ม็อบคนจนค้านรมว.พม.โอนฟ้าผ่า'บ้านมั่นคง'จากพอช.ไปการเคหะฯ
ม็อบคนจนค้านรมว.พม.ใหม่เซ็นโอนฟ้าผ่า‘โครงการบ้านมั่นคง’จากพอช.ไปการเคหะฯ หวั่นใช้เกณฑ์บ้านเอื้ออาทร ทำลายหลักชุมชนจัดการตน ปลัดฯเคลียร์โอนกลับเหมือนเดิม สอช.รอครม. 8 ม.ค. ฟันธง
วันที่ 4 ม.ค. 55 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เครือข่ายสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ราว 200 – 300 คน รวมตัวชุมนุมเพื่อทวงถามและคัดค้านกรณีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.พม. ลงนามเปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบโครงการบ้านมั่นคงจากที่อยู่ในความดูแลของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)ไปยังสำนักงานการเคหะแห่งชาติในแผนงานของพอช.ภายใต้ยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำปี 2556-2561
นายสนั่น อุ่นให้ผล ตัวแทนสอช. กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการบ้านมั่นคงสามารถแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองและชนบทประสบความสำเร็จมาแล้วกว่า 9 หมื่นครัวเรือน นับตั้งแต่รัฐบาลริเริ่มโครงการฯในปี 2546 อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯจากพอช.เป็นการเคหะแห่งชาติเปรียบเสมือนการยุบโครงการฯ เนื่องจากคนจนจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯตามเกณฑ์ของการเคหะฯ ที่ต้องใช้บัตรจ่ายเงินเดือน(สลิปเงินเดือน) หรือ หลักฐานการเงิน ในการขอรับการจัดสรรเช่าซื้อบ้านได้ และชาวบ้านจะต้องสูญเสียความเป็นชุมชนไป โดยต้องถูกจัดสรรให้แยกย้ายไปเช่าซื้อบ้านเอื้ออาทรแทน ซึ่งไม่สามารถเลือกสร้างบ้านตามรูปแบบและความต้องการของแต่ละคนในชุมชนได้อีก
นอกจากนี้คนจนที่เคยผ่อนบ้านในโครงการบ้านมั่นคงเดือนละ 500 – 1,500 บาท ราคาสร้างเองหลังละประมาณ 1-2 แสนบาทตามระบบกองทุนการออมของชุมชนที่รัฐโดยพอช.ช่วยสมทบงบประมาณก็จะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากบ้านเอื้ออาทรในปัจจุบันให้เช่าซื้อในราคาที่แพงกว่ามากและไม่ยืดหยุ่นต่อการชำระหนี้ของคนจน ทั้งอัตราการเก็บดอกเบี้ยยังทวีคูณยากที่คนจนจะแบกรับได้ ต่างจากโครงการบ้านมั่นคงในความดูแลของพอช.ที่ให้คนในชุมชนบริหารจัดการงบประมาณและควบคุมกันเองในอัตราดอกเบี้ยคงที่ อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้สอช.เคยทำหนังสือคัดค้านเรื่องดังกล่าวไปแล้วแต่พม.ยังนิ่งจึงต้องออกมารวมตัวเรียกร้อง
“โครงการบ้านมั่นคงไม่ใช่แค่การสร้างบ้านให้คนจน แต่ยังนำไปสู่การรวมตัวกันออมเงิน เกิดเป็นกองทุนต่างๆ การป้องกันยาเสพติด เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ถ้าโครงการฯเข้าไปอยู่กับการเคหะฯและใช้ระบบเดียวกับบ้านเอื้ออาทร รูปแบบการจัดการตนเองของชุมชนก็จะหายไป ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของโครงการโดยสิ้นเชิง” นายสนั่นกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการชุมนุมมีการสันนิษฐานถึงสาเหตุที่มีการเปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯไปให้การเคหะฯกระทันหันว่า อาจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่ฝ่ายการเมืองจะได้รับ เพราะการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้คนจนจะเปลี่ยนจากการให้คนจนจัดการงบประมาณเพื่อสร้างบ้านกันเองไปเป็นการก่อสร้างหมู่บ้านเอื้ออาทรโดยการรับเหมาของบริษัทเอกชนด้วย
ทั้งนี้ตัวแทนสอช.ได้รับอนุญาตให้เข้าไปหารือกับรมว.พม.ถึงปัญหาดังกล่าวราว 1 ชม. จนได้ข้อยุติ โดยมีนายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงพม. เป็นตัวแทนออกมากล่าวผลการหารือกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่า จากการหารือร่วมกับตัวแทนสอช. รมว.พม.เข้าใจถึงความสำคัญของโครงการบ้านมั่นคงในการช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยของคนจนภายใต้การดูแลของพอช.แล้ว โดยจะปรับแผนงานให้โครงการฯอยู่ในความรับผิดชอบของพอช.ตามเดิม ส่วนงบประมาณที่ต้องใช้ในโครงการนั้นพม.ไม่มีอำนาจอนุมัติ โดยจะต้องให้พอช.ทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป
นางอร่ามศรี จันทร์สุขศรี ตัวแทนสอช. กล่าวภายหลังรับฟังผลการหารือว่า สอช.จะติดตามและสอบถามไปยังพอช.ต่อไปว่าโครงการบ้านมั่นคงจะถูกโอนกลับมาจริงตามที่รมว.พม.สัญญาหรือไม่ ซึ่งหากเรื่องดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้า เครือข่ายสอช.หลายหมื่นคนทั่วประเทศจะรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยในวันที่ 7 – 8 ม.ค.นี้ สอช.จะรวมตัวกันอีกครั้งหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อติดตามดูมติครม.ต่อเรื่องดังกล่าวรวมถึงการอนุมัติงบประมาณในโครงการบ้านมั่งคงด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทั้งนี้โครงการบ้านมั่นคง ประกอบด้วยโครงการบ้านมั่นคงเมือง และบ้านมั่นคงชนบท ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปี 2546 โดยอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพม.ซึ่งมอบหมายให้พอช.เป็นหน่วยงานดำเนินการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสร้างบ้านและจัดสรรที่อยู่อาศัยให้คนจนไร้บ้าน ภายใต้หลักการการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่การวางแผนการบริหารงบประมาณ การสร้างที่อยู่อาศัย การก่อสร้างและกระบวนการพัฒนาอื่นๆ เช่น การจัดตั้งกองทุนชุมชน ปัจจุบันดำเนินการมาแล้วกว่า 90,000 ครัวเรือน 1,600 ชุมชน