นิพนธ์ บุญญามณี จี้รัฐสร้าง"ตัวชี้วัด"ประเมินผลดับไฟใต้
ความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปีนี้มีอยู่ 2 ประเด็นหลักๆ กล่าวคือ หนึ่ง เรื่องการเจรจา ซึ่ง "ทีมข่าวอิศรา" ได้วิเคราะห์เอาไว้บ้างแล้ว กับสอง เรื่องการปรับกำลังทหารจากนอกพื้นที่เพื่อเปลี่ยนไปใช้กำลังในพื้นที่แทน โดยเฉพาะกองกำลังประชาชน
ประเด็นที่ 2 เป็นเรื่องสำคัญ และไม่อาจยับยั้งได้อีกแล้ว เพราะกองทัพบก (ทบ.) เองซึ่งเป็นกำลังหลักในพื้นที่ชายแดนใต้ปัจจุบันก็กำลังเริ่มถ่ายโอนกำลังออก เพื่อให้ "ตำรวจ" กับ "อาสาสมัคร" ดูแลพื้นที่แทน โดยเฉพาะการผลิตตำรวจ 1,800 อัตรา ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็รับลูกเดินหน้าโครงการไปแล้ว
ส่วนการใช้กองกำลังประชาชนนั้น ล่าสุดทหารได้เตรียมส่งมอบพื้นที่ 2 อำเภอจาก 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ กับ อ.นาทวี ให้ กอ.รมน.จังหวัดภายใต้การสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาดูแลแทน ดีเดย์วันที่ 8 ม.ค.2556
ขณะที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็เร่งอัดงบ "ตำบลละล้าน" ตามโครงการเสริมสร้างความปลอดภัยและความเข้มแข็งของหมู่บ้าน/ตำบล หรือที่เรียกว่า "ตำบลสันติธรรม" เพื่อให้ประชาชนในระดับตำบลหมู่บ้านดูแลชุมชนของตนเอง
นี่คือทิศทางที่กำลังเป็นไป...
แต่คำถามก็คือ ทิศทางงบประมาณ โดยเฉพาะงบฟังก์ชั่น 2.1 หมื่นล้านบาทประจำปี 2556 ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไปแล้ว มุ่งไปจุดเดียวกันหรือเปล่า เนื่องจากมีข่าวกระเซ็นกระสายมาว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงหลักๆ จะมีการของบพิเศษเพิ่มเติมกันอีกมหาศาล
ทั้งๆ ที่งบดับไฟใต้รวมตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2556 ก็จ่อ 2 แสนล้านเข้าไปทุกทีแล้ว!
ขณะที่พลิกดูจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายกลับพุ่งไปถึง 14,051 ราย จากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น 14,059 ครั้งตลอด 9 ปีไฟใต้ หากลองนำตัวเลขเหล่านี้มาเฉลี่ยดูเป็นปี เป็นเดือน และเป็นวัน จะยิ่งน่าตกใจว่าคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่กันได้อย่างไรในสถานการณ์ความไม่สงบที่แผ่คลุมพื้นที่อยู่อย่างยาวนานเช่นนี้
นิพนธ์ บุญญามณี แม่ทัพชายแดนใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคุมยุทธศาสตร์เลือกตั้งจนพรรคได้รับชัยชนะมาหลายรอบ และเป็นประธานอนุกรรมาธิการติดตามงบภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร ตั้งประเด็นที่ทุกฝ่ายห่วงกังวลตรงกัน คือเรื่อง "งบประมาณ"
ปรับทิศงบ-ทุ่มสู่"คน"
นิพนธ์ ชี้ว่า สัดส่วนงบที่เพิ่มขึ้น (เฉพาะปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 5 พันล้านบาท) น่าจะไปเพิ่มตรงบุคลากรที่จะนำไปใช้แทนกำลังทหารของ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) วันนี้ต้องลดงบจัดซื้ออาวุธ แล้วไปเพิ่มเรื่องการฝึกทักษะของคน ทั้ง ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) อรบ. (อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน) อส. (อาสารักษาดินแดน) และจัดงบให้สอดคล้องกับพื้นที่เพื่อให้พื้นที่เข้มแข็งมากที่สุด
"การใช้กำลังจากส่วนอื่นเข้าไปแทนทหารต้องมีการเตรียมการ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ทำเลย เมื่อนำทหารจากนอกพื้นที่ออกไป ก็ต้องฝึกอบรมให้คนในพื้นที่มีทักษะการดูแลตัวเอง ดูแลชุมชน และดูแลพื้นที่ การใช้งบจึงต้องชัดเจนว่ามุ่งไปที่การดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่ใช่ไปขนซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดูแล้วไม่ค่อยเกิดประโยชน์ เช่น เรือเหาะ เป็นต้น แต่ถ้าไปซื้อยุทโธปกรณ์ที่จะไปเพิ่มขีดความสามารถของการตรวจตราคุ้มครองหมู่บ้าน เช่น ซื้อรถให้ ชรบ. อส. อย่างนี้น่าจะได้ประโยชน์กว่า ฉะนั้นรัฐบาลต้องเข้าไปดูแลการจัดงบให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากกว่าเดิม"
นิพนธ์ ชี้ว่า กลไก ชรบ.กับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งที่ผ่านมามีการตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ผรส.) ขึ้นมาด้วย ต้องถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อนำกำลังทหารจากนอกพื้นที่ออกไปแล้ว แต่ประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการฝึกอบรมให้เข้าใจทั้งยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการทำงานมวลชน
จี้ยกเครื่อง"งบข่าว"
อีกส่วนหนึ่งที่ นิพนธ์ เฝ้าจับตาอยู่ในฐานะอนุกรรมาธิการติดตามงบภาคใต้ ก็คือ "งบการข่าว" ที่มีปัญหามาตลอด
"แม้ยอดรวมงบการข่าวของแต่ละหน่วยจะไม่เยอะหนัก คืออยู่ในระดับสิบหรือร้อยล้าน แต่ส่วนใหญ่เป็นเบี้ยหัวแตก แยกย่อยไปซุกอยู่ในงบส่วนอื่นๆ ในชื่อโครงการต่างๆ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นงบการข่าวทั้งสิ้น ฉะนั้นยอดการใช้งบจริงทางด้านนี้จึงเยอะมาก และตรวจสอบยาก แต่ถ้าเราดูจากประสิทธิผลของงาน การเกิดเหตุรุนแรงที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิวัติงบการข่าว ต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ไม่ใช่เบิกเบี้ยเลี้ยงไปให้สายข่าวโดยไม่มีการประเมินผล ถ้ามีตัวชี้วัดที่ดี ผมคิดว่าน่าจะสามารถยกเลิกสายข่าวบางส่วนที่ไม่มีประสิทธิภาพได้ ประเภทลอกข่าวเพื่อนมา หรือข่าวเดียวกันส่งให้ทุกหน่วย"
"อย่าลืมว่าเมื่อการข่าวอ่อน เราไม่รู้เขา แต่เขารู้เรา ก็จะกลายเป็นจุดบอดในการแก้ปัญหาทันที กองกำลังทหาร ตำรวจจะถูกโจมตีและสูญเสียตลอด ที่ผ่านมาค่อนข้างชัดเจนว่าข้อมูลของเรา กำลังตรงไหนอ่อนแอ มีการสับเปลี่ยนกำลังตรงไหน เขารู้หมด และก่อเหตุโจมตีเราได้เสมอ อย่างนี้รบร้อยครั้งก็แพ้ร้อยครั้ง ต้องรีบเปลี่ยนแปลงแก้ไขยุทธศาสตร์ด้านการข่าว หน่วยข่าวไหนไปลอกข่าวเพื่อนมาเพื่อเบิกงบ ต้องเลิก"
"ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้พูดลอยๆ ผมมีข้อมูลและการชี้แจงจากหน่วยงานที่รับผิดชอบจริงๆ ผ่านที่ประชุมอนุกรรมาธิการติดตามงบภาคใต้ซึ่งทำมาเกือบ 10 ปี เอกสารที่ชี้แจงมาตรวจสอบแล้วค่อนข้างชัดว่า ข่าวสารหรือข่าวกรองที่ได้นั้นมาจากแหล่งเดียวกันหมด แต่ต่างกรรมต่างวาระกันเท่านั้นเอง งานการข่าวที่ผ่านมาทำแบบงานรูทีน ประสิทธิภาพต่ำ ทำให้ป้องกันเหตุรุนแรงไม่ได้"
อย่าลืมพัฒนาคุณภาพชีวิต
อย่างไรก็ดี งานด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เป็นเพียงส่วนงานเดียวในบริบทการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหา "เชิงรับ" ด้วยซ้ำ นิพนธ์ ชี้ว่า การจะเอาชนะสงครามที่ปลายด้ามขวาน ต้องมีงาน "เชิงรุก" ซึ่งก็คือการแก้ไขปัญหาโครงสร้าง เช่น เรื่องการศึกษา การสาธารณสุข ซึ่งมีการวางยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเอาไว้แล้ว จึงอยากให้รัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เปลี่ยนรัฐบาลทีก็เกิดการเปลี่ยนแปลง
"เป้าหมายคือยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน รัฐบาลต้องมั่นคง ไม่โลเล อย่าไปคิดว่าเป็นโครงการของรัฐบาลไหน แต่ต้องดูผลสัมฤทธิ์ ถ้าประชาชนได้รับประโยชน์ มีตัวชี้วัดชัดเจน รัฐบาลก็ต้องเดินหน้า แต่ถ้าใส่งบไปแล้วไม่มีตัวชี้วัดหรือไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ ก็ต้องยกเลิก"
เขายังเรียกร้องให้สภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) และสำนักงบประมาณแสดงบทบาทให้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการต่างๆ เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
"ถ้าฝ่ายความมั่นคงเอางบไปใช้แล้วไม่คุ้มค่า ต้องกล้าพูด กล้าตักเตือน เพื่อให้เกิดการแก้ไข ไม่ใช่ช่วยกันปกปิด วันนี้ต้องพูดเรื่องตัวชี้วัดให้ชัดเจน รวมไปถึงงานด้านการพัฒนา ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นไหม ระบบการจัดการศึกษาเป็นอย่างไร คะแนนสอบโอเน็ตเพิ่มขึ้นหรือเปล่า"
พึ่งแต่ทหารส่งสัญญาณผิด
นิพนธ์ บอกด้วยว่า หลายๆ เรื่องฝ่ายความมั่นคงยังยึดติดอยู่กับกรอบคิดเดิมๆ คือให้ทหารเข้าไปแก้ไขปัญหาทุกอย่าง ซึ่งวันนี้พิสูจน์แล้วว่าใช้ไม่ได้
"อย่างครูถูกยิง ก็จะเอาทหารกับ ตชด. (ตำรวจตระเวนชายแดน) ไปสอนแทน ผมว่าจะยิ่งไปกันใหญ่ และจะยิ่งตกเป็นเป้า ที่สำคัญคนคนเดียว หน่วยงานเดียวจะแก้ได้ทุกเรื่องเลยหรือ ต่อไปถ้าสถานีอนามัยถูกเผาก็ต้องส่งหมอทหารลงไปด้วยหรือเปล่า การส่งสัญญาณแบบนี้จะทำให้การแก้ไขปัญหายิ่งแย่ลง แสดงว่ายอมรับว่าปัญหาใต้เลวร้ายลง ต้องส่งทหารไปทำแทนทุกอย่าง คนทำหน้าที่หลักปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ผมคิดว่ารัฐบาลต้องระมัดระวังการส่งสัญญาณแบบนี้"
นิพนธ์ ย้ำด้วยว่า การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ ณ วันนี้ หนีไม่พ้นต้องให้คนในพื้นที่เป็นเจ้าภาพ
"ถ้าจะแก้เรื่องครูก็ต้องแก้อย่างเป็นระบบ เอาคนในพื้นที่บรรจุเข้าไป อย่าไปคิดประเด็นไทยพุทธ ไทยมุสลิม เราต้องเปิดโอกาสให้ทุกคน"
"ศปก.กปต." เพิ่มปัญหา ไม่ได้แก้ปัญหา
เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจัดทำ "โครงสร้างดับไฟใต้ใหม่" โดยตั้ง "ศปก.กปต." หรือ ศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมา และมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ
ประเด็นนี้ นิพนธ์ มองว่า นี่คือปัญหาของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
"การไม่ยอมรับเชิงนโยบายที่รัฐบาลก่อนหน้าทำเอาไว้ กับความไม่แน่นอนของตัวผู้กำกับนโยบาย ทำให้เกิดปัญหามาก ทั้งๆ ที่รัฐบาลชุดนี้ไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางการเมือง น่าจะทุ่มเทแก้ไขปัญหาภาคใต้อย่างเต็มที่ แต่เอาเข้าจริง ตัวบุคคลที่กำกับดูแลนโยบายก็ยังไม่ชัดเจน"
นิพนธ์ ชี้ว่า การตั้ง ศปก.กปต.ขึ้นมา คือภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เข้าใจกลไกที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาภาคใต้เลย ไม่เข้าใจกฎหมาย กอ.รมน. (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) ไม่เข้าใจกฎหมาย ศอ.บต. (พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) และไม่เข้าใจว่ากฎหมาย 2 ฉบับนี้เกี่ยวโยงกันอย่างไร
"รัฐบาลตีโจทย์ไม่แตก ทำให้เกิดความสับสนเชิงนโยบาย ในแง่ผู้กำกับนโยบายก็เลยสับสนตามไปด้วยว่าใครกำกับนโยบายภาคใต้กันแน่ และกำกับในส่วนไหน การเชื่อมกฎหมาย กอ.รมน.กับกฎหมาย ศอ.บต.เข้าด้วยกันทำอย่างไร รัฐบาลรู้หรือเปล่า อย่าไปคิดว่ากฎหมายออกในสมัยไหน เพราะถ้าไม่ไว้ใจตัวบุคคล รัฐบาลก็เปลี่ยนออกไปหมดแล้ว (หมายถึงข้าราชการที่รับผิดชอบในพื้นที่)"
"จริงๆ เราออกแบบไว้ให้ ศอ.บต.เป็นหลักในยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา และมีโครงสร้างชัดเจน มีสภาที่ปรึกษาฯ (สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สปต.) เป็นตัวเชื่อมกับพื้นที่และประชาชน มี กพต. (คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้) เชื่อมกับรัฐบาลและผลักดันนโยบายยุทธศาสตร์ผ่าน สมช. ซึ่งนโยบายและยุทธศาสตร์เหล่านั้นก็มาจากประชาชนด้วยโดยผ่านทาง สปต. และ กอ.รมน.ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงให้สอดคล้องกัน นี่คือโมเดลที่ใช้แก้ไขปัญหา และมีกฎหมายรองรับชัดเจน"
"แต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาทำโครงสร้างใหม่ ออกเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น กปต. (คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้) หรือ ศปก.กปต.ก็ตาม การทำแบบนี้จะซ้ำซ้อนกับโครงสร้างเดิม คือ กพต. ศอ.บต. และ สปต. ซึ่งมีกฎหมายรองรับ มี ศอ.บต.เป็นหน่วยประสานงานทั้งหมด"
นิพนธ์ ยังวิพากษ์บทบาทของ ศอ.บต.ในรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการ ศอ.บต. จาก นายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ว่า ศอ.บต.ต้องเข้าใจบทบาทของตนเองตามกฎหมายให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ทำตัวเป็น "ซานตาคลอส" แจกเงินอย่างเดียว
"ศอ.บต.คือผู้ประสานแผนงานและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาทั้งหมด ต้องรู้โครงสร้างการทำงานที่จะแก้ปัญหาพื้นที่ซึ่งเป็นอำนาจของ ศอ.บต.เอง ได้แก่ ปัญหาความยากจน การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และการอำนวยความยุติธรรม แต่เท่าที่ดูยังเน้นแต่จ่ายเงินเยียวยาอย่างเดียว อย่ามาอ้างเหตุผลเรื่องโครงสร้างอัตรากำลังไม่เพียงพอ เพราะในกฎหมาย ศอ.บต.เขียนเอาไว้หมดแล้ว" นิพนธ์ ระบุ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจาก http://niphondemocrat.blogspot.com
หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 6 ม.ค.2556 ด้วย