อดีต กก.ป.ป.ช. เกาะติดจำนำข้าว พบเอื้อประโยชน์ ระบายข้าวไม่ถูกต้อง มีความผิดแน่!
อดีตกก. ป.ป.ช.ยอมรับความล่าช้า เป็นความไม่ยุติธรรมประการหนึ่ง ชี้จากนี้ไปต้องสร้างกฎเกณฑ์ที่มีทั้งความถูกต้อง-รวดเร็วให้เกิดขึ้นกับกระบวนการพิจารณาของ ป.ป.ช.ให้ได้
วันที่ 5 มกราคม ศ.เมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวในการบรรยาย "เรื่องพัฒนาการปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทย" แก่ผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 4 จัดโดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ศ.เมธี กล่าวตอนหนึ่งถึงการทำงานที่ผ่านมาของ ป.ป.ช.ที่มีความล่าช้านั้น เนื่องจากมีคดีมาก โดยกว่าครึ่งหนึ่งของคดีทั้งหมดเป็นคดีที่มาจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ฉะนั้น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่เหมือนจะเป็นประโยชน์ แต่ก็เป็นช่องทางที่เอื้อต่อการทุจริตเช่นกัน
"ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้เพิ่ม ป.ป.ท.มาพิจารณาคดีทุจริตเหล่านี้ไปบ้างแล้ว คาดว่าขณะนี้ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องกับ อปท.ค้างอยู่ในกระบวนการกว่า 7,000-8,000 คดี"
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขั้นตอนในการพิจารณาคดีของ ป.ป.ช.จะมีความล่าช้า แต่ ศ.เมธี กล่าวว่า ก็เป็นไปตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัดทุกประการ เป็นความคุ้มค่าในการใช้เวลาพิจารณาคดีอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด แต่ไม่ใช่ล่าช้าจนเกินไป พร้อมกับเห็นด้วยว่า ความล่าช้า เป็นความไม่ยุติธรรมประการหนึ่ง ฉะนั้น จากนี้ต้องสร้างกฎเกณฑ์ที่มีทั้งความถูกต้องและรวดเร็วให้เกิดขึ้นกับกระบวนการพิจารณาของ ป.ป.ช.ให้ได้ โดยปัจจุบันสามารถลดบางขั้นตอนที่ทำให้เกิดความล่าช้าไปได้บ้างแล้ว
ชี้ป.ป.ช.ทำงานต้องสวมแว่นตาพิเศษ
ศ.เมธี กล่าวว่า การที่ ป.ป.ช.จะสามารถเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เป็นอำนาจฐานที่ 4 ซึ่งสามารถพิจารณาทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการได้ ก็ต้องทำงานอย่างสวมแว่นตาพิเศษ ที่ไม่เหมือนองค์กรปกติ แต่เป็นองค์กรพิเศษที่ป้องกัน ปราบปราม และปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมจริงๆ ไม่ใช่องค์กรที่มาจากส่วนขยายขององค์กรอื่น
"ป.ป.ช.ยึดหลัก 3 ประการ ได้แก่ การลงโทษ การป้องกัน และส่งเสริมคุณธรรม ซึ่งการส่งเสริมคุณธรรมมีความสำคัญสูงที่สุด แต่การปฏิบัติที่ผ่านมา พบว่า กว่า 80% เป็นเรื่องการลงโทษ 15% เป็นการป้องกัน และมีการส่งเสริมคุณธรรมเพียง 5% เท่านั้น"
นอกเหนือจากความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาของ ปปช. ศ.เมธี กล่าวว่า ในส่วนของมาตราที่มีปัญหาค่อนข้างมาก ได้แก่ มาตรา157 โดยเฉพาะการตีความและการใช้ดุลยพินิจ ว่าเป็นเหตุเกี่ยวกับการกระทำทุจริต หรือเป็นการกระทำที่สร้างความเสียหายให้เกิดกับผู้อื่นผู้ใด ซึ่งมีโทษเกี่ยวข้องกับความผิดทางวินัยร้ายแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องโดนปลดออกจากตำแหน่ง จึงได้ให้อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมาตราดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีข้อเสนอหลักๆ ว่า ควรมีการแก้ไขปฏิรูปมาตรานี้
ในส่วนของการตั้ง ป.ป.ช.จังหวัด ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ศ.เมธี กล่าวว่า ปัจจุบันเกิดขึ้นแล้วกว่า 40 จังหวัด ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ตรวจสอบทรัพย์สินในการบริหารส่วนท้องถิ่นและรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ซึ่งช่วยลดขั้นตอนของส่วนกลางให้เร็วขึ้น แต่ป.ป.ช.จังหวัด ไม่มีหน้าที่ในการไต่สวนคดีอาญาหรือทางวินัย ที่เป็นอำนาจหน้าที่ของส่วนกลางเท่านั้น
"การตั้ง ป.ป.ช.จังหวัดก็ส่งผลกระทบประการหนึ่งให้ ป.ป.ช.ส่วนกลางเกิดวิกฤติบุคลากร เนื่องจากบุคลากรคุณวุฒิส่วนหนึ่งถูกส่งไปประจำที่จังหวัดต่างๆ กว่า 40 คน และ ป.ป.ช.เองก็มีข้อจำกัดในการพร่องถ่ายบุคลากรจากหน่วยงานอื่นๆ จึงอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กระบวนการพิจารณาล่าช้า"
ศ.เมธี กล่าวถึงคดีสำคัญๆ ที่ ป.ป.ช.พิจารณาและชี้มูลไปแล้ว เช่น คดีทุจริตคลองด่าน โฮปเวลล์และรถดับเพลิง ซึ่งเป็นคดีที่ยังได้รับความสนใจ อย่างคดีโฮปเวลล์ ในปี 2536 รัฐบาลมีเหตุผลเพียงพอในการก่อสร้าง โดยเลือกใช้วิธีการแบบเทิร์นคีย์ (Turn Key) ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะมีความเสี่ยงมากที่จะเกิดความเสียหายและอาจไม่เกิดโครงการใดๆ ขึ้นก็เป็นได้
กรณีมีข้อสงสัยกันมากถึงดุลยพินิจขององค์กรอิสระที่แตกต่างกันในการพิจารณา ตัดสินและชี้มูลคดีนั้น ศ.เมธี กล่าวว่า ป.ป.ช.ในการไต่สวนคดีข้อเท็จจริงต่างๆ ต้องนิ่ง และตรงกัน แต่การพิจารณา ตัดสินและชี้มูลเห็นต่างกันได้ โดยเฉพาะเรื่องเจตนาที่เถียงกันไม่จบไม่สิ้น ต้องพิจารณาว่าทำตามหน้าที่หรือไม่ เช่น กรณีตำรวจขว้างแก็สน้ำตา ป.ป.ช.ไม่ชี้มูล แต่กลับชี้มูลคนสั่ง เพราะหากต้องทำตามคำสั่งหรือเป็นไปตามกฎหมาย ก็ไม่มีความผิด
"มีความเป็นไปได้ที่ดุลยพินิจจะแตกต่างกัน เพราะใช้เหตุผลในการพิจารณาได้ ผมว่ามันขึ้นอยู่กับจริยธรรมของคนมากกว่า"
นโยบายไม่ได้ถูกทุกอย่าง จำนำข้าวมีช่องทุจริตมาก
สำหรับโครงการรับจำนำข้าว ศ.เมธี กล่าวว่า ตนได้ติดตามคดีที่เกี่ยวกับเรื่องการเกษตรมาตลอด พบว่า ตั้งแต่ปี 2547 ที่เริ่มต้นโครงการจำนำข้าว มีคดีทุจริตต่างๆ เข้ามามากมาย เห็นได้ชัดว่าโครงการรับจำนำข้าวมีช่องทางให้เกิดการทุจริตได้ทุกขั้นตอน
"ในช่วงแรก ป.ป.ช.ก็คิดหนักว่าจะสามารถมีบทบาทต่อเรื่องนี้ได้แค่ไหน จะเป็นการก้าวก่ายนโยบายของฝ่ายบริหารหรือไม่ แต่เนื่องจาก ป.ป.ช.อาศัยอำนาจตามมาตรา 19 วรรค 11 ที่มีสิทธิแสดงความเห็น ข้อเสนอ หรือเสนอมาตรการเพื่อปราบปรามการทุจริตได้ โดยส่งให้รัฐสภาและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินว่า โครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริตเกิดขึ้นมาก ขอให้มีการทบทวนหรือเปลี่ยนนโยบาย ซึ่ง ป.ป.ช.ก็ทำหนังสือไปตั้งแต่สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมีท่าทีในรัฐบาลชุดนี้"
ศ.เมธี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลจะทำนโยบายขึ้นมาแล้วถือว่าถูกต้องทั้งหมดคงไม่ได้ การที่กลุ่มอาจารย์นิด้าไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่า รัฐบาลมีความต้องการจะผูกขาดตลาดข้าวในทางปฏิบัติถือว่าผิดกฎหมายนั้นสามารถทำได้ แต่ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับ เนื่องจากตีความตามกฎหมาย ที่ว่าต้องเป็นการขัดกันระหว่างกฎหมาย แต่กรณีนี้เป็น มติ ครม.ไม่ใช่กฎหมาย
"ผมมองว่า นี่ก็คือกฎหมาย อย่างไรก็ตามต้องติดตามผลการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ และ ป.ป.ช.ต่อไป หากพบว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้มีการระบายข้าวอย่างไม่ถูกต้องจริง ย่อมมีความผิดแน่นอน"