ธ.ก.ส.ขยายสินเชื่อเครื่องจักรเพิ่มเป็น 3.5 หมื่นลบ. – กษ.ตั้งศูนย์จักรกลเกษตรลดต้นทุน
ธ.ก.ส.เผยยอดสินเชื่อปี55เกินเป้า 1.1 แสนลบ. ปล่อยกู้เพิ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ 1 หมื่นลบ. รุกขยายสินเชื่อเครื่องจักรเกษตร 3.5 หมื่นลบ. จับมือคูโบต้าร์-ยันม่าร์ปลอดดอก 6 ด. กษ.ตั้งศูนย์เครื่องจักรกล
วันที่ 9 ม.ค. 56 ที่กระทรวงการคลัง นายชัยวัฒน์ ปกป้อง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากการที่ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการโครงการสินเชื่อจัดหาเครื่องจักรเครื่องยนต์ทางการเกษตรวงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2554 – 31 มี.ค. 57 นั้น ปัจจุบันดำเนินโครงการมาได้ประมาณ 1 ปีครึ่งและจ่ายสินเชื่อตามโครงการไปแล้วเป็นเงิน 15,655 ล้านบาท โดยสามารถช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยแก่ลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 50,844 ราย ได้กว่า 5,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดียังมีเกษตรกรแจ้งความประสงค์ขอใช้สินเชื่อดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ธ.ก.ส.จึงขยายวงเงินสินเชื่อในโครงการนี้เพิ่มเติมอีกจำนวน 20,000 ล้านบาท รวมเป็น 35,000 บาท เพื่อรองรับลูกค้าเพิ่มอีกประมาณ 1 แสนรายจนสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินโครงการ
โดยโครงการนี้จัดสินเชื่อเป็น 2 ประเภท คือ 1.เพื่อเป็นค่าลงทุนซื้อทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องยนต์ที่ใช้ในการผลิต การแปรรูป ยานพาหนะในการบรรทุกขนส่ง พร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วง 2.เพื่อนำเงินกู้ไปชำระค่าเช่าซื้อกับบริษัทผู้ประกอบกิจการให้เช่าซื้อ หรือ ลิสซิ่ง หรือ บริษัทในเครือตัวแทนจำหน่าย พร้อมกับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินมาเป็นของเกษตรกร หรือบุคคลอื่นในครอบครัว
ทั้งนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการลดหย่อนในเรื่องหลักประกัน ทั้งการจำนองอสังหาริมทรัพย์ หรือการใช้บุคคลค้ำประกัน โดยให้วงเงินกู้ร้อยละ 80 – 100 ของทรัพย์สิน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.75-9.5 ตามและเป็นแบบผ่อนชำระลดต้นลดดอก โดยผ่อนชำระคืนได้สูงสุด 8 ปี ซึ่งถูกกว่าสินเชื่อเช่าซื้อจากบริษัทลิสซิ่ง ที่คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดอายุสัญญา ทำให้มีต้นทุนดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 14-15 ต่อปี
โดยกรณีเกษตรกรกู้ไปชำระค่าเช่าซื้อกับบริษัทผู้ประกอบการซึ่ง ธ.ก.ส.ทำข้อตกลงกับ บริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทยันม่าร์ แคบปิตอล (ไทยแลนด์) จำกัด ให้ไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยของเกษตรกรได้ราว 60,000 –100,000บาทต่อราย
นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่า โครงการนี้เน้นการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่การเกษตรหลักร้อยไร่สู่การทำเกษตรอุตสาหกรรมด้วยการใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย ช่วยลดต้นทุนการผลิต และผลิตได้ตามแผนที่วางไว้โดยไม่ต้องใช้แรงงาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 สำหรับเกษตรกรรายย่อย ธ.ก.ส.สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มกันในรูปวิสาหกิจชุมชน หรือ สหกรณ์เพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าวให้การใช้เครื่องจักรทางการเกษตรซึ่งมีราคาแพงเป็นไปอย่างคุ้มค่า
ทั้งในปีที่ผ่านมีความต้องการใช้เครื่องจักรทางการเกษตรเพิ่มขึ้นมาก อันเป็นผลมาจากอุทกภัยปลายปี 54 และแรงงานภาคเกษตรขาดแคลนมากขึ้นเพราะสูงวัย โดยมีสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเครื่องจักรกล เครื่องมือเกษตรและการลงทุนปรับปรุงที่ดินประมาณปีละ2.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 25 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่การกู้เงินเพื่อใช้หมุนเวียนด้านปัจจัยการผลิตคิดเป็นร้อยละ 50 ที่เหลือคือการกู้เพื่อการอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ปรับปรุงบ้าน ซื้อยานพาหนะ
สำหรับภาพรวมการดำเนินงานด้านสินเชื่อของธ.ก.ส.ปีบัญชี 2555 (1เม.ย.55 – 31 มี.ค.56) ในปีที่ผ่านมามีการให้สินเชื่อไปทั้งสิ้นเกือบ 9 แสนล้านบาท และตั้งเป้าหมายการจ่ายสินเชื่อเพิ่มขึ้น 8 หมื่นล้านบาท แต่ผลการดำเนินงาน ณ เดือนธันวาคม 55 จ่ายสินเชื่อเกินเป้าเพิ่มเป็น 1.1 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตของสินเชื่อประมาณร้อยละ 10 ทั้งนี้มีเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) จากธนาคารแห่งประเทศไทยที่สมทบเข้ามาช่วยเกษตรกรราว 4.2 หมื่นล้านบาทด้วย โดยปัจจุบันธ.ก.ส.มียอดเงินฝากจากภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจและราชการเกือบ 1 ล้านล้านบาทเพื่อใช้หมุนเวียน
นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันธ.ก.ส.มีลูกค้าเกษตรกรเกือบ 5 ล้านครัวเรือน โดยมีลูกค้าชั้นที่มีประวัติการชำระหนี้ดีกว่า 2 ล้านครัวเรือน โดยในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้จัดทำโครงการสวัสดิการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ดี ด้วยการจัดทำประกันชีวิตให้ฟรี วงเงินคุ้มครองขั้นต่ำรายละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ โดยมีลูกค้าที่ได้รับประโยชน์ในปี 2554 และ 2555 จำนวน 2.47 ล้านราย และ 2.53 ล้านราย วงเงินที่ ธ.ก.ส.จ่ายเพื่อชำระค่าเบี้ยประกันจำนวน 317.2 ล้านบาท และ 652.6 ล้านบาทตามลำดับ โดยในช่วง 2 ปีมีลูกค้าเกษตรกรเสียชีวิตและทุพพลภาพ 9,226 ราย และได้รับชดเชยค่าสินไหมไปแล้วทั้งสิ้น 658.6 ล้านบาท
สำหรับความร่วมมือของธ.ก.ส.และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.)ในโครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการและให้สินเชื่อ ซึ่งธ.ก.ส.ตั้งวงเงินไว้ราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกู้ยืมเงินไปพัฒนาการผลิตให้ได้คุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดระดับบนกับต่างประเทศ
ด้านนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.กษ. เปิดเผยว่า ขณะนี้กษ.มีนโยบายในการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์เครื่องจักรกลทางการเกษตรขึ้น เพื่อบริหารจัดการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร และแก้ไขปัญหาแรงงานภาคการเกษตรที่ลดลง โดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร พร้อมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป
ที่มาภาพ ::: http://www.kasetd.com/sakda5.html