จับตา! แก้รธน. ขึ้นแท่นอันดับ 1 ความเสี่ยงทางการเมือง
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต เปิด 10 อันดับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมือง ม.ค.56 นักวิชาการลงความเห็น ปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง กระทบเสถียรภาพรัฐบาล ยิ่งกว่า ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
วันที่ 13 มกราคม ศูนย์ศึกษาเพื่อการต่อต้านการคอร์รัปชัน วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดแถลงข่าวเรื่อง “10อันดับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศไทยในปี 2556” โดย รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม รศ.ดร.สิตานนท์ เจษฎาพิพัฒน์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ดร.สัญญพงศ์ ลิ่มประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคม และ ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ ผู้อำนวยการหลักสูตร M.A.Leadeship ณ ห้องเธียร์เตอร์ 2201 ชั้น 22 ศูนย์ศึกษาวิภาวดี อาคาร TST ถนนวิภาวดีรังสิต โดยในเดือนมกราคม 2556 คณะนักวิชาการประเมินว่า มีประเด็นทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในขณะนี้อยู่ 10 ประเด็น
สำหรับการจัดอันดับความเสี่ยงนั้น เป็นการเรียงปัญหาที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ในจนถึงปัญหาที่มีความเสี่ยงน้อย จำนวน 10 อันดับ และใช้สี (Color) เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงระดับความรุนแรงของปัญหา หมายเลข 1 เป็น “สีเหลือง” หมายถึง น่าจับตามอง และหมายเลข 2 เป็น “สีเหลืองแก่” ความหมาย เริ่มมีความเสี่ยง หมายเลข 3 เป็น “สีส้ม” มีความหมาย มีความเสี่ยงมาก และหมายเลข 4 เป็น “สีแดง” หมายความว่า มีอันตราย
รศ.ดร.สังศิต กล่าวว่า การจัดอันดับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมือง ปี 2556 ได้รับความร่วมมือกันทางวิชาการระหว่างคณาจารย์ ซึ่งเป็นผู้เชียวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ จากหลายมหาวิทยาลัย โดย พบว่า ประเด็นความเสี่ยงทั้ง 10 ประเด็น ได้เกิดขึ้นแล้ว ในเวลานี้
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ถูกจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 ของความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศไทย เดือนมกราคม ปี 2556” คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าว และว่า แต่ละประเด็นมีโอกาสพัฒนาลุกลามกลายเป็นวิกฤตของประเทศได้ หรือเป็นความเสี่ยงที่กลายเป็นโอกาสของประเทศไทยได้ เช่น กรณีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท หากทุกฝ่ายร่วมมือกันปรับปรุงผลิตภาพทางด้านแรงงานให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ก็จะเป็นการพลิกโอกาสที่สำคัญของประเทศได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปี 2556 รายงานฉบับนี้ ยังพบว่า ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองอาจเป็นสาเหตุให้กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มากยิ่งกว่า ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เสียอีก โดย “ปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง” ที่สำคัญที่สุด 3 ประเด็น คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออกพระราชบัญญัติปรองดองเพื่อผู้กระทำผิดทางการเมือง และ การตัดสินของศาลโลก กรณีเขาพระวิหาร
3 ปัจจัยเสี่ยงด้านศก.
ขณะที่ประเด็นความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องจับตามองด้วยความระมัดระวัง นั้น คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม กล่าวว่า มีอยู่ 3 เรื่อง คือ ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวันทั่วประเทศ, ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และการออกพ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น เกือบร้อยละ 50 ของ GDP ที่สำคัญอาจเปิดช่องทางให้เกิดข่าวอื้อฉาวเรื่องการทุจริตในการประมูลขึ้นได้
รศ.ดร.สังศิต กล่าวถึงประเด็นความเสี่ยงจากการแทรกแซงองค์กรอิสระและหน่วยงานภาครัฐของนักการเมือง (อันดับ7) การใช้อำนาจรัฐแทรกแซงสื่อมวลชน (อันดับ 8) ผลกระทบหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) ของสหรัฐฯ (อันดับ9) และ ปัญหาหนี้สินของสหภาพยุโรป (อันดับ 10) แม้จะยังเสี่ยงน้อย แต่สถานการณ์เข้มข้นมากกว่า
“การแทรกแซงองค์กรอิสระและหน่วยงานภาครัฐของนักการเมือง เราพบว่า มีการใช้อำนาจรัฐแทรกแซงการทำหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม มีการใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายคนในหน่วยงานตรวจสอบ มีการจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานที่ตรวจสอบการทุจริต ค่อนข้างต่ำ หรือแม้แต่ในรัฐวิสาหกิจ ก็มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ว่าการ บอร์ด โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณธรรมความสามารถ หรือประโยชน์ขององค์กร รายสุดท้าย คือ การเปลี่ยนตัวผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ เนื่องจากฝ่ายการเมืองจะขอซื้อที่ดินของการเคหะ ซึ่งซื้อไว้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดยนักการเมืองขอซื้อราคาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งหากการเคหะขายให้ ก็จะทำให้ที่ดินตาบอดของนักการเมืองขายได้ราคาดี”
ชี้คอรัปชั่นล้มรัฐบาลไม่ง่าย
ทั้งนี้ รศ.ดร.สังศิต กล่าวว่า การประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมือง เดือนมกราคมนี้ ยังไม่มีสัญญาณความเสี่ยงที่เป็นสีแดง ถึงขั้นมีอันตราย และเดือนต่อๆ ไป ก็ตอบไม่ได้ว่า ความเสี่ยงต่างๆ นั้นจะออกมาเป็นสีแดงหรือไม่
“การประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมือง คณะนักวิชาการประเมินด้วยความเป็นธรรม ไม่เล่นการเมือง จึงถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างเป็นกลางเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้ตระหนักว่า สถานการณ์เป็นอย่างไร”
เมื่อถามถึงความเสี่ยงจากปัญหาคอร์รัปชั่น รศ.ดร.สังศิต กล่าวด้วยว่า ล้มรัฐบาลไม่ได้ง่าย ๆ เพราะกว่ากระบวนการยุติธรรมจะตัดสิน ต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี แต่ประเด็นคอร์รัปชั่น จะกลายเป็นประเด็น “อื้อฉาว” ที่ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล ซึ่งไม่เหมือนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้งของสังคมจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย นำสู่ความเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ชี้แพ้ชี้ชนะด้วยเวลาอันรวดเร็ว