จับสลากลงใต้-เมาไวน์-เข้าใจผิด...สามข่าวไม่ค่อยดีรับปีใหม่
ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา หากมองจากสายตาคนนอกพื้นที่ต้องบอกว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างดี เกิดเหตุรุนแรงขึ้นไม่ถี่มากนัก มีเหตุร้ายใหญ่ๆ ที่มีความสูญเสียนับแล้วไม่กี่เหตุการณ์ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ความรู้สึกของคนในพื้นที่เองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
โดยเฉพาะความชาชินกับความรุนแรง และมองไม่เห็นทางสว่างของการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เกือบจะทุกเมื่อเชื่อวัน จุดนี้เป็นเรื่องอันตราย
สิ่งที่ผมค่อนข้างเป็นห่วงและเฝ้าสังเกตอยู่อย่างใกล้ชิด ก็คือสัญญาณจากรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหา ซึ่งดูไม่ดีเอาเสียเลย โดยผมจะขออธิบายผ่านข่าว 3 ชิ้นเกี่ยวกับชายแดนใต้ที่ฮือฮาพอสมควรในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
1.ข่าวพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) บางส่วนออกมาโวยวิธีการจับสลากลงใต้ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ข่าวนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนปีใหม่ เล่นเอาวุ่นวายกันไปพักหนึ่ง แม้สุดท้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะ "แก้ปัญหา" และ "แก้หน้า" ไปได้ระดับหนึ่ง ด้วยการเดินหน้าเปิดจับสลาก และปรากฏว่าหลายหน่วยหลายกองบัญชาการมีคนสมัครมากกว่าจำนวนที่ต้องการ ทำให้ต้อง "จับสลากออก" แต่ประเด็นที่มีตำรวจบางนายแสดงความรู้สึก "ไม่อยากลงใต้" เพราะเป็นพื้นที่อันตรายร้ายแรง ก็ทำให้มีปัญหาทางความรู้สึกตามมาไม่น้อยเหมือนกัน
จริงๆ เรื่องแบบนี้ในปีก่อนๆ ก็เคยเกิดขึ้น แต่ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่ามีคนสมัครใจจำนวนหนึ่ง ซึ่งนอกจากเหตุผลเรื่องอุดมการณ์การทำงาน ความท้าทายในอาชีพ และความรับผิดชอบต่อประเทศชาติแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่อง "สิทธิพิเศษ" และ "วันทวีคูณ" ก็เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะเป็นตัวหนุนเสริมให้เกิดความก้าวหน้าในชีวิตราชการ แม้สิทธิพิเศษเหล่านั้นไม่มีทางคุ้มค่าหากพลาดพลั้งเอาชีวิตไปทิ้งที่ชายแดนใต้
และแน่นอนว่าก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งไม่อยากไป อาจจะด้วยภาระครอบครัว หรือความหวาดกลัวอันตราย แต่อย่างที่ผมบอกก็คือปีก่อนๆ ไม่มีปัญหา เพราะมีคนสมัครใจจำนวนมากพอ และคนที่สมัครใจ แม้จะได้รับ "สิทธิพิเศษ" อยู่แล้ว ยังได้ "เงินลงขัน" จากพี่พ้องน้องเพื่อนอีกจำนวนไม่น้อยด้วย บางกองบัญชาการอยู่ในหลักหลายแสนบาท บางหน่วยในระดับปฏิบัติการล่างๆ มีการ "ว่าจ้าง" ให้เพื่อนไปแทนด้วยตัวเลขที่สูงพอสมควร
แต่ปีนี้ปัญหาเกิดเพราะตำแหน่งที่ต้องการคือ "พนักงานสอบสวน" จำนวน 150 นาย ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ขาดแคลนอย่างหนัก "พนักงานสอบสวน" เป็นสายงานที่มีตำรวจเลือกไปทำน้อยอยู่แล้ว หมายถึงในภาพรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ขาดแคลน เพราะเป็นสายงานที่ค่อนข้างห่างไกลจากผลประโยชน์นอกระบบ แถมงานหนัก ต้องเผชิญหน้ากับผู้ต้องหา-จำเลย ต้องขึ้นศาล และต้องใช้ความรู้ความชำนาญด้านกฎหมายระดับสูง
เมื่อต้องการ "พนักงานสอบสวน" มากถึง 150 นายจึงทำให้เกิดปัญหา และต้องมีรายการ "จับสลาก" กันเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ไม่ควรเกิดคือการมีตำรวจบางนายออกมาโวยวายทำนองว่าไม่อยากลงใต้ ซึ่งเรื่องนี้ควรทำให้เป็น "ปัญหาภายใน" ไม่ใช่ออกมาโวยวายข้างนอก เพราะต้องคิดด้วยว่าความรู้สึกของตัวเองนั้นมันไปทำลายขวัญกำลังใจของคนอื่นๆ ด้วยหรือไม่ เช่น คนอาชีพเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่อยู่ในปัจจุบันจำนวนหลายหมื่นนาย หรือประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ เขาอยู่กันมาได้อย่างไรกับความรุนแรงรายวันที่เขาต้องเผชิญ
ตลอดมาชาวบ้านก็วังเวงมากพออยู่แล้ว คำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนยิ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกวังเวงหนักขึ้นไปอีก...
ยังดีที่ปัญหานี้จบลงอย่างรวดเร็ว และเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา ศชต.ก็ได้จัดปฐมนิเทศพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการและชำนาญการพิเศษ (สบ 2-3) ที่ต้องลงไปปฏิบัติหน้าที่ชายแดนใต้จำนวน 148 นายเรียบร้อย ขณะที่ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ก็มีการจับสลากเพื่อเลือกตำแหน่งและโรงพักให้กับพนักงานสอบสวน แต่การจับคราวนี้เพื่อประโยชน์เรื่องความเป็นธรรม และป้องกันการครหาเรื่องเล่นพรรคเล่นพวก
ประเด็นที่หลายฝ่ายยังไม่ได้พูดกัน และน่าจะสำคัญกว่าการ "จับสลาก" หรือ "สมัครใจ" ลงใต้หรือไม่ ก็คือการจัดระบบงานสอบสวนของตำรวจและหน่วยข้างเคียงให้สามารถรับมือกับสถานการณ์จริงในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะต้องยอมรับว่าการดำเนินคดีความมั่นคงซึ่งมีลักษณะและแรงจูงใจพิเศษดังที่เกิดขึ้นที่ชายแดนใต้ ยังมีปัญหามากทีเดียว
เพราะมันไม่ใช่คดีอาญาปกติที่เกิดขึ้นจากแรงจูงใจส่วนบุคคลเรื่องความแค้น ความขัดแย้ง หรือขัดผลประโยชน์ แต่เป็นแรงจูงใจทางการเมือง ความต้องการแบ่งแยกดินแดน และความอยุติธรรมกดทับต่างๆ
พลิกดูสถิติคดีความมั่นคงตลอด 9 ปีไฟใต้ ศชต.ระบุว่ามีทั้งสิ้น 8,778 คดี (จากจำนวนคดีอาญาทั้งหมด 109,043 คดี) แต่เป็นคดีที่รู้ตัวผู้กระทำเพียง 2,079 คดี หรือ 23.68% เป็นคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำมากถึง 6,699 คดี หรือ 76.32% และจับกุมผู้ต้องหาได้เพียง 1,472 คดีเท่านั้น
ส่วนคดีความมั่นคงที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วก็มีเพียง 501 คดี ลงโทษแค่ 197 คดี หรือ 39.32% ยกฟ้องถึง 304 คดี หรือ 60.68%
ผมว่าโจทย์ข้อใหญ่ที่รัฐบาลต้องนำไปขบคิดก็คือจะแก้ปัญหาระบบงานสอบสวนและกระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้อย่างไรมากกว่า มีความจำเป็นต้องปัดฝุ่นแนวคิดตั้ง "กรมสอบสวนคดีความมั่นคง" ขึ้นมาหรือไม่ ที่กระทรวงยุติธรรมเคยเสนอให้เป็น "กรมเฉพาะกิจ" มีห้วงเวลาทำงานที่แน่นอน อาจจะสัก 10 ปี เพื่อระดมพนักงานสอบสวนเก่งๆ จากทั้งในและนอกวงการตำรวจไปร่วมกันทำงาน สร้างระบบและฐานข้อมูลเพื่อเอาชนะขบวนการก่อความไม่สงบและอาชญากรรมรูปแบบพิเศษดังกล่าว
2.ข่าว ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ดื่มไวน์จนมีอาการคล้ายมึนเมาระหว่างเดินทางเยือนมาเลเซีย 8-10 ม.ค.
การดื่มไวน์นอกเวลางานตามที่เจ้าตัวอ้างเป็นเหตุผล แม้ไม่ผิดกฎหมาย ยื่นถอดถอนไม่ได้ แต่ในบางมุมต้องพิจารณาเรื่องมารยาทและการแสดงความจริงใจประกอบด้วย
สมมติใครก็ตามจะลงพื้นที่ไปแก้ปัญหาภาคใต้ซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และเขาไม่แตะเครื่องดองของเมา แต่คุณกลับไปดื่มไวน์เมาเหล้า คิดง่ายๆ แค่นี้ก็ผิดแล้ว ยิ่งถ้าคนทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ก็จะยิ่งกลายเป็นเงื่อนไขของการไม่ยอมรับ ไม่ยอมให้ความร่วมมือจาก "กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ" รวมทั้งถูกสร้างเงื่อนไขว่า "รัฐไทยไม่จริงใจ" ไม่มีที่สิ้นสุด
งานนี้ถือว่าเสียหายพอสมควร ผมทราบจากผู้สื่อข่าวที่ติดตามไปทำข่าวว่า แม้แต่สันติบาลมาเลย์ยังส่ายหัว มิพักต้องไปติดตามว่าผลการเยือนได้ประโยชน์กับประเทศชาติและการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้แค่ไหน อย่างไร
ลองไปพลิกดูข้อตกลง 5 ด้านที่ไปลงนามกับรัฐมนตรีมหาดไทยมาเลย์ พบว่าเป็นข้อตกลงธรรมดาๆ และไม่มีรายละเอียดลงลึกเรื่องการปฏิบัติ ได้แก่ การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ความร่วมมือในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนนักโทษระหว่างประเทศ การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติเฉพาะกรณี เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และ ความร่วมมือว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามแดนของสองประเทศ
ที่สำคัญไม่ได้พูดถึง "บันทึกความตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านชายแดน" ซึ่งทำกันไว้ตั้งแต่สมัยร่วมกันปราบโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) และฝ่ายทหารของไทยกำลังขอแก้ไขครั้งใหญ่เพื่อให้ครอบคลุมปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็น "หัวใจ" ของความร่วมมือที่ไทยรอความจริงใจจากมาเลย์มากกว่า เหมือนสมัยที่ไทยเคยช่วยมาเลย์ปราบ จคม.เมื่อ 40-50 ปีก่อน
ส่วนที่บอกว่าผู้นำมาเลย์รับปากช่วยไทย และสนับสนุนกระบวนการ "พูดคุยสันติภาพ" นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผู้นำมาเลย์ก็พูดกับไทยทุกรัฐบาล ปัญหาอยู่ที่ไทยเองต่างหากที่เมื่อไหร่จะเริ่มดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและมีแผนยุทธศาสตร์จริงๆ เสียที
อีกเรื่องที่ได้ยินว่าท่าทีของท่านรองนายกฯ อาจก่อปัญหาตามมา ก็คือการไปพูดกับตัวแทนชมรมต้มยำกุ้ง หรือผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในมาเลเซียทำนองว่า "อยากให้ทุกคนที่มีเพื่อนหรือญาติที่มีแนวคิดต่างจากรัฐ บอกให้คนเหล่านั้นเข้าไปมอบตัว" ซึ่งมันอาจตีความได้ว่า คนระดับรัฐมนตรีคุมงานด้านความมั่นคงของไทยยังมอง "ชมรมต้มยำกุ้ง" เกี่ยวโยงกับปัญหาความไม่สงบอยู่ ทั้งๆ ที่การพบปะในเวทีก่อนหน้านี้ในการเยือนคราวเดียวกัน ท่านรองนายกฯก็พูดในทำนองจะช่วยเหลือเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆ ตามแนวทางที่ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ดำเนินการเอาไว้
ทราบว่า "สาร" ที่ส่งจากรองนายกฯเฉลิม สร้างปัญหาทางความรู้สึกพอสมควร แม้ภายหลังเข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จะออกมาตีปี๊บทำนองว่าได้ขอให้ผู้นำมาเลย์ช่วยดูแลลดราคาค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน (เวิร์ค เพอร์มิต) ให้กับกลุ่มเด็กเสิร์ฟและแรงงานร้านต้มยำก็ตาม
สรุปก็คือการเดินทางเยือนมาเลย์เที่ยวนี้ ผู้สังเกตการณ์หลายรายประเมินว่า "เสียมากกว่าได้" และยังตั้งข้อสังเกตเชิงประหลาดใจว่า ร.ต.อ.เฉลิม ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ "ผอ.ศปก.กปต." ของรัฐบาล เคยนั่งประชุมที่กรุงเทพฯก็แล้ว ไปถึงมาเลย์ก็แล้ว และยังประกาศว่าจะไปอินโดนีเซียหลังจากนี้ แต่ยังไม่มีแผนเดินทางลงพื้นที่ที่เกิดปัญหาจริงๆ อย่างชายแดนใต้แต่ประการใด
3.ข่าวท่านรองนายกฯเตรียมไปพบ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกฯมาเลย์ เยือนอินโดฯ และจังหวัดอื่นมีสถิติคดีอาชญากรรมมากกว่าชายแดนใต้
ข่าวที่ 3 นี้ต่อเนื่องจากข่าวที่ 2 ซึ่งผมมองว่าเป็นความเข้าใจผิดเรื่องข้อมูล และสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบปัญหาภาคใต้บ่อยๆ ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ซ้ำยังทำให้ไทยต้อง "นับหนึ่งใหม่" ตลอดระยะเวลา 9 ปี
หากได้ศึกษารายงานของ "ปาตานี ฟอรั่ม" ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเชิงองค์ความรู้ชายแดนใต้ จะพบว่าเขาได้รวบรวมการ "พบปะ-พูดคุย-เจรจา" ที่รัฐบาลไทยตั้งแต่ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นมาได้ดำเนินการเอาไว้ แต่ก็ล้มเหลวล้มละลายมาโดยตลอด ที่สำคัญในรัฐบาลก่อนๆ ได้ไปพบคนเหล่านี้มาหมดแล้ว แต่ที่ไม่คืบหน้าเพราะฝ่ายการเมืองบ้าง ฝ่ายความมั่นคงบ้าง (ของเราเอง) ไม่ยอมรับการพูดคุยเจรจา และไม่ยอมรับข้อเสนอที่เพื่อนบ้าน "อุตส่าห์" ช่วยกันทำแล้วเสนอกลับมายังรัฐบาล
โดยเฉพาะ "กระบวนการสันติภาพลังกาวี" ที่ ดร.มหาธีร์ เคยออกหน้าช่วยไทยนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ พี่ชายแท้ๆ ของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน บรรลุความตกลงถึงขั้นลงนามกันไปแล้ว แม้จะไม่ได้ถูกฝาถูกตัวทั้งหมด แต่ถ้าเดินหน้าต่อก็น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย มีการนำ "ข้อตกลงสันติภาพ" มาส่งมอบกันถึงโรงแรมหรูกลางกรุงเทพฯ แต่รัฐบาลสมัยนั้นรับเงื่อนไขไปแล้วกลับเงียบเฉย
คำถามก็คือในเมื่อตอนนั้นท่านละเลย แล้วตอนนี้จะไปขอให้เขาทำอะไรอีก?
(ลองไปถามผู้เกี่ยวข้องโดยตรงบางท่านดูก็ได้ เช่น พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล อดีตรองปลัดกลาโหม ซึ่งร่วมอยู่ในกระบวนการสันติภาพลังกาวีอย่างใกล้ชิด ว่าท่านเสียดายและรู้สึกเสียโอกาสมากขนาดไหน หรือไม่ก็ พล.อ.ขวัญชาติ กล้าหาญ อดีตแม่ทัพภาค 4 ที่เคยไปปรากฏตัว "พูดคุย" กับแกนนำหลายกลุ่มที่อินโดนีเซีย แต่สุดท้ายฝ่ายความมั่นคงไทยกลับปฏิเสธที่จะให้การรับรอง)
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาการพูดคุยเจรจาที่มันไม่คืบหน้า สาเหตุหลักๆ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเพื่อนบ้านไม่ช่วยไทย แต่ปัญหาอยู่ที่ท่าทีของไทยเองต่างหากที่ไม่เคยคุยกันให้ตกผลึกว่าจะเอากันอย่างไร จะเริ่มพูดคุยกันหรือไม่ จะคุยกับใคร และส่งใครไปคุย ที่สำคัญฝ่ายการเมืองต้องมี "เจตจำนง" ชัดเจน หรือที่เขาเรียก political will ว่าต้องการพูดคุย แล้วมอบอำนาจให้คณะบุคคลไปคุยอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ไม่ใช่ทำกันเรื่อยเปื่อยสะเปะสะปะ แวะกินไวน์ กินเหล้าขาวไปเรื่อยแบบไทยๆ
อีกเรื่องที่ท่านรองนายกฯพูดทำนองว่า สถิติคดีอาชญากรรมในจังหวัดชายแดนใต้ต่ำกว่าจังหวัดอื่นๆ อีกหลายจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช ซึ่งโดยนัยหมายความว่าสถานการณ์ไฟใต้ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดนั้น อยากบอกว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะมันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เหตุรุนแรงที่ชายแดนใต้ไม่ใช่อาชญากรรมธรรมดา เป็นอาชญากรรมที่ไม่มีแรงจูงใจในทางส่วนตัว แต่เป็นแรงจูงใจทางการเมือง ความต้องการแบ่งแยกดินแดน หรือความอยุติธรรมกดทับ ดังที่ผมอธิบายไว้ในข้อ 1
ที่สำคัญคดีอาชญากรรมในบางจังหวัด อย่างกรุงเทพฯ ผมก็คิดว่าสูงกว่าชายแดนใต้ แต่มันไม่มีการลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ มอเตอร์ไซค์บอมบ์ ยิงครู ฆ่าเจ้าหน้าที่โดยไม่ได้มีความแค้นส่วนตัว ฉะนั้นจะไปนับแค่ตัวเลขแล้วบอกว่าสถานการณ์ดีมันคงไม่ได้ ถ้าพื้นที่นี้เหมือนจังหวัดอื่นๆ คงไม่ต้องจับสลากให้พนักงานสอบสวนลงใต้มิใช่หรือ?
ทั้งหมดนี้คือ 3 ข่าวไม่ค่อยดีรับปีใหม่ และยังทำให้เห็นว่าหนทางดับไฟใต้ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ขณะประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และข้าราชการฝ่ายต่างๆ ระหว่างการเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8-10 ม.ค.2556 (ภาพโดย นาซือเราะ เจะฮะ)