ยูนิเซฟเรียกร้องรัฐบาลเพิ่มการลงทุนพัฒนาเด็กเล็กแรกเกิด-6 ปี
ยูนิเซฟ ชี้การลงทุนในการพัฒนาเด็กเล็ก จะช่วยส่งเสริมสติปัญญา ทักษะทางอารมณ์และสังคมให้แก่เด็ก อีกทั้งยังช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้าทางสังคม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาว
วันที่ 10 มกราคม เนื่องในวันเด็กแห่งชาติในปีนี้ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ เรียกร้องให้รัฐบาลและสังคมไทยหันมาให้ความสนใจและเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งคือเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิดถึงหกปี
“หกปีแรกของชีวิตเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งต่อพัฒนาการของเด็กทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคมตลอดจนการรับรู้” นายพิชัย ราชภัณฑารี ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว และว่า การลงทุนในการพัฒนาเด็กเล็กจะส่งผลที่ยิ่งใหญ่ไปตลอดชีวิตของพวกเขา ในขณะที่การละเลยเรื่องนี้อาจทำให้เด็กๆ ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ
นายพิชัย กล่าวว่า แม้ประเทศไทยได้จัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติฉบับใหม่ แต่รัฐบาลยังคงต้องจัดสรรงบประมาณและบุคลากรอีกจำนวนมากในการนำแผนนี้ไปสู่การปฏิบัติได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้ความเป็นอยู่ของเด็กในประเทศไทยจะได้รับการพัฒนาไปในหลายด้าน เช่น การแก้ปัญหาความยากจน การส่งเสริมให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล และการออกกฎหมายเติมไอโอดีนในเกลือ แต่ความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและในกลุ่มประชากรที่ขาดโอกาส
ทั้งนี้สถิติจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนชี้ให้เห็นว่า ในประเทศไทย:
• ในปี 2551 มีเด็กเพียงร้อยละ 73 ที่ได้เข้าเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพียงร้อยละ 34 จากทั้งหมด 8,276 แห่งที่ทำการสำรวจ ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ขั้นต่ำของรัฐบาล
• ทุกๆ ปี มีเด็กเกิดใหม่ร้อยละ 5-7 ที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนเกิด ซึ่งในบางพื้นที่โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน อาจสูงถึงร้อยละ 15-20 หากเด็กไม่มีสูติบัตร จะทำให้ไม่มีตัวตนทางกฎหมาย และอาจเป็นอุปสรรคต่อการได้รับการรักษาพยาบาลฟรี และสวัสดิการอื่นๆ ของรัฐ
• มีเด็กแรกเกิดเพียงร้อยละ 5.4 ที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกของชีวิต ซึ่งถือเป็นอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวที่ต่ำที่สุดในเอเชียและจัดอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในโลก
• มีเด็กประมาณร้อยละ 12 ที่เตี้ยแคะแกร็นกว่าเกณฑ์เนื่องจากการขาดสารอาหารเรื้อรัง ในจังหวัดชายแดนใต้อัตรานี้สูงถึงร้อยละ 32 นอกจากนี้ในประเทศไทยมีครัวเรือนเพียงร้อยละ 58 ที่เข้าถึงเกลือเสริมไอโอดีน โดยเฉพาะในชุมชนยากจนในภาคอีสาน มีครัวเรือนเพียงร้อยละ 35 เท่านั้นที่เข้าถึงเกลือเสริมไอโอดีน การขาดไอโอดีนส่งผลเสียต่อการพัฒนาสมองและระดับสติปัญญาของเด็ก
• การปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างเด็กเล็กและครอบครัวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพัฒนาการทางจิตใจ ทางอารมณ์และทางสังคมของเด็ก แต่ในประเทศไทย มีเด็กถึงร้อยละ 17.5 ที่ไม่ได้อยู่กับพ่อหรือแม่ เนื่องจากพ่อหรือแม่ต้องไปทำงานในจังหวัดอื่น ในภาคอีสานอัตรานี้สูงถึงร้อยละ 24
• มีครอบครัวเพียงร้อยละ 44 ที่มีหนังสือเด็กมากกว่า 3 เล่ม ในขณะที่มีพ่อเพียงร้อยละ 54 ที่ทำกิจกรรมร่วมกับลูก
งานวิจัยในต่างประเทศจำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในการพัฒนาเด็กเล็ก จะช่วยส่งเสริมสติปัญญา ทักษะทางอารมณ์และสังคมให้แก่เด็ก อีกทั้งยังช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้าทางสังคมและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาว นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ เรียนต่อในระดับสูง ลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ลดอัตราการก่ออาชญากรรม และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน งานวิจัยหลายชิ้นยังระบุอีกด้วยว่า การลงทุนในเด็กเล็กส่งผลทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยิ่งใหญ่กว่าการแก้ปัญหาทีหลัง ซึ่งมักต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า เช่น การจ้างครูเพิ่มขึ้นเพื่อปรับปรุงอัตราส่วนครูต่อนักเรียน
”การลงทุนในเด็กเล็กเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะตอนนี้เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ คือ มีเด็กเกิดใหม่น้อยลงและประชากรมีอายุยืนขึ้น” นายพิชัย กล่าว และว่า นั่นหมายความว่าเด็กๆ ในวันนี้จะต้องได้รับการเตรียมพร้อมเพื่อโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพมากกว่าคนรุ่นพ่อแม่ของเขา”
ถ่ายภาพโดย: UNICEF