“กรณ์” ตอกรัฐอย่าด่วนสรุป นโยบายรถคันแรก สร้างความสุขให้คน 1.3 ล้าน
อดีตขุนคลัง ชี้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เก็บ 'ภาษีบาป' จากรถยนต์ ก็เพราะการใช้รถมีผลทางลบกับสภาพแวดล้อม-สังคม ฉะเพื่อไทย คิดผิดออกนโยบายนี้มา สุดท้ายรถก็ติด ผู้คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น เสียงบฯ มหาศาล
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊คส่วนตัว Korn Chatikavanij ถึงนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า สะท้อนความคิดที่ผิดพลาด และสร้างความเสียหาย
"การที่รัฐบาลกำลังสรุปว่า ความสุขของคน 1.3 ล้านคนนั้น เป็นคำตอบสุดท้ายว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ซึ่งไม่ใช่แน่นอน ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องรถติด เพราะเราก็ต้องยอมรับว่าที่รถติดเพิ่มขึ้นนั้น สาเหตุไม่ได้มาจาก 'รถคันแรก' อย่างเดียวแน่นอน ผมนั่งคิดดูว่า รถจากโครงการนี้ ความยาวประมาณคันละ 3 เมตร ถ้าเอามาเรียงแถวต่อกันก็จะเท่ากับเกือบ 4ล้านเมตร หรือเท่ากับ 4,000 กิโลเมตร ถ้าเอาไปจอดไว้บนถนนสี่เลนจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ให้เต็มทุกเลน ก็ยังไม่มีที่พอสำหรับ 'รถคันแรก' ทุกคัน”
อดีต รมว.คลัง กล่าวถึงผู้ที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ที่อาจจะเคืองเสียงที่ออกมาค้านและออกมาบ่นอาจเป็นเสียงของผู้ที่มีโอกาสมีรถมาก่อน และเหมือนกับมาพยายามปิดโอกาสของผู้ที่ยังไม่มีนั้น ขอให้เรามองภาพใหญ่ และถามว่า รัฐบาลควรมีนโยบาย 'กระตุ้น' ให้มีการใช้รถยนต์มากขึ้นหรือไม่
“แน่นอนทุกคนมีสิทธิที่จะซื้อรถยนต์ แต่รัฐเก็บ 'ภาษีบาป' (ภาษีสรรพสามิต) จากรถยนต์มาตลอดก็เพราะรัฐรู้ดีว่า การใช้รถนั้นมีผลทางลบกับสภาพแวดล้อมกับสังคม รัฐไม่ได้เก็บภาษีบาปจากการซื้อบ้าน ไม่ได้เก็บจากการซื้อจักรยาน ก็เพราะสิ่งเหล่านั้นมีแต่ประโยชน์ ไม่มีพิษภัยเหมือนรถยนต์” นายกรณ์ กล่าว และว่า ดังนั้นรัฐปล่อยให้ทุกคนที่มีสตางค์ซื้อรถยนต์ได้ แต่ก็ควรต้องเก็บภาษีจากเขาเพื่อนำเงินนั้นมาพัฒนารถเมล์บ้าง สร้างรถไฟฟ้าบ้าง เพื่อที่จะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ที่ไม่มีสตางค์ หรือผู้ที่เลือกที่จะไม่ใช้รถยนต์
นายกรณ์ กล่าวว่า แม้รัฐจะเชียร์โครงการของตัวเองแค่ไหน รัฐก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีคนล้านคนออกมาใช้รถไฟฟ้า ดีกว่ามีคนล้านคนออกมาใช้รถยนต์กันคนละคัน ฉะนั้น ถ้ารัฐมีเงินอยู่แสนล้านบาท ตนถามว่ารัฐควรเอาเงินนั้นไปสนับสนุนการสร้างรถไฟฟ้า หรือการกระตุ้นให้คนซื้อรถเพิ่ม และหากมองอีกแง่มุมหนึ่ง ถ้ารัฐบาลจริงใจจะเพิ่มโอกาสให้ทุกคนได้ซื้อรถจริง ทำไมรัฐบาลไม่ลดภาษีให้มากกว่านี้ และที่สำคัญ ทำไมไม่ลดอย่างถาวร ทำไมต้องมีเงื่อนไขเวลาที่จำกัด คำตอบเดียวที่เป็นไปได้ก็คือเป็นเพราะ นโยบาย 'รถคันแรก' นั้นเป็นเพียง ประชานิยมหาเสียงนั่นเอง
“การกำหนดเวลาที่จำกัด นอกจากจะไม่ยุติธรรมกับผู้ที่ยังไม่พร้อมในช่วงเวลานั้น แต่กลับเป็นตัวกระตุ้นให้ประชาชนซื้อรถยนต์ทั้งๆที่เดิมทีอาจไม่ได้คิดจะมีรถด้วยซ้ำไป สุดท้ายซื้อเพียงเพราะกลัว 'ขาดทุนกำไร' ดังนั้น ผมจึงอยากรู้จริงๆว่าที่เข้าโครงการนี้ เป็นการซื้อรถ 'คันแรก' จริงๆสักกี่คัน”
ทั้งนี้ นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลมีหน้าที่บริหารเงินภาษีให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด ใครได้เงินใครก็ชอบ แต่ในกรณีนี้ พรรคเพื่อไทยคิดผิด หรือแม้แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็รู้ว่า รัฐบาลคิดผิด สุดท้ายรถก็ติด คะแนนเสียงก็ไม่ได้ ผู้คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น งบรัฐบาลก็สูญไป เพียงแต่ต้นทุนพรรคเพื่อไทยเขาไม่มี เพราะเขาไม่ได้ใช้เงินเขาเองเท่านั้น