“บริษัทลับ”บนเกาะสวรรค์ของกลุ่มทุนมาลีนนท์
มีความเห็นว่าบริษัท ทีวีบี(โอเวอร์ซีส์) จำกัดซึ่งจดทะเบียนตั้งอยู่ในอาคารธนาคารแห่งเบอร์มิวด้า ฟร้อนท์ สตีท แฮลมิลตัน ประเทศเบอร์มิวด้า (ต่อมาแจ้งว่าตั้งอยู่ในอาคาร เซด้าร์เฮ้าส์ 41 เซดาร์ อเสนิว แฮลมินตัน เอชเอ็ม 12 ประเทศเบอร์มิวด้า) ตามข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews .org ตีแผ่ก่อนหน้านี้เป็นบริษัทที่จดทะเบียนขึ้น (อย่างลับๆ?)ของคนตระกูลมาลีนนท์
คล้ายกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จัดตั้งบริษัท วินมาร์ค ลิมิเต็ด ซึ่งมีที่อยู่เพียงตู้ไปรษณีย์ พี.โอ.3151 โรดทาวน์ ทอร์โตรา ตั้งอยู่ในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน
ถามว่าเหตุใดถึงเชื่อเช่นนั้น?
ก็เพราะพิจารณาจากข้อมูลอย่างน้อย 2 ประการ
ประการแรก บริษัท ทีวีบี ทรี เน็ตเวิร์ค จำกัด ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2539 โดยนายประชา มาลีนนท์ เป็นผู้ริเริ่มก่อการผู้จดทะเบียน และนายปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย ทนายความ
ประการที่สอง บริษัท ทีวีบี ทรี เน็ตเวิร์ค จำกัด มีการประชุมจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2539 เวลา 9.30 นาฬิกา ณ เลขที่ 1126/2 อาคารวานิช ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โดยนายประชา มาลีนนท์ เป็นประธานที่ประชุม มีผู้ถือหุ้น จำนวน 9 ราย
1.นายประสาร มาลีนนท์ 1 หุ้น
2.นายประวิทย์ มาลีนนท์ 1 หุ้น
3.นายประชา มาลีนนท์ 1 หุ้น
4.นายประชุม มาลีนนท์ 1 หุ้น
5.นางสาวรัตนา มาลีนนท์ 1 หุ้น
6.นางสาวอัมพรมาลีนนท์ 1 หุ้น
7.นางรัชนี นิพัทธกุศล 1 หุ้น
8. บริษัท บีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ดิสทริบิวชั่น จำกัด 599,993 หุ้น (60%ของทุนจดทะเบียน)
9.บริษัท ทีวีบี (โอเวอร์ซีส์) จำกัด 400,000 หุ้น (40%ของทุนจดทะเบียน)
บริษัท บีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ดิสทริบิวชั่น จำกัด เป็นบริษัทลูกของ บมจ.บีอีซีเวิลด์ (บมจ.บีอีซีเวิลด์ ถือหุ้น 100%) จดทะเบียนวันที่ 11 กันยายน 2538 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท ประกอบธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ นายประสาร มาลีนนท์ นายประวิทย์ มาลีนนท์ นายประชุม มาลีนนท์ นางสาวรัตนา มาลีนนท์ นางสาวอัมพร มาลีนนท์ เป็นกรรมการ
น่าสังเกตว่า จู่ๆ บริษัท ทีวีบี (โอเวอร์ซีส์) จำกัด ก็เข้ามาถือหุ้นพร้อมๆกับคนตระกูลมาลีนนท์ในวันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมา หาก บริษัท ทีวีบี(โอเวอร์ซีส์) จำกัด เป็นของนายประชา มาลีนนท์ (ไม่ว่านายประชาหรือของภรรยา) แปลกหรือจะผิดอะไร?
ลองไปพลิกบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายประชาตอนรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์วันที่ 14 มีนาคม 2548 (คณะรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 2) นายประชาแจ้งว่ามีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 413,374,099.77 บาท หนี้สินรวม 29,291,542.31 บาท และมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 384,082,57.46 บาท ในจำนวนนี้เป็น “เงินลงทุน” ประเภทหลักทรัพย์และเงินลงทุนอื่น 21 แห่ง รวมทั้งสิ้น 148,682,070.00 บาท
กรณีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วันที่ 3 สิงหาคม 2548 ระบุมีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 413,398,850.09 บาท หนี้สินรวม 27,468,660.90 บาท และมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 385,930,189.19 บาท ขณะที่เงินลงทุนประเภทหลักทรัพย์และเงินลงทุนอื่นทั้ง 21 แห่ง เท่าเดิม 148,682,070.00 บาท
กรณีพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาครบ 1 ปี วันที่ 19 กันยายน 2550 ระบุมีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 623,983,743.77 บาท หนี้สินรวม 3,722,094.55 บาท และมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 620,261,649.22 บาท ส่วนเงินลงทุนประเภทหลักทรัพย์และเงินลงทุนอื่นทั้ง 21 แห่ง ยังเท่าเดิมคือ 148,682,070 บาท
เห็นได้ว่าทั้ง 3 ครั้ง (ไม่รวมตอนเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ครม.ทักษิณ 1) ไม่มีเงินลงทุนบริษัท ทีวีบี(โอเวอร์ซีส์) จำกัด ในรายการทรัพย์สินของนายประชา และนางแพตตรีเซียแมรี่ ภรรยา ในบัญชีทรัพย์สินแต่อย่างใด
แสดงให้เห็นว่ามีการปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินมาโดยตลอดหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม นายประชาพ้นจากดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี (ยื่นบัญชีฯครั้งสุดท้ายวันที่ 19 กันยายน 2550) จึงอาจไม่มีความจำเป็นที่จะมีการตรวจสอบเอาผิดในการซุกหุ้นเบอร์มิวด้า เพราะถ้ามีความผิดโทษ เว้นวรรค 5 ปีนับจากการยื่นบัญชีฯครั้งสุดท้ายก็ต้องถือว่าขาดอายุความไปแล้ว กระนั้นทำให้เห็นเหรียญอีกด้านในการทำธุรกิจของกลุ่มทุนใหญ่นี้
ประการต่อมาถ้าถามว่าเบื้องหลังการจัดตั้งบริษัทบนเกาะสวรรค์เบอร์มิวด้าเพื่อวัตถุประสงค์ใด?(ในกรณีเป็นเจ้าของ)
ขอยก 2 กรณีมาเปรียบเทียบ
กรณีแรกบริษัท วินมาร์ค ลิมิเต็ด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จัดตั้ง บริษัท วินมาร์ค ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทกระดาษขึ้นมาเพื่อมีวัตถุประสงค์ในการหลบการเสียภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปโดยทำนิติกรรมว่ามีการขายหุ้นไปให้บุตรชายผ่านบริษัท วินมาร์ค ซึ่งแท้ที่จริงเป็นการอำพรางเท่านั้น
กรณีที่สองนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน ซื้อกิจการน้ำมันเอ็มพีของกลุ่มนายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งมีหลักฐานชัดจนว่ามีการโอนหุ้นผ่านบริษัท วิคแฟร์ จำกัดซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งเป็นตู้ไปรษณีย์ 957 โรดทาวน์ ทอร์โตรา บริติชเวอร์
แต่กรณีของบริษัท ทีวีบี(โอเวอร์ซีส์) จำกัด จนถึงขณะนี้ยังไม่พบข้อมูลที่แน่ชัดว่ามีการซื้อขายโอนหุ้นกลุ่มบีอีซีเวิลด์หรือคนในตระกูลมาลีนนท์ผ่านบริษัทดังกล่าวไปที่เกาะเบอร์มิวด้า
เพราะฉะนั้นพฤติกรรมจึงยังไม่เหมือน พ.ต.ท.ทักษิณ นายสุริยาและนายวัฒนาเสียทีเดียว
แต่ถ้าถามว่า การมีบริษัทลับบนเกาะสวรรค์ มีประโยชน์ในการ“ทำธุรกรรม”ทางการเงินนอกประเทศหรือไม่? โดยเฉพาะนายประชากำลังเข้าสู่ธุรกิจพลังงานและคนใกล้ชิดนายประชาร่วมหุ้นกับทุนน้ำมันที่จดทะเบียนจัดตั้งบนเกาะเบอร์มิวด้าเช่นกัน
คงไม่ยากที่ใครสักคนจะอธิบาย
กระนั้นมีข้อคิดอย่างหนึ่งก็คือหากดำเนินธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา กำไรที่งอกเงยหลายพันล้านในแต่ละปีลดลงบ้าง คงไม่พังครืนในพริบตา?
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ สำนักงาน ป.ป.ช.