สมาคมนักข่าวฯ สรุปสถานการณ์ 5 ข่าวดังวงการสื่อในรอบปี' 55
ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกรายงานสถานการณ์สื่อปี 2555 ชี้ ปีแห่งการแบ่งขั้ว : จริยธรรมที่ไม่เท่ากัน
วันที่ 1 มกราคม 2556 ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกรายงานสถานการณ์วงการสื่อมวลชนประเทศไทยในรอบปี 2555 ว่า เป็นอีกปีที่วงการสื่อมีพัฒนาการไปอีกขั้น หลังจากธุรกิจสื่อโดยเฉพาะการขยับตัวของสื่อหนังสือพิมพ์ใหญ่หลายฉบับ ที่หันมาลงทุนทำธุรกิจด้านโทรทัศน์มากขึ้น รวมทั้งยังมีผู้ให้บริการกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียมรายใหม่เพิ่มขึ้นหลายราย ซึ่งเป็นผลดีทำให้ประชาชนมีช่องทางในการเลือกรับชมข่าวสารและรายการสนใจ โดยในที่นี้หมายรวมถึงการกำเนิดขึ้นของสถานีข่าว รายการข่าว มากมายเช่นกัน
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันว่า สถานีข่าว หรือรายการข่าวจากโทรทัศน์ดาวเทียมจำนวนหนึ่งเน้นเจาะกลุ่มผู้ชมที่สนับสนุนหรือนิยมชมชอบกลุ่มการเมืองนั้นๆ จนเกิดภาพของการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจนมากขึ้น เพราะผู้ชมที่ชื่นชอบการเมืองกลุ่มใดก็จะติดตามรายการข่าวนั้นๆ มากเป็นพิเศษ แต่นั่นถือเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งแน่นอนว่า ภายใต้เสรีภาพที่เบ่งบานของสื่อ สิ่งที่ตามมาคือปัญหาที่ผู้ชม-บริโภคข่าวจากสื่อใดสื่อหนึ่งเป็นเวลาต่อเนื่อง ที่อาจจะมีบ้างที่ปิดกั้นข้อมูลหรือการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มที่ตรงกันข้าม โดยจะมีการยกกรอบจริยธรรมในวิชาชีพของสื่อที่ตนชื่นชอบว่าเหนือกว่าสื่ออื่นก็เป็นได้
นอกจากนี้แล้ว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯยังได้รวบรวมสถานการณ์ข่าวที่เกิดขึ้นกับสื่อสารมวลชนในประเทศไทย และส่งผลกระทบถึงผู้บริโภคข่าวสาร ในรอบปี 2555 จำนวน 5 เรื่อง ดังนี้
1. การประมูลคลื่น 3จี และปรากฏการณ์จอดำ : ถือเป็นสองเรื่องโด่งดังที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ที่เกิดขึ้นในรอบปี โดยในประเด็นการประมูลคลื่น 3จี นั้น คือ ปมปัญหาที่เกิดจากการที่ กสทช.เปิดประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz ให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ จนนำไปสู่การฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ระงับการออกใบอนุญาต แต่สุดท้ายก็ผ่านพ้นมาได้ จนทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งรอคอยว่า ประเทศไทยจะมีคลื่น 3จี ที่แท้จริงใช้กันหรือไม่ สำหรับปรากฏการณ์ “จอดำ” เกิดเป็นประเด็นในช่วงของการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 2012 ที่เกิดปัญหาเรื่องการรับชมได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากติดปัญหาลิขสิทธิ์ กระทั่ง กสทช.ต้องออกมายืนยันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์จอดำขึ้นมาอีกอย่างแน่นอน
2. วิวาทะแหล่งข่าวกับนักข่าว : เกิดขึ้นจากกรณีที่ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง สัมภาษณ์นักการเมืองระดับรองนายกรัฐมนตรี และเกิดวิวาทะกันทั้งในวงสัมภาษณ์ ลามไปสู่นอกวงสัมภาษณ์ กระทั่งมีการประกาศชัดผ่านสื่อจากนักการเมืองคนดังกล่าวว่าจะไม่ให้สัมภาษณ์หากมีนักข่าวคนดังกล่าวอยู่ในวง ซึ่งเรื่องนี้สมาคมนักข่าวฯ ได้เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดการคุกคามสื่อ และในที่สุดก่อนสิ้นปี 2555 ปรากฏว่านักการเมืองคนดังกล่าวยอมให้สัมภาษณ์นักข่าวคู่กรณีแล้ว
3. จับช่างภาพ : เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปะทะกับผู้ชุมนุมทางการเมืองกลุ่มหนึ่งที่สะพานมัฆวาน ถนนราชดำเนิน กทม. ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง แต่ทว่ามีการจับกุมช่างภาพสื่อมวลชน 3 คน รวมไปกับผู้ชุมนุมด้วย ทั้งที่มีการแสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชนด้วยวิธีต่างๆ โดยฝ่ายตำรวจชี้แจงว่า จับกุมเนื่องจากช่างภาพถ่ายภาพที่ละเมิดสิทธิประชาชน จนทำให้องค์กรวิชชีพสื่อต้องออกแถลงการณ์ตำหนิการทำหน้าที่ของตำรวจ พร้อมกับการยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบเรื่องนี้ รวมถึงการยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภควุฒิสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ช่วยดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงด้วย
4. สื่อโดนตรวจสอบ : เป็นผลสืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอาผิดบริษัทไร่ส้ม ผู้ทำธุรกิจสื่อ ฐานร่วมกันยักยอกเงินโฆษณาของบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) และยังมีมติส่งเรื่องให้อัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาลอีกด้วย จนเกิด 2 กระแส คือกระแสกดดันจากภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องการให้นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทไร่ส้ม แสดงความรับผิดชอบ และขณะเดียวกันก็มีกระแสอีกด้านที่ให้การสนับสนุนนายสรยุทธ
5. สงครามเฟซบุ๊ก : เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงหลัง ทั้งในแวดวงข่าวการเมือง หรือแวดวงข่าวอื่นๆ ที่มีการนำข้อความจากพื้นที่ส่วนตัวที่เป็นสาธารณชนเข้าถึงได้อย่าง “เฟซบุ๊ก” ของบุคคลที่เป็นเจ้าของเฟซบุ๊กที่สื่อเชื่อว่าเป็นแหล่งข่าว มาเป็นข้อมูลและประเด็นในการเขียนข่าว และสอบถามกับบุคคลที่ถูกเขียนพาดพิง โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบว่า บุคคลเจ้าของเฟซบุ๊กนั้นเป็นคนเขียนหรือโพสต์ข้อความด้วยตัวเองจริงหรือไม่ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเป็นปัญหาเชิงจริยธรรมในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
1 มกราคม 2555