คุยกับ “ประภัสสร เสวิกุล” อุทกภัย ปี’54 “คนไทยลืมง่าย แค่ปีเดียวก็เลือนๆไปแล้ว”
ต้นเดือนพฤศจิกายน 2554 นักเขียนใหญ่อดีตนักการทูต คิดไม่ถึงว่าจะต้องมานั่งเรือออกจากบ้านของตนเองท่ามกลางความมืดยามโพล้เพล้ผสมกับไฟฟ้าที่ดับมืด เมื่อเรือพายออกมาถึงถนนด้านนอก บรรยากาศชวนให้ยิ่งวังเวงและว้าเหว่มากขึ้นๆ เมื่อเห็นผู้คนที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันนั่งเรียงรายอยู่ริมฟุตบาทข้างทาง ข้าวของอะไรที่หยิบฉวยเอามาก็วางกองอยู่ข้างตัว
แต่ละคนดูสิ้นหวัง หมดที่พึ่ง ไม่มีที่ไป เป็นสภาพที่เหมือนเกิดสงคราม
สงครามน้ำท่วม...
“ด้วยความรู้สึกที่สะเทือนใจ ผมจึงคิดว่า ต้องเขียนอะไรสักอย่างให้คนรุ่นต่อไปได้รู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะถ้าปล่อยให้ผ่านไป สักพักหนึ่งคนก็จะลืม”
“ประภัสสร เสวิกุล” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ บอกเล่าเรื่องราวในอดีตที่ผ่านไปแค่ 1 ปี ให้สำนักข่าวอิศราฟัง ถึงต้นเหตุที่บันดาลใจให้เขียนนวนิยายชีวิตจริง เรื่อง “ลอยคอ”
“ลอยคอ” นวนิยายเรื่องล่าสุดของเขาที่เพิ่งตีพิมพ์เป็นเล่มเมื่อเดือนธันวาคมปีกลาย หลังจากที่ได้ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ลงในนิตยสารสกุลไทยตั้งแต่ต้นปี 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวลาที่สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานครได้เริ่มคลี่คลายแล้ว ผู้คนได้กลับคืนสู่บ้านช่องของตนเพื่อตรวจสภาพความเสียหาย
ขณะเดียวกันเขาก็ได้ ”ทบทวน” และ “เรียนรู้” ถึงบางสิ่งที่ได้ละเลย
ซึ่งการละเลยที่ร้ายแรงที่สุด ที่ผู้เขียนต้องการบอกกับเราผ่านนวนิยายเรื่องนี้ คือ การปล่อยปละ ทิ้งให้ผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นผู้เป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อาศัยอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วม แม้ทราบดีว่า หลายครอบครัวอาจได้เกลี้ยกล่อมให้อพยพออกไปจากบ้านแล้ว แต่ท่านเหล่านั้นก็ยังไม่ยอมไป โดยยกเหตุผลจนผู้เป็นลูกหลานจนใจ ต้องตัดสินใจปล่อยท่านไว้ที่บ้าน แต่ถ้าโชคร้าย นั่นอาจนำมาซึ่งผลร้ายเกินคาดคิด
เพราะฉะนั้นในยามเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงเช่นนี้ เมื่อครอบครัวคือสิ่งสำคัญที่สุด ก็อย่าละทิ้งท่านผู้สูงวัยในครอบครัวให้อยู่เพียงลำพัง
ถัดจากครอบครัว สิ่งสำคัญที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยอย่างน้ำท่วม "ประภัสสร" บอกว่า คือการช่วยเหลือกันเองและการร่วมมือกันในแต่ละชุมชน เพราะ “ถ้าบ้านใดบ้านหนึ่งเห็นแก่ตัว สร้างกำแพงสูงขึ้นมาป้องกัน บ้านตัวเองไม่ท่วม แต่น้ำไปท่วมอยู่บ้านอื่น คนในชุมชนจึงควรจะต้องมาหารือกัน เพื่อร่วมกันแบ่งเบาให้แต่ละบ้านได้รับความเดือดร้อนน้อยลง
หรือแง่มุมของผู้เขียนที่มีต่อภาพการแตกตื่นของคน ที่แย่งกันซื้อสินค้ามากักตุนจนเกินพอดีในช่วงก่อนน้ำท่วม กระทั่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง นม และน้ำดื่ม หมดเกลี้ยง เรียกว่า ขาดตลาด นั้น ก็ทำให้คนที่ควรจะได้บริโภคจริง ๆ กลับไม่ได้บริโภค
"ปัญหาบางอย่างสามารถแก้ไขกันเองได้ภายในชุมชน ถ้าเรารอความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะล่าช้า ไม่ทันการ ไม่เข้าถึงปัญหา"
อย่างไรก็ตามภัยพิบัติทุกประเภทย่อมมีผู้ที่ไม่ประสบภัยเสมอ ซึ่งคนเหล่านี้จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยการบริจาค บุษบา-ตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในเรื่องไม่เห็นด้วยกับ “การบริจาค” เงินทองหรือสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
ประภัสสร-ผู้เขียนได้อธิบายขยายความแทนตัวละครว่า
“การบริจาคเช่นนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่หนทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง และยั่งยืนถาวร สังคมไทยเป็นสังคมของการบริจาคมากเกินไป จนบางทีกลายเป็นแฟชั่น ที่แค่ขอให้ได้เป็นข่าว เป็นเรื่องได้หน้าได้ตาสำหรับบางคนหรือบางองค์กร
รัฐจะต้องเป็นผู้ดำเนินนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยต้องทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ไม่ใช่เอาแต่พูดกันว่าจะทำอย่างโน้นอย่างนี้ แต่สุดท้ายพอน้ำลดก็ไม่เห็นทำอะไรต่อ”
“หรืออย่าง ปัญหาการรุกล้ำคูคลอง ทิ้งขยะลงทางระบายน้ำสาธารณะ ก็เช่นเดียวกับปัญหาอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ เช่น ปัญหาหาบเร่แผงลอยบนฟุตบาท ปัญหารถตู้ ก็เกิดขึ้นจากการที่เราปล่อยปละคนแรกที่ทำ แล้วเราก็ไม่ทำอะไร เช่นเดียวกัน ถ้าเราปล่อยให้คนแรกปลูกบ้านเรือนรุกล้ำคูคลอง มันก็จะเกิดขึ้นตามมาอีกมากโดยที่เราไม่สามารถทำอะไรได้ จนในที่สุดคนกลุ่มนี้ก็กลายเป็นกลุ่มใหญ่ไป การแก้ปัญหาตรงนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่นาน ๆ ถึงจะทำสักครั้ง”
สำหรับบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ประภัสสร มองว่า สื่อเองก็ไม่เข้าใจปัญหา ต่างคนต่างบอก ข่าวที่ออกมาจากสื่อแต่ละช่องทางจึงมีความแตกต่างกันมาก มีการเอานักวิชาการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกมาพูด แล้วก็มีการขัดแย้งกันเอง คนฟังเกิดความสับสน ดังนั้น จึงควรจะมีศูนย์กลางข่าวที่รวบรวมข้อมูลหรือความคิดทั้งหมดก่อนปล่อยออกมา เพราะว่า "ภัยน้ำท่วม" เป็นเรื่องฉุกเฉิน คนควรต้องฟังข่าวอันเดียวที่เชื่อถือได้ และช่วยเหลือคนได้จริง ๆ
เมื่อถามว่า ปี 2554 น้ำท่วมอยู่นานเป็นเดือนสองเดือน อดแปลกใจไม่ได้ว่า ไม่เห็นมีข่าวว่าบ้านคนใหญ่คนโต หรือรัฐมนตรีคนไหนโดนน้ำท่วมเลยเท่าที่ผ่านมา โดยผู้เขียนเลือกเล่าเรื่องนี้ ผ่านปากของคนขับรถ ที่ได้ยินได้ฟังมาอีกทีเหมือนกันว่า บ้านบางแห่งรอดพ้นจากน้ำท่วมเพราะว่ามี “วิธีการพิเศษ” ที่รู้ ๆ กันอยู่
“มันท่วมบางจุดได้ มันแห้งบางจุดได้ บางที่ที่ดอนยังท่วม ที่ลุ่มยังแห้งก็มี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ตอบอย่างเลี่ยงที่จะอธิบายให้ชัดถึงวิธีการพิเศษ ที่ว่านั้น
ในเรื่อง “ลอยคอ” ตัวละครในเรื่องมีการจับคู่ปะทะกันทางความคิดในหลายแบบ ทั้งคู่ตัวละครเอกคือสามีภรรยา ระเด่น-บุษบา ที่เห็นไม่ตรงกันเรื่องการดูแลลูกรวมถึงทัศนคติหลาย ๆ อย่าง กับที่น่าสนใจคือตัวละคร อากู๋ ชายวัยชราที่มีโลกส่วนตัวอยู่ที่แปลงผักและสุนัขสามขาที่แสนผูกพัน แต่เมื่อน้ำท่วมหลากก็จำต้องระเหเร่ร่อนออกจากบ้านและแปลงผักแถมยังพลัดพรากกับหมาสุดรัก
แม้ได้ไปอาศัยอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งโดยมีภิกษุผู้ทรงศีลคอยพูดให้ชายชรารู้จักละวางกับสิ่งที่ผูกพันลงเสียบ้าง แต่ชายชราก็ยังยืนกรานที่จะยึดติดผูกพันกับบ้าน ที่ดิน แปลงผัก และสุนัขคู่ใจ โดยไม่สนใจจะนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาใช้อย่างที่พระแนะนำ โดยให้เหตุผลว่า ตนก็มีสิ่งที่ตนต้องยึดติด เหมือนที่พระก็ยึดหลักธรรมคำสั่งสอนของท่านไป ความคิดของใครก็ของมัน เหมือนผักในแปลง มีประโยชน์ทั้งนั้น แต่ต่างกันตรงที่ว่าจะงอกขึ้นจากแปลงไหนเท่านั้นเอง
ประภัสร เสวิกุล บอกว่า ที่เขียนเช่นนี้ก็เพราะอยากเปิดโอกาสให้คนมีความคิดที่ต่างออกไปได้ ถ้าใครคิดอะไรแตกต่างออกไป ก็ไม่ควรไปจำกัดความคิดเขา และเทียบไปถึงระบบการศึกษาของเราผิดมาตั้งแต่ต้น ที่สอนให้เราคิดจำกัดอยู่ที่คำตอบที่ถูกต้องเพียงข้อเดียว แต่การศึกษาที่แท้จริงควรจะให้คนมีความคิดที่หลากหลายในเรื่องเดียวกัน
นวนิยายแบบ “ลอยคอ” มีโอกาสจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ในอนาคต ประภัสสร-ผู้เขียนมองว่าภัยธรรมชาติเริ่มกระชั้นเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเรารุกรานธรรมชาติมาก ธรรมชาติก็เริ่มรุกรานเราบ้างในรูปแบบต่าง ๆ น้ำท่วมก็อาจเกิดขึ้นได้เร็วขึ้นกว่าที่เคยเป็น
“น้ำท่วมใหญ่ 2554 เราไม่ลืมมัน แต่เราเลือน ๆ ไป ภายในปีเดียวผมคิดว่าหลาย ๆ คนก็เลือน ๆ ไปแล้ว คนไทยไม่ค่อยเจ็บไม่ค่อยจำอะไร มันก็เลยต้องเจ็บซ้ำซาก ปัญหาของเมืองไทยคือไม่ทำอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราว ได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อย ๆ
อยากให้คนไทยจดจำเรื่องเหล่านี้ไว้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ให้จำว่าน้ำท่วมที่ผ่านมา เราเจ็บช้ำอย่างไร เสียหายแค่ไหน แต่เรากลับลืมง่าย และชอบให้อภัย แล้วก็แล้วกันไป ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกก็เป็นความบกพร่องของเราเอง ที่ไม่มีการเตือนตัวเองถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้น”