ปีใหม่อิสลามกับสากลต่างกันตรงไหน
ก่อนจะผ่านช่วงเวลาแห่งเทศกาลปีใหม่ในแบบฉบับสากล อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา เขียนบทความดีๆ และให้ความรู้เกี่ยวกับข้อแตกต่างระหว่าง "ปีใหม่อิสลาม" กับ "ปีใหม่สากล"
เป็นที่ทราบกันดีว่าคนไทยมีการแบ่งช่วงเวลาและนับศักราชโดยใช้พื้นฐานจากความเชื่อตามแนวพุทธศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ และเบื้องหลังด้านรูปแบบการปกครอง ได้แก่
1) พ.ศ.หรือ พุทธศักราช เป็นการนับศักราชแบบตะวันออกที่นับถือพระพุทธศาสนา โดยเริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน เป็น พ.ศ.1
2) จ.ศ.หรือ จุลศักราช หรือ ศักราชน้อย เป็นศักราชที่ไทยใช้กันก่อนใช้รัตนโกสินทร์ศักราช เริ่มภายหลังพุทธศักราช 1,181 ปี แต่ภายหลังค่อยๆ ลดความนิยมลงไป
3) ร.ศ.หรือ รัตนโกสินทร์ศก เริ่มใช้ตั้งแต่ปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใน พ.ศ.2325
ส่วนการแบ่งช่วงเวลาสากลที่นิยมใช้ทั่วโลกนั้น จะแบ่งเป็น ค.ศ.หรือ คริสต์ศักราช เป็นการนับตามแบบตะวันตกหรือประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์ โดยเริ่มนับจากปีประสูติของพระเยซูคริสต์ ปีปัจจุบันคือ ค.ศ.2013
ในขณะที่ ฮ.ศ.หรือ ฮิจเราะห์ศักราช นั้น นิยมใช้ในประเทศแถบตะวันออกกลางที่นับถือศาสนาอิสลามและชุมชนมุสลิม รวมทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยนับตั้งแต่ปีที่ ศาสดามุฮัมมัด อพยพจากเมืองมักกะห์ไปเมืองมะดินะห์ประเทศซาอุดิอาระเบีย นับเป็นปี ฮ.ศ.1 ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 610 หรือราว พ.ศ.1153
สำหรับในปีนี้ วันปีใหม่ที่คนไทยทราบกันดีคือวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นปีใหม่สากล ส่วนปีใหม่ฮิจเราะห์ศักราชของอิสลาม หรือวันที่ 1 เดือน มุฮัรรอม ฮ.ศ.1434 ห่างกันหนึ่งเดือนครึ่ง คือตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2555
ปี ค.ศ.กับปี พ.ศ.นั้นคิดตามการหมุนเวียนของดวงอาทิตย์ ในขณะที่ปี ฮ.ศ.คิดตามดวงจันทร์ ซึ่งในคัมภีร์อัลกุรอานมีการกล่าวถึงดวงอาทิตย์ 33 ครั้ง มีการกล่าวถึงดวงจันทร์ 27 ครั้ง รวมกันได้ 60 ครั้ง คิดเป็นค่าเฉลี่ยเท่ากับ 30 ครั้ง
ในอัลกุรอานมีการกล่าวถึงคำว่า ซะห์รุ (Shahr) ที่แปลว่า เดือน 12 ครั้ง ซึ่งก็รวมทั้งที่เราได้อ่านกันบ่อยๆ ในเดือนรอมฏอน นั่นคือซูเราะห์ อัลกอดร์ ซึ่งมีอยู่ตอนหนึ่งความว่า (ลัยลาตุลกอดร์ มีความประเสริฐกว่า 1,000 เดือน) 12 เดือนเท่ากับ 1 ปี
ในทุกๆ ชนชาติและอารยธรรมใหญ่ๆ ในโลกนี้จะคิดรอบ 1 ปีด้วยระยะเวลา 12 เดือนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย ฯลฯ (โปรดดู http://www.hilalthailand.com/oursky/modules/news/article.php?storyid=19)
ความจริง "ฮิจเราะห์" เป็นคำภาษาอาหรับ ตามรากศัพท์แปลว่า การตัดขาด หรือ การเคลื่อนย้าย แต่เมื่อพิจารณาความหมายในทางวิชาการแล้วจะหมายถึง : การละทิ้งสิ่งที่พระเจ้าทรงห้าม หรือการโยกย้ายจากสถานที่ที่น่าสะพรึงกลัวไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย หรือการอพยพจากสถานที่อันไม่สามารถแสดงตนเป็นมุสลิมไปสู่อาณาจักรอิสลาม
สำหรับวิถีวัฒนธรรมของมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีตหลายชุมชน ผู้เฒ่าผู้แก่จะอ่านบทขอพรเป็นการส่วนตัวหรือหมู่คณะในมัสยิดของชุมชนเพื่อขอภัยโทษในอดีตที่ผ่านมา และขอความเป็นสิริมงคลในปีถัดไป ถึงแม้หลายชุมชนหรือหลายคนจะไม่ปฏิบัติเพราะถือว่าท่านศาสนทูตมุฮัมหมัด ไม่เคยทำเป็นแบบอย่างก็ตาม
ขณะที่ในช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้ พบว่าโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นศูนย์อบรมประจำมัสยิด (ตาดีกา) โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา จะมีกิจกรรมรำลึกปีฮิจเราะห์ศักราชใหม่อย่างเอิกเกริก มีกิจกรรมมากมายในงาน ไม่ว่าจะเป็นการเดินพาเหรดเชิงสร้างสรรค์ การประกวดกิจกรรมบนเวที กีฬาต่างๆ ทั้งพื้นบ้านและสากล รวมทั้งการบรรยายธรรมเรื่องคุณค่าและบทเรียนฮิจเราะห์ศักราชใหม่
สำหรับหลักการที่เกี่ยวข้องกับการฮิจเราะห์สามารถทำความเข้าใจได้ดังนี้ (โปรดดู วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ .การฮิจเราะห์ในประชาไทออนไลน์ 8/9/2548)
1.ในยุคแรกของอิสลาม การฮิจเราะห์ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิญาณตนเข้ารับอิสลามทุกคน (การอพยพ เคลื่อนย้าย) จากเมืองมักกะห์ไปยังเมืองมาดีนะห์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ใประเทศซาอุดิอาระเบีย ทั้งนี้เพื่อสร้างประชาคมมุสลิมที่นครมาดีนะห์ให้เป็นมหานครแห่งสันติสุข เนื่องจากประชากรมุสลิมที่นั่นมีน้อย ยกเว้นคนอ่อนแอที่ขาดปัจจัย เช่น คนชรา เด็ก สตรี หรือทาส เป็นต้น
2.ภายหลังการบุกเบิกนครมักกะห์ในปีที่ 8 หลังการฮิจเราะห์ (ของศาสนทูตมุฮัมหมัด) บทบัญญัติเกี่ยวกับการฮิจเราะห์ก็เปลี่ยนไป เนื่องจากสถานการณ์ในมักกะห์เปลี่ยนไป กล่าวคือการปฏิบัติศาสนากิจใดๆ สามารถทำได้โดยอิสระเสรี การฮิจเราะห์จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป
ดังวัจนะของศาสนทูตมุฮัมหมัดที่บันทึกไว้โดยอิหม่ามบูคอรีย์และมุสลิมความว่า "ไม่มีการฮิจเราะห์อีกแล้ว หลังการบุกเบิกมักกะห์ แต่การณ์ทั้งหลายขึ้นอยู่กับการเจตนาและการต่อสู้"
3.โดยนัยยะนี้ อิหม่ามชาฟีอีย์ จึงระบุในตำรา "อัลอุม" ของท่านว่า "วัตรปฏิบัติแห่งบรมศาสดาบ่งชี้ว่า ข้อกำหนดให้ฮิจเราะห์สำหรับผู้ที่สามารถทำได้นั้น เป็นข้อบังคับเหนือผู้ที่ไม่สามารถดำรงตนเป็นมุสลิมอยู่ได้ในแผ่นดินที่ผู้นั้นอยู่อาศัย" (ส่วนผู้ที่สามารถดำรงตนเป็นมุสลิมได้อย่างเสรีก็ไม่จำเป็นต้องฮิจเราะห์)
เห็นได้จากที่บรมศาสนทูตอนุญาตให้ลุงของท่าน คือ อับบาส และคนอื่นๆ อีกหลายคนคงอยู่ในมักกะห์ต่อไป เพราะคนเหล่านี้เข้มแข็งพอที่จะรักษาความเป็นมุสลิมของเขาไว้ได้
ฮาฟิซ อิบนุ หะญัร กล่าวไว้ในตำรา "ฟัตหุล บารี" เล่มที่ 7หน้า 229 ว่า "โดยนัยนี้ผู้ที่สามารถเคารพสักการะบูชาอัลเลาะห์ได้ในแผ่นดินใดก็ตามที่เขาอยู่ เขาไม่จำเป็นต้องฮิจเราะห์ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จำเป็น"
ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2556 ถึงแม้ตามหลักการอิสลามแล้ว มุสลิมจะร่วมฉลองอย่างคนสากลไม่ได้ เพราะมีหลักเกณฑ์วิถีปฏิบัติตามศาสนบัญญัติห้ามไว้ แต่มิได้หมายความว่าจะอวยพรในวาระดีๆ ของคนอื่น วัฒนธรรมอื่นอันเป็นการแสดงน้ำใจที่ดีต่อต่างศาสนิกภายใต้จรรยาบรรณของอิสลามมิได้ ดั่งเช่นคำอวยพรของผู้นำศาสนาอิสลามอียิปต์ ศ.กร.อาลี ญุมอะห์ ต่อชาวคริสเตียนในอียิปต์ในวันคริสต์มาสปีนี้ (โปรดดูใน
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=577724435587120&set=a.567624673263763.147366.172793899413511&type=1&ref=nf)
ดังนั้นในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2556 และ ฮ.ศ.1434 นี้ หวังว่าทุกคนคงจะไม่ลืมทบทวนเรื่องราวในอดีตในปี 2555 /ฮ.ศ.1433 โดยเฉพาะเหตุการณ์ร้ายในจังหวัดชายแดนใต้ ขอให้เหตุร้ายต่างๆ จงอพยพจากเราไป และทดแทนด้วยความสุขและสมานฉันท์ คนที่เป็นคนผิดก็จงกลับใจเป็นคนดีสมกับเป้าหมายของการฮิจเราะห์
มุสลิมเองก็ควรยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติตามคำสั่งของพระเจ้า แนวทางศาสนทูตมูฮัมมัดและอัครสาวกของท่าน ดังที่อัลลอฮได้ตรัสไว้ความว่า "อัลลอฮมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ไม่ได้ต่อต้านเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขาและให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮทรงรักผู้มีความยุติธรรม" (ซูเราะฮอัลมุนตะฮินนะฮ: 8)
ล้อมกรอบ : การทำดีต่อชนต่างศาสนิก
ท่านศาสดาได้เป็นแบบอย่างของการทำความดีต่อชนต่างศาสนิก ดังรายงานจากอบูอุบัยด์ ในหนังสือ al-Amwal หน้า 613 (quoted in al-Qardhawi,1994 : 2/275 ว่า ท่านนบีเคยบริจาคทานแก่ญาติผู้ตายชาวยิวในขณะที่ท่านเดินผ่าน
อีกรายงานหนึ่ง โดย มุฮัมหมัด บิน อัลหะซัน กล่าวไว้ในหนังสือ Sart al- Sair เล่ม 1หน้า 144 quoted in al Qardhawi 1994 ,2/274) ว่า ท่านศาสดาเคยบริจาคทานแก่คนยากจนชาวมุชริกีนมักะฮ (ผู้บูชาเทวรูป)
ในสมัยอุมัรอิบนุค๊อฎฏ๊อบ กาหลิบ (คอลีฟะฮ) ที่ 2 ผู้ทรงธรรม เคยนำเงินจากองทุนบัยตุลมาล (คลังของรัฐ) แจกจ่ายให้แก่ผู้ขัดสน อนาถา ชาวคัมภีร์ (คริสต์และยิว) โดยท่านได้ยกโองการความว่า "แท้จริงซะกาตนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ยากจนและอนาถา" และท่านกล่าวเสริมว่านี่คือผู้ยากจน อนาถา ชาวคัมภีร์ (โปรดดูหนังสือ Figh al- Zakah : Qardhawi,1993 2/705-706 ) และเมื่อท่านอุมัร (ร่อฎียัลลอฮุอันฮ) ไปเยี่ยมราษฎรที่เมืองชาม (ซีเรียปัจจุบัน) ณ ที่นั่นท่านพบชาวคริสต์เผ่ามุจซูมีนซึ่งประสบความลำบาก ดังนั้น ท่านจึงใช้เจ้าหน้าที่กองคลัง บัยตุลมาล นำเงินกองทุนดังกล่าวจ่ายให้กับพวกเขา (al-Qardhawi,1994: 2/675)
ในสมัยอับดุลลอฮ อิบนุอุมัร (ตาบีอีน) ได้กำชับลูกของท่านให้บริจาคเนื้อกุรบานแก่เพื่อนชาวยิว (al-Qardhawi,1994: 676) อิหม่ามอิบนุฮัซมิ ปราชญ์นามอุโฆษได้กล่าวไว้ในหนังสือ al-Mahalli เล่ม 5 หน้า 117 (Quoted in al-Qardhaui,1994:676 ว่า "บรรดาศอหาบะฮ (สหายศาสดา) หลายต่อหลายท่านเคยเดินตามหลังศพสตรีชาวยิว" เป็นการแสดงความเสียใจแก่ญาติผู้เสียชีวิต ในขณะเดียวกันบรรดาตาบิอีน (สหายศอหาบะฮ) หลายท่านเช่นกันเคยจ่ายซะกาตฟิตร์ (ทานบังคับ) ให้แก่นักบวชชาวคริสต์เพราะเขาเหล่านั้น เช่น อักรอมะฮ อิบนุซีรีน และอัซซุฮรีย์ มีทัศนะว่า การจ่ายซะกาตแก่นักบวชชาวคริสต์เป็นสิทธิที่ทำได้ (al-Qardhawi,1994: 676)
ท่านอิหม่ามละฮาบุดดีน อัรก๊อรรอฟีย์ ปราชญผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งของโลกอิสลาม ได้อธิบายความหมายของคำว่า al-Bir การทำความดีอย่างน่าสนใจไว้ในหนังสือ al-Furuk เล่ม 3 หน้า 15 ( quoted in al - Qurdhawi,1994: 677) ระบุว่า การทำความดี หมายถึง การช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ การบริจาคทานแก่ผู้ยากจน การให้อาหารแก่ผู้ที่โหยหิว การให้เครื่องนุ่งห่มแก่ผู้ขัดสน การพูดจาไพเราะอ่อนโยน การให้ความเมตตา การปรึกษาหารือซึ่งกันและกันเพื่อขจัดความแตกต่างและขัดแย้ง การขอพรให้ผู้คนได้รับทางนำอันถูกต้องและประสบโชค การตักเตือนผู้ที่กระทำความผิด ไม่ว่าเกี่ยวกับการทำมาหากินหรือเกี่ยวกับศาสนา การรักษาความลับของผู้อื่น และอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นความดี
นี่คือหลักการของศาสนาอิสลามและแนวปฏิบัติของท่านศาสดากับบรรดากัลญาณชนมุสลิมในยุค 300 ปีแรกของอิสลาม ซึ่งถือเป็นยุคที่ดีที่สุดและศาสดาได้ทรงรับรองเอาไว้ว่าประชาชาติที่ดีที่สุดนั้นคือประชาชาติซึ่งมีชีวิตอยู่ในศตวรรษของฉัน แล้วบรรดาผู้ที่ต่อจากเขาเหล่านั้นและต่อจากเขาเหล่านั้นอีก (บันทึกโดย al- Bukhariใน Kitab Fadhail al-Sahabah ,Ba Fadhail Ashab al-Nabi หมายเลขหะดีษ3650, n.d. : 3/71)
และหากมุสลิมสามารถเป็นแบบอย่างต่อผู้อื่นได้ก่อน ผู้เขียนมีทัศนะว่าฮิจเราะห์ศักราชใหม่จะเป็นปีของการสร้างสมานฉันท์และสันติสุขได้อย่างแน่นอน...
ขอย้ำว่ามุสลิมที่ดีต้องเริ่มก่อน ดังที่ศาสนทูตได้เริ่มก่อนในสังคมที่เต็มไปด้วยความป่าเถื่อนและไร้อารยธรรม ก่อนที่ท่านจะฮิจเราะห์ (อพยพ) สู่เมืองมะดีนะห์
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักข่าวไทยมุสลิม http://www.thaimuslim.com/overview.php?c=2&id=20546