งภาษาหลักและภาษาท้องถิ่น เช่น ภาษาอังกฤษ อาหรับ ไทย และมาเลย์"
"ตลอดสามปีที่ผ่านมา วิทยาลัยอิสลามศึกษาส่งนักศึกษาไปศึกษายังประเทศในแถบอาเซียน อาหรับ และสหรัฐอเมริกา เพื่อให้มีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ นอกจากนั้นรัฐบาลยังต้องการให้วิทยาเขตปัตตานีเป็นศูนย์กลางที่เป็นเลิศด้านภาษาอาหรับ ด้วยการจัดตั้งศูนย์ภาษาอาหรับโดยผ่านโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยต่างประเทศและสามารถโอนหน่วยกิตได้ด้วย" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า เป็นความพยายามของวิทยาลัยอิสลามศึกษาที่มุ่งหาวิธีรับมืออย่างมีประสิทธิภาพกับความท้าทายต่างๆ ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย เพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาทของอิสลามศึกษา ตลอดจนเพื่อหาพันธมิตรทางวิชาการ และองค์ความรู้ที่จะกำหนดทิศทางการผลิตบัณฑิตเพื่อสนองความต้องการของโลก
ผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ผลจากการสัมนาครั้งนี้จะเป็นการยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี ให้ก้าวสู่มาตรฐานนานาชาติ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียน หรือ Asean Education Hub