คาดค่าจ้าง 300 บ.กระทบภาคเกษตร 5 % – ชงยุทธศาสตร์โซนนิ่งรับอาเซียน
รมว.กษ. คาดนโยบายค่าจ้าง 300 กระทบต้นทุนเกษตร 5% – ค่าแรงเพิ่ม 10% เผยพร้อมรับแรงงานถูกเลิกจ้างภาคอุตฯสู่ภาคเกษตร เตรียมเสนอจัดโซนนิ่งยุทธศาสตร์สู่อาเซียน
วันที่ 10 ม.ค. 56 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) คาดการณ์ถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศว่า ภาคเกษตรจะได้รับผลกระทบเพียงร้อยละ 5 ของต้นทุนการผลิต โดยที่ค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง ซึ่งหากแรงงานอุตสาหกรรมเปลี่ยนมาสู่ภาคการเกษตร กษ.ก็มีโครงการและนโยบายต่างๆรองรับ
“ที่ผ่านมาภาคการเกษตรยังขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก หากแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างก็สามารถปรับเปลี่ยน มาประกอบอาชีพภาคการเกษตร โดยอาจใช้ความรู้เรื่องอุตสาหกรรมที่มีอยู่มาดำเนินธุรกิจแปรรูปสินเค้าเกษตร โดยใช้ข้อมูลจากเกษตรจังหวัดซึ่งแสดงสถิติผลิตผลทางการเกษตร 5 อันดับแรกในแต่ละจังหวัดประกอบการตัดสินใจ” นายยุคลกล่าว
นายยุคลกล่าวต่อว่า ทั้งนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดย่อย หรือ เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจเกี่ยวกับภาคการ เกษตรขับเคลื่อนต่อไปได้
สำหรับยุทธศาสตร์ประเทศและยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของกระทรวงฯ สืบเนื่องจากการที่นายกรัฐมนตรี สั่งให้ทุกกระทรวงจัดทำหน่วยงานละ 10 โครงการ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมเชิงปฏิบัติการแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ประเทศ และแผนยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น กษ.จะนำเสนอเรื่องการจัดเขตเศรษฐกิจการเกษตร หรือ โซนนิ่งเกษตร พืชทั้ง 6 ชนิด ได้แก่ ยางพารา ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน รวมถึงยุทธศาสตร์การผลิต การส่งเสริมและพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร การพัฒนาบุคลากรภาคการเกษตรในโครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และการพัฒนาทรัพยากรดินและน้ำต่อไป
ที่มาภาพ ::: http://www.rd1677.com/branch.php?id=60682