คนรุ่นใหม่เชิดชู “ท่านผู้หญิงพูนศุข”ภรรยานักการเมืองในอุดมคติ
สถาบันปรีดี พนมยงค์ -มูลนิธิไชยวนา จัดงานรำลึกท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในโอกาสครบรอบ 101 ปีชาตกาล คนรุ่นใหม่ เชิดชูตัวอย่างภรรยานักการเมืองที่ยืนหยัด และภาคภูมิใจ แม้สามีจะยากจน
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับมูลนิธิไชยวนา ได้ร่วมกันจัดงานรำลึกท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 101 ปีชาตกาล โดยมีการเสวนาแสดงทัศนะของคนรุ่นใหม่ ที่มีต่อท่านผู้หญิงพูนศุข ในแง่มุมต่าง ๆ โดยภายในงาน มีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาและร่วมกิจกรรมฉายภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก โดยส่วนมากเป็นบุคคลที่เคยรู้จักกับท่านผู้หญิงพูนศุข ต่างมาร่วมกันรำลึกถึงท่านผู้หญิงพูนศุขในโอกาสครบรอบชาตกาล
อาจารย์สิทธิธรรม โรหิตะสุข อาจารย์วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ที่เคยมีโอกาสได้พบท่านผู้หญิงพูนศุข ขณะยังมีชีวิตอยู่ ได้เล่าว่า ในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ใหม่ ๆ เป้าหมายอันดับต้น ๆ ของไทยคือการเรียกร้องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตคืน และการที่นายปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขครองรักกันแบบ “ผัวเดียว เมียเดียว” นั้น นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลบภาพความล้าหลังด้าน “สิทธิสตรี” ของประเทศไทยในขณะนั้น และได้รับสิทธิภาพนอกอาณาเขตคืนกลับมา
อาจารย์จากวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย กล่าวถึงท่านผู้หญิงพูนศุข ในฐานะที่เป็นภรรยานักการเมืองในอุดมคติ ซึ่งหาได้ยากในปัจจุบันว่า ไม่เคยเห็นมีภรรยานักการเมืองคนไหนที่จะยืนหยัด และภาคภูมิใจแม้กระทั่งในความยากจนของสามีของตนเองที่เสียสละทำงานเพื่อชาติ เพื่อประชาชน แม้ในขณะนายปรีดีติดคุกท่านผู้หญิงพูนศุขก็หมั่นไปเยี่ยม ทั้งนี้นายปรีดีก็ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย เพราะคนที่เป็นนักการเมืองในสมัยนั้น ไม่ว่าจะฝ่ายไหน หลายคนขัดสน ทุกคนทำเพื่อประชาชนทั้งนั้น แล้วก็มีภรรยาเป็นเหมือนคู่ชีวิต ต่างจากสมัยนี้ที่นักการเมืองและคู่ชีวิตของตนส่วนใหญ่ต่างก็ร่ำรวย
“การจะนับถือว่า ใครเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี เราต้องไม่นับเพราะเขาเป็นคนรวยมีเงินหรือเพราะเขาแต่งตัวดี แต่เราจะนับที่เขาทำอะไรให้กับสังคมส่วนรวม ผมคิดว่า ถ้าเราพูดถึงท่านผู้หญิงพูนศุขที่เป็นตัวอย่างด้านนี้มากๆ ก็หวังว่าจะช่วยกันทำให้เกิดกระแสแบบนี้ขึ้นในสังคมปัจจุบันได้บ้าง” อาจารย์สิทธิธรรม กล่าว
ด้านนายกษิดิศ อนันทนาธร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้ดูแลกิจกรรมของป๋วย เสวนาคาร มีความประทับใจต่อท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในหลายประการ อาทิ เป็นผู้ไม่เกรงกลัวต่อความอยุติธรรมโดยเฉพาะการถูกจับกุมในช่วง “กบฏสันติภาพ” เป็นคู่แท้ที่เปรียบเสมือนครึ่งหนึ่งของชีวิตนายปรีดี และยังทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวแทนของสามีหลังจากที่นายปรีดีเสียชีวิตไปแล้ว เป็นผู้ความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะวลีอันเลื่องชื่อที่ท่านผู้หญิงตอบกับคณะรัฐประหารว่า “ทำไมมาเปลี่ยน (รัฐบาล) ที่นี่ (ทำเนียบท่าช้าง) ทำไมไม่ไปเปลี่ยนที่สภา”
“เมื่อผมได้มีโอกาสเข้ามาเรียนที่ธรรมศาสตร์ ท่านผู้หญิงพูนศุข ก็จากโลกไปอยู่กับนายปรีดีเสียแล้ว ผมเองจึงยังไม่มีโอกาสได้เจอกับท่านทั้งสอง อย่างไรก็ตาม ผลของการกระทำของท่านย่อมไม่สูญหายไปจากหัวใจของผม” นักศึกษาผู้ดูแลกิจกรรม “ป๋วยเสวนาคาร” กล่าว
ส่วนนายพงษ์พิทักษ์ สูงสันเขต หัวหน้าพรรคพลังราม มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นคนที่อยู่เพื่อ “ปวงประชา” มากกว่าอยู่เพื่อ “อัตตา” เป็นแบบอย่างที่ดีของการนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาใช้มาดำเนินชีวิต
อนึ่ง หลังจากการเสวนา มีการฉายภาพยนตร์จีนคลาสสิคเรื่อง “Twin Sister” ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นตัวแทนแห่งยุคสมัย ผลงานของยอดผู้กำกับการแสดงรุ่นแรกอย่าง Zheng Zheng Qiu โดยมีการแปลบทบรรยายไทยใหม่เพื่อการฉายในครั้งนี้โดยเฉพาะด้วย