ไฟใต้ปี 55 เหตุรุนแรงเฉียด 1 พันครั้ง ตำรวจชี้ฆ่า"อุสตาซ"ทำป่วนหนัก
9 ปีไฟใต้ตาย-เจ็บทะลุ 1.4 หมื่นราย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สรุปเหตุรุนแรงปี 55 ป่วนเฉียด 1 พันครั้ง พลิกข้อมูลตำรวจ เหตุรุนแรงทุกประเภทไม่ได้ลดต่ำกว่าปี 54 สวนทางงบประมาณที่กลับเพิ่มขึ้นในปี 56 ร่วม 5 พันล้าน ผบช.ศชต.ชี้ 3 คดีคาใจ "ยิงอุสตาซ-อิหม่าม-ร้านน้ำชา" ดันไฟใต้โชนส่งท้ายปี
ส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้สรุปสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในรอบปี 2555 ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึง ธ.ค. พบว่า การเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวีนั้น มีทั้งหมด 970 เหตุการณ์
ในจำนวนนี้แยกเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืนจำนวน 546 เหตุการณ์ เหตุระเบิดจำนวน 163 เหตุการณ์ เหตุก่อกวน 21 เหตุการณ์ เหตุวางเพลิง จำนวน 45 เหตุการณ์ และเหตุรุนแรงที่เป็นเรื่องส่วนตัวหรือก่อขึ้นด้วยปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่สถานการณ์ความมั่นคง จำนวน 195 เหตุการณ์
เมื่อนำเหตุรุนแรงในภาพรวม 970 เหตุการณ์ หักออกจากเหตุรุนแรงที่เป็นเรื่องส่วนตัว 195 เหตุการณ์ ก็จะคงเหลือเหตุรุนแรงที่เป็นเหตุความมั่นคง 775 เหตุการณ์ ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 สน.ยืนยันว่ามีทิศทางลดลง
อย่างไรก็ดี เมื่อนำตัวเลขไปเทียบกับสถิติเหตุรุนแรงในปี 2554 ที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) พบว่า มีเหตุความมั่นคงเกิดขึ้นรวม 675 ครั้ง เท่ากับว่าปี 2555 มีสถิติเหตุรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น และเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากปี 2553 ที่เกิดเหตุรุนแรงรวมทั้งสิ้น 652 ครั้ง
ในขณะที่ข้อมูลของ ศชต.เอง ระบุว่า เหตุรุนแรงทุกประเภท (รวมเหตุความมั่นคงและอาชญากรรมอื่น) ในพื้นที่ชายแดนใต้เพิ่มสูงขึ้นจาก 1,085 ครั้งในปี 2554 เป็น 1,450 ครั้งในปี 2555 แต่ถ้านับเฉพาะเหตุความมั่นคงที่แยกแยะเรื่องส่วนตัวออกไปแล้ว ยังถือว่ามีทิศทางลดลง
ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรอบปี 2555 ข้อมูลของส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กอ.รมน.ภาค 4 สน.สรุปว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 391 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 174 ราย ศาสนาอิสลาม 213 ราย และไม่ระบุศาสนา 4 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 907 ราย แยกเป็นผู้ที่ศาสนาพุทธ 616 ราย ศาสนาอิสลาม 289 ราย และไม่ระบุศาสนา 2 ราย
ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2547 (ปีที่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน) ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2555 สรุปว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 4,980 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 9,071 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บตลอด 9 ปีไฟใต้ 14,051 ราย
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่สถิติเหตุรุนแรงไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญตามที่ฝ่ายความมั่นคงเคยแถลง แต่การจัดงบประมาณเพื่อใช้ในภารกิจดับไฟใต้กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยในปีงบประมาณ 2556 ตั้งงบดับไฟใต้ (ตามแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้) สูงถึง 21,124 ล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 ปีงบประมาณตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาที่งบดับไฟใต้ทะลุ 2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของงบประมาณปี 2556 จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท และยังเพิ่มขึ้นกว่างบประมาณปี 2555 ที่ได้รับการจัดสรร 16,277 ล้านบาท ถึงราวๆ 5 พันล้านบาทด้วย
สำหรับหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2556 ในภารกิจดับไฟใต้มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) 7,280 ล้านบาทเศษ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) 2,295 ล้านบาทเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,798 ล้านบาทเศษ
พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการ ศชต. กล่าวว่า จริงๆ แล้วสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปลายปี ทว่าตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค.มีการยิง นายมาหามะ มะแอ อุสตาซ (ครูสอนศาสนา) โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ เสียชีวิตในพื้นที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี (วันที่ 30 ต.ค.) ต่อมาวันที่ 14 พ.ย.มีการยิง นายอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ ประธานชมรมโต๊ะอิหม่าม อ.ยะหา จ.ยะลา เสียชีวิต และวันที่ 11 ธ.ค.เกิดเหตุกราดยิงร้านน้ำชาที่บ้านบาดามูเวาะห์ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำให้พี่น้องมุสลิมเสียชีวิต 4 ราย โดยทั้ง 3 กรณีนี้ประชาชนในพื้นที่อาจมองว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ ทำให้สถานการณ์ในภาพรวมร้อนแรงขึ้น
"ดังนั้นต้องเร่งทำคดี 3 คดีนี้ให้กระจ่างว่าเป็นการกระทำของใคร ถ้าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ก็ต้องนำตัวมาดำเนินคดี แต่ถ้าไม่ใช่ เจ้าหน้าที่ก็ต้องรู้ให้ได้ว่าเป็นการกระทำของใคร และชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ จะเห็นได้ว่าหลังจากเหตุยิงอุสตาซโรงเรียนธรรมวิทยาก็เกิดเหตุรุนแรงต่างๆ ตามมา เรารู้อยู่แล้วว่าเป้าหมายอ่อนแอต่อไปคือครู และหลังจากนั้นก็มีครูถูกยิงอีก 5 ราย และเผาโรงเรียนบ้านบางมะรวด กับโรงเรียนบ้านท่าสู อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี อีก 2 แห่งช่วงปลายเดือน พ.ย. ยิ่งเกิดเหตุกราดยิงร้านน้ำชา ก็มีเหตุยิงครูและเหตุอื่นๆ ตามมา หลายๆ ครั้งมีใบปลิวทิ้งไว้ในพื้นที่ว่าเป็นการตอบโต้ 4 ศพที่ตันหยงลิมอ"
"ผมคิดว่าถ้า 3 เหตุการณ์นี้ไม่เกิดขึ้น การยิงครูอาจไม่มีหรือเบาบางลงก็ได้ เพราะเดือนครึ่งหลังจากเหตุยิงอุสตาซโรงเรียนธรรมวิทยาฯ มีเหตุรุนแรงค่อนข้างมาก ครูได้รับผลกระทบ เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ถ้าเราไม่ทำความจริงให้กระจ่าง ก็จะเป็นที่เคลือบแคลงใจของพี่น้องในพื้นที่ต่อไป และกลุ่มขบวนการก็นำเรื่องนี้ไปทำปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation หรือ IO) ทันที" พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ระบุทิ้งท้าย
----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)