จับตา"เฉลิม"ถกมาเลย์ กับ2เรื่องร้อนที่รอสานต่อ "แก้ข้อตกลงร่วมฯ-ต้มยำกุ้ง"
การเดินทางเยือนมาเลเซียของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 8-10 ม.ค.2556 แม้หลายฝ่ายจะประเมินตรงกันว่าไม่น่ามีอะไรในกอไผ่ แต่การไปในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ "ผอ.ศปก.กปต." และไปกันคณะใหญ่พอสมควร ก็น่าจะมีประเด็นเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ไปหารือและได้ผลในแง่บวกกลับมาให้คนไทยได้ชื่นใจบ้าง
โดยเฉพาะล่าสุดมีรายงานยืนยันว่า ร.ต.อ.เฉลิม จะได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียด้วย นอกเหนือจากรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีมหาดไทย และผู้บัญชาการตำรวจ ตามที่ประสานงานไว้เดิม
ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้สไตล์ "เฉลิม" ที่เจ้าตัวพูดถึงอยู่บ่อยๆ ว่าต้องทำ "3 วง" ได้แก่ วงใน คือภายในประเทศ วงนอก คือประเทศเพื่อนบ้าน และ วงสุดท้าย คือ โลกมุสลิม นั้น ความจริงที่มิอาจปฏิเสธคือ มาเลเซียมีส่วนสำคัญแทบทุกวง โดยเฉพาะวงที่ 2 กับ 3
แม้ในระดับผู้นำ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยบินไปกระชับความสัมพันธ์เมื่อ 20 ก.พ.2555 โดยมีท่าทีตอบรับในเกณฑ์ดีจากทางมาเลเซีย หลังจากนั้น นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็เคยเดินทางไป แต่ในมิติที่ลึกกว่าการพบหน้ากันแล้วจับมือถ่ายรูป ยังมีประเด็นที่ต้องการการสานต่อ 2 เรื่องสำคัญ
หนึ่ง คือ บันทึกความตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านชายแดน ซึ่งทำกันไว้ตั้งแต่สมัยร่วมกันปราบปรามโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) โดยความตกลงที่ว่านี้เคยทำกันมาหลายครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491-2506 ก่อนจะยกเลิกทั้งหมด และจัดทำขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2508 โดยฉบับนี้มีการใช้ต่อเนื่องมา
ล่าสุดไทยขอแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะประเด็นที่ไทยขอให้เพิ่มขอบเขต "พื้นที่ลาดตระเวนร่วม" ให้ลึกเข้าไปจากชายแดนของแต่ละประเทศมากขึ้น มีการตั้งด่านตรวจบุคคลสองสัญชาติที่อาจมีหมายจับของไทย และให้ความสำคัญกับปัญหาการก่อการร้ายหรือการก่อความไม่สงบมากกว่าเดิม รวมทั้งเฝ้าระวังสารตั้งต้นในการผลิตระเบิดซึ่งการข่าวของไทยยืนยันว่ามีการส่งข้ามไปข้ามมา
การประชุมครั้งหลังสุดของผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายเมื่อเดือน พ.ย.2555 ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก แต่เมื่อพลิกดูรายชื่อฝ่ายความมั่นคงที่ร่วมคณะไปกับ ร.ต.อ.เฉลิม เที่ยวนี้ มีระดับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสนาธิการทหารบก พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ด้วย จึงต้องตามดูว่าจะมีการพูดถึง "เอ็มโอยู ไทย-มาเลย์" ด้วยหรือเปล่า
สอง คือ เรื่อง "ต้มยำกุ้ง" หรือผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ทั้งเจ้าของและแรงงานต่อเนื่อง (กุ๊ก เด็กเสิร์ฟ คนล้างจาน ฯลฯ) ซึ่งฝ่ายความมั่นคงไทยมองคนกลุ่มนี้ในแง่ลบตลอดมาว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนเงินทุนและแหล่งพักพิงให้กับผู้ก่อความไม่สงบในฝั่งไทย
แต่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยุค พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง มองมุมใหม่ มุ่งทุ่มเทความช่วยเหลือและดูแลคุณภาพชีวิตเพื่อหวังให้ "ได้ใจ" โดยไม่ไปรื้อฟื้นหรือพูดถึงความเกี่ยวพันกับสถานการณ์ความไม่สงบ โดยเฉพาะกลุ่ม "แรงงานต้มยำ" ซึ่งจำนวนมากเป็นชายฉกรรจ์ในวัยทำงานจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว ศอ.บต.ได้ไปเปิดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ให้กับแรงงานต้มยำชาวไทย รวมถึงแรงงานกลุ่มอื่นๆ ถึงในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย ภายหลังสำรวจพบมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในมาเลย์มากกว่า 120,000 คน ส่วนใหญ่จบการศึกษาแค่ประถมศึกษาปีที่ 6 และไม่มีช่องทางศึกษาต่อ
อย่างไรก็ดี แรงงานต้มยำใน "เคแอล" หรือกัวลาลัมเปอร์ ยังไม่ใช่ทั้งหมดของชายวัยรุ่นและวัยทำงานจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะร้านต้มยำมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมถึง 4 รัฐทางตอนเหนือของมาเลย์ที่ติดกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้วย ได้แก่ รัฐกลันตัน เคดาห์ เปรัค และเปอร์ลิส จึงน่าจับตาว่า ร.ต.อ.เฉลิม จะเดินหน้าขยายฐานที่ พ.ต.อ.ทวี ทำไว้ หรือจะย้อนหลังกลับไปฟังข้อมูลเดิมๆ ของฝ่ายความมั่นคง แล้วใช้มาตรการกดดัน "แรงงานต้มยำ" ต่อไป
อันที่จริงที่ผ่านมาก็เคยมีรายงานการศึกษาวิจัยที่น่าสนใจ ได้รับทุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง "แนวทางการจัดสวัสดิการ การกำหนดค่าธรรมเนียมที่มีผลต่อการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานร้านอาหารไทยผันเข้าสู่ระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวของมาเลเซียอย่างถูกกฎหมาย" จัดทำโดย ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) และคณะ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ฉายภาพจริงของ "ธุรกิจต้มยำ" และ "แรงงานต้มยำ" ให้ได้เห็นกันอย่างชัดเจนพอสมควร
งานวิจัยระบุว่า จำนวนร้านอาหารและแรงงานจากคำบอกเล่าของสมาคมและผู้ประกอบการร้านต้มยำ ประมาณว่ามีร้านต้มยำมากกว่ากว่า 5,000 ร้านในมาเลเซีย ซึ่งแต่ละร้านจะมีลูกจ้างประมาณ 20-30 คน แล้วแต่ขนาดของร้าน จำนวนแรงงานจึงน่าจะอยู่ในราว 100,000-150,000 คน ยังไม่นับรวมร้านอาหารที่ลักลอบเปิดกันเองอีกจำนวนมาก
สำหรับมูลค่าของการส่งเงินกลับบ้าน เจ้าของร้านขนาดใหญ่ส่งเงินกลับบ้านได้เดือนละ 100,000 บาท เจ้าของร้านขนาดเล็กส่งเงินกลับบ้านประมาณเดือนละ 20,000 - 50,000 บาท ลูกจ้างมี Work Permit หรือใบอนุญาตทำงาน ได้แก่ คนล้างจาน เสิร์ฟ มีเงินเดือนเดือนละ 5,500 - 6,000 บาท เก็บเงินได้เดือนละ 4,500 บาท ส่งกลับบ้านเดือนละ 1,000 - 2,000 บาท พ่อครัวแม่ครัว เงินเดือน 15,000 - 20,000 บาท ส่งเงินกลับบ้านได้เดือนละ 5,000 บาท
มูลค่าเงินส่งกลับบ้านในแต่ละเดือนน่าจะประมาณ 300-400 ล้านบาท!
ความสำเร็จของ "ร้านต้มยำ" ทำให้แรงงานธรรมดาๆ ไม่มีการศึกษาสูงนักสามารถลืมตาอ้าปากได้ เก็บหอมรอมริบจนมีฐานะดีขึ้น หลายคนเดินทางกลับประเทศไทยพร้อมรายได้มาปลูกบ้าน ซื้อรถ มีสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นสิ่งที่เร่งเร้าให้คนในชุมชนเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ปรากฏการณ์ที่ตามมาคือระลอกประชากรวัยทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไหลเข้าไปในมาเลเซีย จนก่อรูปเป็นย่านชุมชนคนเปิดร้านต้มยำอยู่ทุกมุมเมืองในมาเลเซีย
นั่นคือข้อมูลจากงานวิจัย ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับสภาพความจริงในพื้นที่หลังเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะมีกลุ่มชายวัยทำงานจากชายแดนใต้เดินทางเข้ามาเลเซียมากขึ้น ด้านหนึ่งก็เพื่อความปลอดภัยจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษอย่างเข้มข้นของฝ่ายความมั่นคงไทย ขณะที่เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นถี่ยิบย่อมทำให้เศรษฐกิจแย่ลง หางานทำยากขึ้น ข้ามไปฝั่งมาเลย์น่าจะดูดีมีอนาคตกว่า
แน่นอนว่าย่อมมี "คนส่วนน้อย" ที่เป็นผู้ก่อความไม่สงบแฝงเร้นเข้าไปอยู่ในวงจรนี้ด้วย แต่หาใช่ทั้งหมดไม่
งานวิจัยของ ผศ.ชิดชนก เสนอแนะเอาไว้ดังนี้
- ฐานคติของรัฐบาลไทยต้องเข้าใจและมีมุมมองเชิงบวกต่อผู้ประกอบการและแรงงานร้านอาหารไทยที่มาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียส่วนใหญ่ใช้หนังสือเดินทางประเทศไทยแล้วลักลอบทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ต้องหลบซ่อนจากการจับกุมเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่อนุญาตให้พำนักในมาเลเซียได้เพียง 30 วัน ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของร้านอาหารที่ตนเองก่อร่างสร้างตัวได้ ต้องยืมชื่อคนมาเลเซียมาเป็นเจ้าของร้าน รวมทั้งเช่าหรือซื้อที่ดิน เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าผู้ประกอบการและแรงงานร้านอาหารไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่บุคคลสองสัญชาติ และส่วนน้อยที่ได้สัญชาติมาเลเซีย
- รัฐบาลไทยต้องลดอคติที่มองว่าบุคคลสองสัญชาติเป็นปัญหาต่อความมั่นคง แต่เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางธุรกิจร้านอาหารไทยเอง
- รัฐบาลไทยต้องลดความหวาดระแวงว่าร้านอาหารไทยหรือร้านต้มยำให้การสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน เนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักตรรกะหรือความเป็นเหตุเป็นผลเท่าใดนัก การแบ่งแยกดินแดนมีข้อสรุปว่ามีธงนำคือ "ความเป็นชาตินิยมมลายู ปฏิเสธรัฐไทย ละทิ้งสัญลักษณ์ใดก็ตามที่เกี่ยวกับรัฐไทย" แต่ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการและแรงงานร้านอาหารไทยกลับเชิดชูและภูมิใจในวัฒนธรรมอาหารไทย ใช้คำว่า "Tomyam" เป็นองค์ประกอบของชื่อร้าน
นอกจากนั้น ในงานวิจัยยังได้เสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือ "แรงงานต้มยำ" ทั้งในแง่ภาษี ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน และคุณภาพชีวิต ซึ่งมีหลายเรื่องที่ ศอ.บต.ทำไปบ้างแล้ว...
ที่เหลือคงต้องรอวัดใจ "รองฯเฉลิม" ในฐานะ ผอ.ศปก.กปต.!
------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ศูนย์ กศน.ไทยในกัวลาลัมเปอร์ (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)