ตะลึง! พบสารปรอทอื้อ ในปลา-เส้นผมคนรอบ โรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ปราจีน
กรมควบคุมมลพิษ รุดเก็บตัวอย่างน้ำ หลังนักวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศ เผยพบปรอทในปลา คนที่อาศัยรอบโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงผลิตเยื่อกระดาษ ชาวบ้านตบเท้าร้อง แก้ปัญหา
เมื่อเร็วๆ นี้ นางสาวจุฑามาศ ทรัพย์ประดิษฐ์ นักวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยถึงการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างปลาช่อนและเส้นผมของคนที่อาศัยใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตเยื่อกระดาษ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ที่พบสารปรอทปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารและร่างกายมนุษย์ โดยพบปลาทุกตัว (100%) มีปริมาณสารปรอทปนเปื้อนสูงเกินค่ามาตรฐานอาหาร กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้อาหารมีสารปรอทปนเปื้อนได้ไม่เกิน 0.02 ppm (ส่วนในล้านส่วน) แต่ปลาในคลองชลองแวง ซึ่งอยู่ใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตเยื่อกระดาษมีสารปรอทปนเปื้อนตั้งแต่ 0.067-0.22 ppm อีกนัยหนึ่ง ปลาในพื้นที่ท่าตูมปนเปื้อนสารปรอทเกินค่าที่ยอมรับได้ 3-11 เท่า
ขณะที่ผลการตรวจตัวอย่างเส้นผมของประชาชนที่บริโภคปลาและอาศัยภายในรัศมี 2 กิโลเมตรของพื้นที่อุตสาหกรรม พบว่า เส้นผมของทุกคน (100%) มีสารปรอทสะสมอยู่ในปริมาณที่เกินค่าปริมาณอ้างอิง 1.00 ppm ซึ่งเป็นปริมาณที่อาจก่ออันตรายต่อพัฒนาทางสมอง งานศึกษาครั้งนี้พบสารปรอทในเส้นผมของคนท่าตูมตั้งแต่ 1.628 – 12.758 ppm ร้อยละ 90 ของปรอทที่สะสมในร่างกายมนุษย์ คือ ปรอทอินทรีย์ชนิดเมทิลเมอร์คิวรี่ ซึ่งมีพิษสูง สะสมในร่างกายและสิ่งแวดล้อมได้ยาวนาน อีกทั้งยังถ่ายทอดได้จากแม่สู่ลูก
ทั้งนี้ รายงานการศึกษาพบว่า ช่องทางหนึ่งที่สารปรอทจะเข้าสู่ปลาและมนุษย์ในพื้นที่ศึกษา ต.ท่าตูม ได้แก่ เถ้าลอยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ฝุ่นถ่านหินจากลานเก็บถ่านหินแบบเปิด ขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้าที่นำมาปรับสภาพดินในแปลงยูคาลิบตัสในพื้นที่โดยรอบ และยังมีความเป็นไปได้ที่น้ำเสียปนเปื้อนสารปรอทจากโรงผลิตเยื่อกระดาษอาจรั่วซึมลงคลองสาธารณะ
นายสมบุญ พัชรไพบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต. ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากสารปรอท กล่าวว่า ตนอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูแลตรวจสอบมลพิษก่อนที่จะเข้าสู่ร่างกาย อย่าปล่อยให้โรงงานทำอะไรโดยพลการ ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนดูแลกันเอง มีแต่ร่างกายที่ใช้เป็นเครื่องพิสูจน์มลพิษ
อย่างไรก็ตาม มีรายงานด้วยว่า นายสมบุญ ได้เดินทางร่วมกับชาวบ้าน 60 คนที่เดือดร้อนจากมลพิษอุตสาหกรรมใน อ.ศรีมหาโพธิ อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมโหสถ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี และ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมเครือข่ายเพื่อนตะวันออก และวาระเปลี่ยนตะวันออก เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหามลพิษก่อนขยายพื้นที่อุตสาหกรรมในภาคตะวันออก โดยนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้าน ล่าสุด มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ปนเปื้อนแล้ว
ส่วยนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า “เราอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำผลการศึกษานี้ไปใช้แก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่ท่าตูมและพื้นที่อื่นๆ อย่าลืมว่าสัญญาณเตือนจากธรรมชาติ เมื่อเรารับฟัง เรื่องใหญ่จะกลายเป็นเรื่องเล็ก หากแก้ปัญหานี้ได้ ชุมชนก็จะไม่คัดค้านอุตสาหกรรม อย่าปล่อยให้ปัญหามันเรื้อรังเกินกว่าที่จะแก้ไข”
สำหรับงานศึกษาครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิบูรณะนิเวศและเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยางนานในสิ่งแวดล้อม (IPEN) โดยเก็บตัวอย่างปลาและเส้นผมกว่า 460 ตัวอย่างใน 29 ประเทศ เพื่อสำรวจแหล่งกำเนิดมลพิษสารปรอท ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตเยื่อกระดาษ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการเจรจาอนุสัญญาสารปรอท ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยจะเข้าร่วมประชุมที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสต์เซอร์แลนด์ วันที่ 13-18 มกราคมนี้
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง:"พื้นที่ปนเปื้อนสารปรอทของประเทศไทย แหล่งโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงผลิตเยื่อกระดาษ ตำบลท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี"