ตัดสินคดี 9 ปี สารพิษคลิตี้ กรมควบคุมมลพิษชดเชย 3.8 ล้านบาท
ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดี 9 ปี สารพิษลำห้วยคลิตี้ กรมควบคุมมลพิษต้องชดเชยชาวบ้าน 22 ราย 3.8 ล้านบาท บังคับตั้งแผนงานวิเคราะห์สารตะกั่ว-ฟื้นฟูลำห้วย
วันที่ 10 ม.ค. 56 ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อ.597/2551 โดยมีนายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ กับพวก 22 คน ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ล่าช้าเกินสมควร จากกรณีกรมควบคุมมลพิษไม่ตรวจสอบการประกอบกิจการบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ลักลอบปล่อยน้ำเสียที่มีสารตะกั่วเจือปนในลำห้วยคลิตี้ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จนส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน จึงเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูและกำจัดสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ พร้อมเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทดังกล่าว
โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาวินิจฉัยว่า กรมควบคุมมลพิษละเลยหน้าที่ต่อการฟื้นฟู หรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินควร จากการปฏิบัติหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษในการกำจัดสารตะกั่วโดยการขุดลอกตะกอนดินขึ้น เมื่อฝนตกสารตะกั่วไหลลงลำห้วยอีกครั้ง ซึ่งแสดงถึงการปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามแผน แม้จะแก้ไขภายหลังด้วยการนำตะกอนดินวางไว้ริมลำห้วยก่อนจะปิดหน้าดินก็ตาม และต่อมาได้ร่วมประชุมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสรุปว่าควรให้ลำห้วยคลิตี้ฟื้นฟูตามธรรมชาติ แต่การดำเนินการดังกล่าวต้องก่อสร้างเขื่อนดักตะกอน ซึ่งใช้ระยะเวลา 3 ปีตั้งแต่ทราบสาเหตุ ทั้งนี้รวมถึงการขอขุดลอกตะกอนปนเปื้อนสารตะกั่วเพื่อไปกำจัด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งควรดำเนินการตั้งแต่ทราบสาเหตุ แต่กลับใช้เวลาขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ถึง 9 เดือน จนส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่
ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี เพื่อชดเชยเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร เพราะไม่สามารถหาได้จากลำห้วยคลิตี้เช่นเดิม เนื่องจากสัตว์น้ำมีสารตะกั่วเจือปนเกินมาตรฐาน จึงบังคับให้ชดเชยค่าใช้จ่ายซื้ออาหารเป็นเงิน 700 บาท/เดือนแก่ผู้ฟ้องคดี 22 คน นับตั้งแต่พ.ย. 45 รวม 21 เดือน 27 วัน คิดเป็นเงินรายละ 17,399.55 บาท และตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 47-26 มิ.ย. 55 รวม 94 เดือน คิดเป็นเงินรายละ 65,800 บาท
นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้ชดเชยค่าเสียหายในอนาคตขณะการฟื้นฟูยังไม่สำเร็จอีกรายละ 1,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 47-26 มิ.ย. 55 รวม 94 เดือน คิดเป็นเงินรายละ 94,000 บาท ซึ่งกรมควบคุมมลพิษต้องชดเชยค่าเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 177,199.55 บาทต่อราย รวม 22 รายเป็นเงิน 3,898,390 บาท
อย่างไรก็ตามศาลได้ยกฟ้องกรณีกรมควบคุมมลพิษละเลยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินการเรียกค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรมควบคุมมลพิษได้ประเมินค่าเสียหายจากการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ โดยฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี เป็นจำนวนเงิน8,110,481.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น ซึ่งศาลได้พิพากษาให้เรียกค่าเสียหาย 6,700,000 บาท จึงถือว่ากรมควบคุมมลพิษได้เรียกค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากบริษัทดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ได้ให้กรมควบคุมมลพิษกำหนดแผนงานดำเนินการฟื้นฟูตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก สัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ทุกฤดูกาล อย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าค่ามาตรฐานจะอยู่ในระดับปกติอย่างน้อย 1 ปี พร้อมเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านคลิตี้ ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ชะแล ที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ
นายนายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า พอใจคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดเรื่องค่าชดเชยความเสียหาย อย่างไรขอให้กรมควบคุมมลพิษเร่งรัดการฟื้นฟูตามคำสั่งศาลด่วน เพื่อสภาพแวดล้อมที่ดีกลับคืนมาสู่ภาวะปกติ ชาวบ้านจะได้กลับมาใช้ชีวิตท่ามกลางวิถีธรรมชาติเหมือนเดิม แม้ศาลจะกำหนดแนวทางฟื้นฟูไม่ชัดเจนก็ตาม เนื่องจากเข้าใจว่าศาลอาจไม่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าว
ด้านนายสมพล ทองผาไฉไล ชาวบ้านกะเหรี่ยงลำห้วยคลิตี้ กล่าวว่า พอใจกับคำตัดสินของศาล แต่หวั่นว่ากรณีศาลวินิจฉัยให้กรมบังคับคดีกำหนดแผนงาน เพื่อฟื้นฟูลำห้วยนั้นจะล่าช้าและถูกปล่อยปละละเลยอีกครั้ง เนื่องจากมีกรอบเวลากำหนดให้ปฏิบัติอย่างน้อย 1 ครั้ง จนอาจส่งผลให้ไม่ปฏิบัติเคร่งครัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินกิจการทำเหมืองแร่ และโรงแต่งแร่ ตั้งแต่ปี 2510 และมีการลักลอบทิ้งน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารตะกั่วจากบ่อกักตะกอนสู่ลำห้วยคลิตี้ สร้างส่งผลกระทบต่อชาวบ้านเป็นข่าวครึกโครมปี 2541 จนกระทรวงสาธารณสุขติดป้ายห้ามใช้น้ำและห้ามสัตว์จับน้ำชั่วคราว และเกิดการฟ้องร้องต่อศาลปกครองปี 2547 อย่างไรก็ตามนับว่ากรณีนี้เป็นคดีตัวอย่างของการเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูปัญหามลพิษครั้งประวัติศาสตร์ของไทย.
เอกสารประกอบ
ที่มาภาพ:http://www.greenpeace.org/seasia/th/ReSizes/OriginalWatermarked/Global/seasia/image/2012/klitty/_MG_1980.jpg