กสทช.โชว์งาน 1 ปี ประเดิม 3Gต้นปีนี้- เร่งเปลี่ยนวิทยุชุมชนสู่ดิจิตอลตามทีวี
กสทช.โชว์ผลงาน 1 ปี ประเดิมโทรศัพท์ 3Gต้นปีนี้ก่อนขยับ 4G เร่งเปลี่ยนวิทยุชุมชนสู่ดิจิตอลตามทีวี ตั้งเป้าปีทองคุ้มครองผู้บริโภค ขยายโทรคมนาคม-อินเตอร์เน็ตชุมชน
วันที่ 15 ม.ค. 56 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงผลการดำเนินงานครบ 1 ปี กสทช. และทิศทางการดำเนินงานปี 56 ณ สำนักงานกสทช.
พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกสทช. กล่าวว่า รอบปีที่ผ่านมาได้จัดทำและประกาศใช้แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ พ.ศ.2555, แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559) และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 1(พ.ศ.2555-2559) สำหรับปี 56 จะเน้นการคุ้มครองผู้บริโภคโดยกิจการกระจายเสียงจะส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อผ่านกลไกเครือข่ายเฝ้าระวังตรวจสอบสื่อวิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งให้เข้าถึงกลไกการร้องเรียนที่รวดเร็วเป็นธรรม ขณะที่ด้านกิจการโทรคมนาคมจะเน้นพัฒนากฎกติกาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งคาดหวังให้เป็นปีทองแห่งการคุ้มครองผู้บริโภค
ด้านพ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกสทช. ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่าปีที่ผ่านมาได้กำหนดลักษณะการดำเนินงานในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ให้เป็นสากล เพื่อผลักดันสู่ระบบดิจิตอล โดยกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง เพื่อเตรียมพร้อมให้ผู้ประกอบการกว่า 7,000 รายสามารถทดลองประกอบกิจการ เพื่อนำร่องเข้าสู่ระบบการออกใบอนุญาต ซึ่งล่าสุด กสทช.ได้มอบใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการรอบแรก 515 สถานี แบ่งเป็น ประเภทบริการธุรกิจ 404 สถานี บริการสาธารณะ 67สถานี และบริการชุมชน 44 สถานี มีลักษณะชั่วคราวอายุ 1 ปีคาดหวังว่าภายในปี 56 จะแจกครบ 7,000 สถานี
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการเพื่อออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่ประกอบการอยู่สามารถดำเนินการภายใต้กฎหมาย โดยปัจจุบันมีผู้ยื่นขอรับใบอนุญาตบริการโทรทัศน์ 593 ราย บริการโครงข่ายโทรทัศน์ 238 ราย และบริการสิ่งอำนวยความสะดวก 2 ราย พร้อมพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แล้ว แบ่งเป็นบริการโทรทัศน์ 16 ใบอนุญาต และบริการโครงข่ายโทรทัศน์ 134 ใบอนุญาต
ประธานกสท. กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานปี 56 ว่าจะเร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านระบบรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล เพื่อให้กิจการโทรทัศน์ไทยมีความเป็นสากล โดยจะกำหนดกรอบนโยบาย แนวทางกรอบเวลาให้ชัดเจน พร้อมกำหนดมาตรฐานการรับส่งสัญญาณและมาตรฐานอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการเผยแพร่สัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เตรียมพร้อม
ส่วนกิจการกระจายเสียงจะเร่งผลักดันสู่ระบบดิจิตอลเช่นกัน โดยเฉพาะวิทยุชุมชนที่กำลังเป็นปัญหาคลื่นสัญญาณรบกวนการสื่อสารการบิน โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการศึกษาขั้นตอนและคาดว่าจะจัดเวทีให้ความรู้ผู้ประกอบการได้ในมี.ค. 56 ซึ่งการเปลี่ยนผ่านวิทยุสู่ระบบดิจิตอลนั้นมีผลดี คือ สามารถรองรับคลื่นสัญญาณได้มากกว่า 8,000 คลื่น และลดปัญหาคลื่นทับซ้อนและรบกวนการสื่อสารการบินได้ ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องรับส่งสัญญาณอาจมีราคาสูง เบื้องต้นกสท.ได้ตรวจสอบราคาจากประเทศออสเตรเลียซึ่งประสบความสำเร็จด้านวิทยุดิจิตอลโดยมียอดผู้ฟังสูงถึง 10% พบว่ามีราคาระหว่าง 1,000-2,000 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดแผนดำเนินการได้ เพราะอยู่ขั้นตอนศึกษา
ขณะที่พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช. ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่าปีที่ผ่านมาได้ประมูลและออกใบอนุญาตประกอบกิจการ 3G ให้กับผู้ประกอบการ 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท ดีแทคเนทเวอร์ค จำกัด และบริษัท เรียลฟิวเจอร์ จำกัด ซึ่งอยู่ในกระบวนการประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจะเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ได้อย่างเป็นทางการช่วงต้นปี 56
ทั้งนี้ในปี 55 ตลาดบริการโทรคมนาคมไทยมีมูลค่า 2.7 แสนล้านบาท ขยายตัวจากปี 54 ร้อยละ 9.7 โดยส่วนใหญ่เป็นตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 76 มูลค่ากว่า 2.06 แสนล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการใช้งานด้านเสียงร้อยละ 76 และการใช้งานข้อมูลร้อยละ 24 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 30 จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่บริการโทรศัพท์ประจำที่และบริการอินเทอร์เน็ต มีสัดส่วนร้อยละ 13 และ 11 ตามลำดับ
และจะเร่งผลักดันการเตรียมความพร้อมสู่การเปิดประมูลคลื่น 4G คลื่นความถี่ 1,800 เมกะเฮิร์ตซ์ที่ใกล้หมดอายุสัมปทานช่วงก.ย.ปีนี้ นอกจากนี้จะเร่งผลักดันการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานไปสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง ทั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน การประกาศใบอนุญาตดาวเทียมด้วย.