ถกปัญหาเกษตรพันธสัญญา นักวิชาการ ติงรัฐทบทวนนโยบาย-แผนพัฒนาศก.
เวทีถกความเหลื่อมล้ำภาคเกษตร จี้ทบทวนเกษตรพันธสัญญา ชี้เป็นระบบปกปิดข้อมูล ปิดกั้นอำนาจต่อรอง นักวิชาการติงรัฐทบทวนนโยบายต้นตอปัญหา หนุนเกษตรกรรวมตัวร้องเรียน
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยสังคม ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIRNet) จัดงานสนทนาสาธารณะเพื่อร่วมสร้างความเป็นธรรม เรื่อง ข้าว ปลา อาหาร : เมนูความเหลื่อมล้ำเกษตรกรไทย ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มธ. ภายในงานมีการกล่าวถึงประเด็นผลกระทบจากเกษตรพันธสัญญา โดยมี ดร.อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ก.เกษตรฯ รศ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายผู้เสียหายจากเกษตรพันธสัญญา นางสาวเสาวลักษณ์ เหลืองเรณู เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา และนางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ร่วมแสดงความคิดเห็น
นายอุบล กล่าวถึงอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารขณะนี้กำลังกวาดต้อนผู้คนเข้าสู่ธุรกิจอาหารเชิงเดี่ยว และทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรมทางอาหารของสังคม โดยที่ไม่มีกลไกใดในสังคมเข้ามาดูแลความไม่ยุติธรรมอย่างมหาศาลนี้
"ผมยืนยันว่าเกษตรพันธสัญญาไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล หรือเกษตรกรที่อยากรวย แต่เป็นเรื่องของระบบ โครงสร้างของประเทศนี้ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 และทุกครั้งที่ผลผลิตการเกษตรมีปัญหาด้านราคา ผู้มีอำนาจในประเทศนี้ก็จะใช้ระบบนี้แก้ปัญหา ความสัมพันธ์ระห่างผู้ผลิตและการตลาดเช่นนี้จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรมตั้งแต่ระบบข้อมูล ขาดอำนาจการต่อรอง อำนาจการผลิตขึ้นอยู่กับบริษัทเพียงผู้เดียวอย่างที่ไม่มีกลไกใดๆ ในสังคมดูแล" นายอุบล กล่าว และว่า การปล่อยให้บริษัทเข้าไปจัดการชีวิตชาวบ้าน เหมือนปล่อยให้บริษัททำธุรกิจไปก่ออาชญากรรมไป นักการเกษตรหลายคนก็ตกเป็นเครื่องมือของความอยุติธรรม ถูกบริษัทใช้ไปหลอกหลวงและให้ความหวังเกษตรกรจนต้องสูญเสียที่ดิน
ขณะที่นางสาวเสาวลักษณ์ กล่าวว่า เกษตรกรมักโดนกล่าวหาว่า ไม่มีความรู้และไม่มีความซื่อสัตย์ ทั้งที่เป็นผู้ถูกปกปิดข้อมูลทั้งหมด ทั้งต้นทุนและราคาขาย อำนาจในการต่อรองมีน้อยมาก ส่วนนี้อยากถามหาจรรยาบรรณของบริษัทที่ทำธุรกิจ
"แม้กลุ่มเกษตรกรจะเหมือนเป็นหนูทดลอง แต่ก็หวังว่า สักวันจะมีวัคซีนมาป้องกันโรคเกษตรพันธสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนี้ได้ ขอเรียกร้องแทนกลุ่มเกษตรพันธสัญญาที่ประสบปัญหาทั้งหมดว่า ขอให้ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลเกษตรกรที่เกิดปัญหา ขอให้แขวนคดีไว้ก่อน แล้วให้หน่วยงานพิเศษมาสืบข้อมูลว่าความจริงเป็นเช่นไร เกษตรกรโง่หรือไม่ซื่อสัตย์จริงหรือไม่ รวมถึงเรื่องหนี้สินเกษตรกร"
ส่วนนางสาวพงษ์ทิพย์ กล่าวว่า หากระบบการทำเกษตรเดินหน้าสู่ เกษตรพันธสัญญา คิดว่า ประเทศไปไม่รอดแน่ เพราะเป็นระบบที่ไม่มีกรอบ ไม่ความเป็นธรรม และไม่มีอะไรการันตี เรากำลังเดินไปให้บริษัทเอกชน ควบคุม ผูกขาด เรื่องความมั่นคงด้านอาหาร
ด้านรศ.ไพสิฐ กล่าวว่า เมื่อธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรด้านอาหารที่ครบวงจร เริ่มมีการลงทุนอย่างเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น เกษตรกรทั้งที่อยู่ในกลุ่มเกษตรพันธสัญญา หรือแรงงานภาคการเกษตร ควรต้องมีการรวมกลุ่ม และเปลี่ยนแนวความคิดในการทำการเกษตร โดยเฉพาะเมื่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังโยนภาระกันไปมา หน่วยงานที่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องอีก ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม ที่ควรเข้ามามีบทบาทให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองเกษตรกร
"การจะแก้ไขปัญหานี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันทำให้เกษตรพันธสัญญาเข้มข้นขึ้น มีการกำหนดโครงการและยุทธศาสตร์ที่สร้างความชอบธรรมให้ระบบนี้เป็นไปตามแผนพัฒนาของประเทศ นี่คือทั้งยวงของการกำหนดนโยบายที่เกิดปัญหาขึ้นมา อีกภาคส่วนหนึ่ง คือ บทบาทของสื่อ มีการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องเกษตรพันธสัญญากันอย่างครึกโครมและมโหฬารมาก การทบทวนบทบาทและจรรยาบรรณของสื่อว่า ควรวางตัวอย่างไรก็เป็นสิ่งสำคัญ"
ขณะที่ดร.อดิศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งของปัญหาเกี่ยวกับเกษตรพันธสัญญามาจากการที่ไม่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องมีความรอบคอบ ดูละเอียดตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มเซ็นสัญญา
"หากไม่มีประสบการณ์เกษตรกรควรเรียนรู้ที่ละขั้น ไม่ใช่มุ่งหวังกำไรแล้วไปร่วมลงทุนอย่างง่ายๆ ซึ่งกลุ่มที่ติดภาระผูกพันมากๆ มักจะเป็นกลุ่มที่ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่ว่า ผมเห็นด้วยกับระบบเกษตรพันธสัญญาทั้งหมด ผมก็คิดว่าควรแก้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประสบปัญหา หรือเสียประโยชน์ควรรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง แล้วออกมาร้องเรียนกับบริษัทดังกล่าวต่อสาธารณชน"
ทั้งนี้ ในเวที ตัวแทนผู้เลี้ยงไก่ไข่ในระบบพันธสัญญา ยังมีข้อเสนอให้มีการตั้งองค์กรใดองค์กรหนึ่งขึ้นมาดูแลสัญญาให้เกษตรกร ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม เพื่อขจัดความไม่เป็นธรรม การจัดการความเสี่ยง และเพื่อให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรอง รวมถึงมีการใหข้อมูลต้นทุนการผลิตที่แท้จริงให้แก่เกษตรกรด้วย