วิเคราะห์ตลาดพม่า “กสิกรไทย” หนุนนักธุรกิจเร่งลงทุน ชี้ “ทวาย” ต้องเกิด
ธนาคารกสิกรไทย แย้มช่วงนี้ตลาดพม่าเหมาะลงทุน ชวนธุรกิจอาหาร-บริการ รีบมา ก่อนโอกาสหมด ยันโครงการท่าเรือทวายควรเกิดขึ้น ด้านคนพม่าห่วงสูญทรัพยากรธรรมชาติ
นับตั้งแต่ประเทศพม่าเริ่มปฏิรูปประเทศ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน รวมทั้งเริ่มปรับปรุงกฎหมายการลงทุน (Foreign Investment Law) พม่าก็กลายเป็นประเทศที่น่าจับตามองมากยิ่งขึ้น เพราะเริ่มเอื้อประโยชน์และส่งสัญญาณเปิดรับนักลงทุนต่างชาติ อีกทั้ง มีความเป็นไปได้ที่การลงทุนด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานจะพัฒนาอีกมาก จนทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า จีดีพีของพม่าใน 2556 จะเติบโตที่ประมาณ 6.3% การส่งออกจะเติบโตประมาณ 11%โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ สิ่งทอและไม้สัก
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานผลิตภัณฑ์บรรษัทและผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงการเข้ามาลงทุนในประเทศพม่าว่า หากดูประชากรพม่ากว่า 70 ล้านคน และสาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม ทั้งเรื่องไฟฟ้า โทรศัพท์ ถนน การก่อสร้างและโรงแรม แต่พม่าก็เป็นทางเลือกที่ดีในการขยายตลาดของไทย เนื่องจากจะมีการเติบโตถึง 10-20% ต่อปี
นายทรงพล กล่าวต่อว่า การลงทุนในประเทศอาเซียน ทั้งในพม่า เวียดนาม ลาว มาเลเซีย กัมพูชา และอินโดนีเซีย ต่างมีการตั้งต้นการลงทุนที่แตกต่างกัน แต่ที่พม่าจะสูงที่สุด เนื่องจากสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่พร้อม แต่พม่ามีทรัพยากรมากและประชากรพม่าก็นิยมสินค้าไทย พม่าจึงเป็นตลาดที่ดีของไทยในการส่งออกและเข้ามาขยายตลาด จึงเห็นได้ว่าไม่ต้องรอการเปิดอาเซียนในปี 2558 การค้าระหว่างไทยและพม่าก็เกิดขึ้นแล้ว
"คาดว่าอีกไม่นานพม่าจะจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐานใหม่อย่างแน่นอน เร็วๆ นี้ทราบมาว่า ที่เมืองหงสาวดี จะมีการสร้างสนามบินใหม่ อุตสาหกรรมต่างๆ จะเพิ่มขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมไทยที่น่าสนใจมาลงทุนได้แก่ อาหารไทยและภาคบริการ แต่อุตสาหกรรมที่ใช้กระบวนการผลิตมากๆ และแรงงานจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ยังไม่แนะนำ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่พร้อม โรงไฟฟ้ายังต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง และอุตสาหกรรมที่ต้องพึงระวังในพม่า คือ การประมงและการเกษตร เพราะมีความอ่อนไหวด้านกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน"
นายทรงพล กล่าวถึงความเสี่ยงของการลงทุนในพม่าว่า อยู่ที่ต้นทุนการเริ่มต้นและค่าที่ดินที่มีราคาสูง แต่ก็เป็นความท้าทายประการหนึ่ง โดยจากการเข้ามาเปิดสำนักงานผู้แทนกรุงย่างกุ้งของธนาคารกสิกรไทยได้เรียนรู้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องเรียนรู้ในพม่า คือ ต้องรู้จักคนในพื้นที่ มีความจริงใจในการทำธุรกิจ รู้จังหวะและช่วงเวลาในการเข้ามาลงทุนแต่ละธุรกิจ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าอีก 3 ปี ต่อจากนี้พม่าจะเปลี่ยนแปลงอีกมาก และเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี
หวั่นไม่รีบลงทุน หน้าต่างการลงทุนจะปิด
ขณะที่ นายสมเกียรติ ศิริชาติไชย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดและสินค้าของไทยใกล้เคียงกับพม่ามาก โอกาสและความสำเร็จที่ไทยจะเข้ามาลงทุนจึงมีมาก ช่วงถือนี้จึงเป็นโอกาสเหมาะที่นักธุรกิจไทยจะเข้ามาลงทุนในพม่า เพราะหากไม่รีบเข้ามาคาดว่าในอีก 4 ปีจากนี้หน้าต่างการลงทุนต่างๆ จะปิดลง ประเทศอื่นจะเข้ามาแทน อย่างในโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายที่จะมีประโยชน์ทั้งกับไทยและพม่า เห็นว่าควรต้องทำให้เกิดขึ้น
"ประโยชน์สำคัญของท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย จะช่วยย่นระยะเวลาการเดินเรืออ้อมช่องแคบมะละกาให้เร็วขึ้น การส่งสินค้าจะเร็วขึ้นและลดต้นทุนในการขนส่งได้ ทั้งนี้ต้องดูการแบ่งธุรกิจและการลงทุนการเชื่อมความร่วมมือต่างๆ ให้ดี แต่ถ้าเรายังช้าประเทศอื่นจะรอเสียบ"
ด้านมัคคุเทศก์ชาวพม่า กล่าวถึงมุมมองของคนพม่าส่วนหนึ่งต่อโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายว่า ไทยจะได้ประโยชน์ ส่วนพม่าจะเสียประโยชน์มากกว่า เนื่องจากพม่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติมาก ทะเลพม่าสวยติดอันดับ 2 ของโลก สัตว์ทะเลยังมีจำนวนมาก ห่วงว่าการก่อสร้างโครงการใหญ่และตัดถนนครั้งนี้จะเป็นการกอบโกยและทำลายทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ
"ถามว่าอยากให้เกิดขึ้นหรือไม่ คนพม่าก็ไม่อยากได้นักหรอก"