'วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' แนะคนรุ่นใหม่ ต้องกล้าก้าวออกจากพื้นที่ comfort zone
อดีต รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาฯ แนะคนรุ่นใหม่เปลี่ยนกรอบคิด รีบออกไปสัมผัสอาเซียน ไปพร้อมๆ กับเรียนรู้บทบาท non-state actors เชื่อจะมีบทบาทเด่นมากขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
(15 ม.ค.) ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล มีการจัดการประชุมวิชาการประเพณี มหิดล-กองทัพเรือ-ธรรมศาสตร์-เกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 15 ในหัวข้อ “การพัฒนาคนไทยรุ่นใหม่สู่ประชาคมโลก” โดยมีการปาฐกถา การอภิปราย และการโต้วาทีของนักศึกษา 4 สถาบัน
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การพัฒนาคนไทยรุ่นใหม่สู่ประชาคมโลก” ว่า สิ่งที่จะเป็นกระแส (trend) ของโลกในระยะปานกลางถึงระยะยาวที่ตนเห็นว่า สำคัญมากที่สุดคือ ผู้เล่นที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors) จะมีบทบาทเด่นมากขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น บริษัทข้ามชาติ องค์การเอ็นจีโอระหว่างประเทศ กลุ่มเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดียและกลุ่มทางสังคมอื่น ๆ
"องค์การระหว่างประเทศหรือองค์การในภูมิภาค ซึ่งจะมีอำนาจสามารถชี้นำเหนือรัฐและมีอิทธิพลต่อประชาชนในวงกว้างได้ โดยบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่หลายบริษัทมีขนาดเศรษฐกิจต่อปีสามารถเทียบเท่ากับจีดีพีของบางประเทศได้ เช่น ขนาดเศรษฐกิจของบริษัทวอลล์มาร์ทเทียบเท่าขนาดจีดีพีของประเทศไทย จึงควรให้เด็กรุ่นใหม่คือรุ่นลูกหลานของเราเรียนรู้บทบาทของ non-state actors มากขึ้น เพราะบริษัทเหล่านี้ย่อมต้องการคนที่มีความรู้ ความสามารถ ทักษะฝีมือ"
นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความรู้ เพียงแต่เรายังไม่คุ้นกับการก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone) ที่คุ้นเคยมากว่า 50 ปี และตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องกล้าก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเรียนรู้และต่อสู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างไม่กลัวที่จะผิดพลาด โดยเฉพาะการออกไปสัมผัสอาเซียน ที่กำลังจะรวมกันเป็นประชาคมในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยคนไทยจำเป็นจะต้องเปลี่ยนกรอบคิด (mind set) ใหม่ว่า อาเซียนไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อให้มาเป็นคู่แข่ง-คู่ค้ากัน แต่เพื่อเป็นคู่คิดที่จะอยู่ร่วมกันไปตลอด
ต่อจากนั้นเป็นเวทีการอภิปรายเรื่อง “การศึกษามีส่วนทำให้คนไทยก้าวสู่ประชาคมโลกได้อย่างไร” โดยมีวิทยากรจากภาควิชาการ สถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจมาร่วมอภิปราย
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี รองอธิการบดีฝ่ายวิชากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการได้รู้มุมมองของคนสิงคโปร์ที่มีต่อการศึกษาของไทย มองว่าเมื่อดูระบบการศึกษาของประเทศในอาเซียน จะแบ่งได้สองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และอีกกลุ่มคือ ไทย พม่า ลาว เขมร โดยการศึกษาของกลุ่มเน้นการเรียนรู้ทั่วทั้งโลก (regional) เพื่อให้รู้ว่า แต่ละประเทศมีอะไร จะใช้ประโยชน์จากแต่ละประเทศอย่างไรเพื่อการพัฒนาประเทศของตน ส่วนกลุ่มหลังมีการศึกษาที่เน้นมุ่งมองแต่เรื่องภายในประเทศตัวเอง เวลาคิดอะไรจึงไม่สามารถคิดออกไปนอกกรอบประเทศตัวเองได้
รศ.ดร.สิรี กล่าวอีกว่า ความหลากหลายในประเทศไทยมีน้อย เพราะมีความสามารถในการกลืนชนชาติอื่นเข้ามาให้เป็นไทยได้เหมือนกันหมด เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่กล้าก้าวออกจาก comfort zone เพราะคุ้นชินกับความเหมือน ๆ เดิม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เห็นความสำคัญเรื่องนี้จึงพยายามผลักนักศึกษาส่วนหนึ่งโดยการให้ทุนให้ออกไปเรียนรู้ในประเทศโลกที่สาม เช่น ทวีปแอฟริกา อินเดีย เนปาล แต่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่การไปเอาความรู้ แต่ให้ไปมีเพื่อนให้มากที่สุดเพื่อประโยชน์แก่วงการวิชาชีพของตนในอนาคต และเป็นต้นทุนที่มีค่ามากที่สุดแก่ตัวคนนั้น ๆ ในทางกลับกันก็เปิดรับนักศึกษาจากประเทศเหล่านั้นมาที่เมืองไทย และตั้งเป้าให้มีเพื่อนคนไทยให้มากที่สุดเช่นเดียวกัน
ด้าน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การศึกษาของไทยในปัจจุบันไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็น Input-based education ที่เน้นอาจารย์เป็นผู้สอน ใส่ความรู้ให้นักเรียน นักศึกษาด้วยการบรรยาย และตำรา ซึ่งผลคะแนนจากการทดสอบในระดับชาติก็ชี้ชัดแล้วว่า วิธีการนี้ใช้ไม่ได้ จึงควรเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนใหม่มาเป็นแบบ Outcome-based education ที่กำลังเป็นกระแสใหม่ของโลก กล่าวคือให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้วยการลงมือทำโครงการหรือแก้โจทย์ปัญหา ครูเป็นเพียงผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกในกระบวนการเรียนรู้นี้
“เราควรตั้งผลลัพธ์ของการศึกษาที่ต้องการพลเมืองที่มีความรู้ และใช้ความรู้อย่างรับผิดชอบต่อสังคม แล้วออกแบบวิธีการเรียนรู้เสียใหม่ให้เป็นการเรียนรู้ที่ตั้งต้นจากผลลัพธ์ เปลี่ยนจากการบรรยายที่มีมากเกินไปให้เป็นการทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ การแล็คเชอร์ยังมีได้ แต่ให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่นี้เท่านั้น ขอยืนยันว่าวิธีการนี้ทุกสถานศึกษาสามารถทำได้ทันที เพราะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร เพียงแต่จัดกระบวนการเรียนรู้ใหม่เท่านั้น” รองอธิการบดีฯ มธ. กล่าว
ขณะที่ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า การศึกษาไทยที่จะไปสู่ประชาคมโลก คนไทยต้องคำนึงถึงความเป็นสองอัตลักษณ์ในตัวเองคือ สถานะพลเมืองไทย และพลเมืองโลก จึงต้องทำให้การศึกษาตอบสนองความเป็นโลกาภิวัตน์ด้วย โดยทำให้เป็นโปรแกรมสากลที่ไปไกลกว่าภาษาอังกฤษ ให้คนไทยมีภาษาที่สามด้วย และทำให้การศึกษาไทยมีจุดแกร่งที่สุดด้านใดด้านหนึ่งที่นานาชาติจะต้องยอมรับ เช่น ด้านการท่องเที่ยว เราจึงจะมีที่ยืนในเวทีโลก
ทั้งนี้ ในส่วนของภาคเอกชน ดร.บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถ้าจะให้เด็กไทยไปสู่ประชาชาคมโลกหรืออาเซียนได้ จะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนรู้เสียใหม่ โดยต้องทำให้เด็กสนใจที่จะเรียนรู้ ค้นคว้า คิดด้วยตัวเองมากขึ้น และเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงมากกว่าการพึ่งพาครูสอนหรือหนังสือ และต้องฝึกให้เด็กไทยมีความกล้าแสดงออกและสามารถนำเสนอ (presentable) ได้ ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนของเด็กไทยที่ทำให้เสียโอกาสในการทำงานเมื่อเทียบกับคนของชาติเพื่อนบ้าน นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ต้องมีจิตสำนึกโดยเฉพาะเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เป็นเรื่องที่หนักใจเมื่อเห็นผลสำรวจว่าเยาวชนไทยเกิน 60% ยอมรับการคอร์รัปชั่น ถ้าทำให้ตัวเองได้ประโยชน์บ้าง