"โชคชัย วงศ์ตานี" กับวิธีหยุดประวัติศาสตร์บาดแผลชายแดนใต้!
อาจารย์โชคชัย วงศ์ตานี แห่งศูนย์การจัดการความขัดแย้ง สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.หาดใหญ่) ให้สัมภาษณ์ แวลีเมาะ ปูซู ผู้สื่อข่าวของศูนย์ข่าวอิศราเอาไว้ในวาระ 8 ปีเหตุการณ์ตากใบ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ชายแดนใต้ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีค่อนข้างร้อนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์สังหารครูติดๆ กันหลายคน ทำให้บทสัมภาษณ์ดีๆ ชิ้นนี้ตกค้าง ไม่ได้นำเสนอตามจังหวะเวลาที่วางแผนไว้
อาจารย์โชคชัย เป็นนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ "ปาตานี" เอาไว้อย่างละเอียดลึกซึ้ง มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง มุมมองของเขาทั้งในประเด็นที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 25 ต.ค.2547 และปัญหาภาพรวมของความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจและไม่อาจปล่อยให้ผ่านเลยไปได้ โดยเฉพาะมุมมองในมิติประวัติศาสตร์
ปัญหาความรุนแรงรอบใหม่ ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวานที่ "เสียงปืนแตก" มาตั้งแต่ต้นปี 2547 นับถึงวันนี้กำลังเดินทางมาครบ 9 ปี ใกล้จะเต็ม 1 ทศวรรษแล้ว และกำลังกลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลหน้าใหม่ของชายแดนใต้ โดยที่จุดจบของความรุนแรงรอบนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะบันทึกกันไว้อย่างไร
อาจารย์โชคชัย แนะทางออกเพื่อยุติประวัติศาสตร์บาดแผล และเปิดบันทึกหน้าใหม่ว่าด้วยสันติสุข
O เหตุการณ์ตากใบส่งผลต่อคนในพื้นที่อย่างไร และจะกลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลอีกบทหนึ่งของคนชายแดนใต้หรือไม่?
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ตากใบถูกยกขึ้นพูดคุยในแทบทุกเวที โดยเฉพาะในแวดวงวิชาการ ไม่เฉพาะแค่ในประเทศ แต่แม้กระทั่งในยุโรปและเวทีต่างประเทศอื่นๆ ก็มีการยกประเด็นนี้พูดคุยกัน จะเห็นว่า คุณแยนะ สะแลแม (รู้จักกันดีในนาม "ป้าแยนะ") หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ (สูญเสียลูกชาย) เคยไปพูดที่ไอร์แลนด์ เหตุการณ์นี้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือคนมุสลิมในพื้นที่อื่นๆ ล้วนรับทราบและพูดถึงกรณีตากใบ
ฉะนั้นต้องขอบอกว่ามันเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลจริงๆ เพียงแต่ว่าประวัติศาสตร์บาดแผลในความเป็นบาดแผลมันไม่เท่ากันระหว่างผู้ได้รับผลกระทบกับผู้ถูกกระทำ หรือคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับคู่กรณีที่ทำให้เกิดปัญหา
ถามว่าตากใบเป็นบาดแผลเดียวที่ชายแดนใต้หรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะยังมีบาดแผลอื่นๆ อีกมากมาย อย่างกรณีกรือเซะ (เหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547) หรือกรณีไอร์ปาแย (เหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 8 มิ.ย.2552) ก็ตาม รวมถึงบาดแผลในมุมของเพื่อนต่างศาสนิก เช่น ชาวพุทธ ครอบครัวที่สูญเสีย เพียงแต่ประวัติศาสตร์ตากใบกับกรือเซะมันมีจำนวนของผู้เสียชีวิตเยอะมาก ประเด็นก็คือว่าเราจะนับว่าเป็นประวัติศาสตร์ไหม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความรู้สึกและความสูญเสีย ทั้งมุมมองของภาครัฐ รวมถึงภาคประชาชน และสร้างปัญหาตามมาอีกพอสมควร ทั้งในมุมของแม่หม้ายหรือเด็กกำพร้าจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น
O เหตุการณ์ตากใบจะกลายเป็นเงื่อนไขที่สร้างปัญหาไปเรื่อยๆ หรือไม่?
ถ้าสังเกตจาก 8 ปีที่ผ่านมา มีการใช้เหตุการณ์ตากใบเป็นเงื่อนไขพอสมควร แทบทุกปีเงื่อนไขนี้ถูกใช้ทั้ง 2 ส่วน ในส่วนแรกคือ "สื่อ" ที่พยายามจะบอกว่าครบรอบเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งเป็นปัจจัยชี้นำบางอย่างทำให้คนดูข่าวต้องมานั่งหวนคิดว่าเหตุการณ์ครบวาระนั้นแล้วหรือ? เหตุการณ์ตากใบเกิดมากี่ปีแล้ว? ต้องเฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้นไหม? ผมคิดว่าสื่อก็เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นทำให้สังคมหันมาสนใจปัญหา
ส่วนที่ 2 คือฝ่ายของแนวร่วมหรือผู้ก่อการ (ขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐ) เองก็ตาม มันไม่มีตัวชี้วัดอะไรที่แน่ชัดว่าครบรอบวันนี้แล้วจะต้องก่อเหตุ เพียงแต่ว่ารัฐเองตั้งป้อมที่จะมองว่าเมื่อครบรอบต้องมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นแน่นอน
ทุกรอบปฏิทิน มีเหตุการณ์ครบรอบมากมาย เช่น วันก่อตั้งขบวนการ เหตุการณ์กรือเซะ ไอร์ปาแย ฯลฯ จะมีอย่างนี้เรื่อยๆ ถ้าเราใช้ตรรกะของการครบรอบเป็นปัจจัยชี้นำที่จะต้องเฝ้าระวังเหตุรุนแรง มองว่าสถานการณ์จะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ผมคิดว่าเรามองการครบรอบในด้านลบมากเกินไป ทั้งๆ ที่การครบรอบในต่างประเทศที่มีสงครามการเมือง วิธีครบรอบที่เขาใช้มีหลายแง่มุม เช่น การรำลึกถึงความสูญเสีย รำลึกถึงความผิดพลาดของรัฐ ตรงนี้ผมคิดว่ายังมีแง่มุมอื่นๆ ที่เราสามารถใช้การครบรอบเป็นการชี้นำในการระลึกถึงอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่ใช่ความรุนแรงได้
O วิธีการเมื่อถึงวาระครบรอบ เป็นตัวกำหนดเงื่อนไขด้วยอย่างนั้นหรือ?
เหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน (เดือนแห่งการถือศีลอดของมุสลิม) ฉะนั้นเงื่อนไขจึงขึ้นอยู่กับว่าค่านิยมของสังคมไทยหรือคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไร คิดว่าเมื่อการครบรอบได้มาบรรจบแล้วจะทำอะไร สิ่งที่น่าสนใจคือเราใช้วาระครบรอบเป็นวันที่ 25 ต.ค. คือยึดปฏิทินไทยเป็นหลัก แต่ตามปฏิทินอิสลามจะไม่ตรงกัน ฉะนั้นบทบาทสำคัญในทางศาสนา ตากใบเป็นเรื่องของรอมฎอน ผมคิดว่าคนที่ระลึกถึงเหตุการณ์ตากใบอาจจะมีบางส่วนที่นึกถึงในเดือนรอมฎอนมากกว่า
การครบรอบทำได้หลากหลายวิธีในอิสลาม มันมีวิธีการที่เป็นสันติวิธีอีกมาก เช่น งานเมาลิด การทำบุญ ละหมาด เลี้ยงเด็กกำพร้า รวบรวมแม่หม้ายที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาเพื่อให้เขารู้สึกว่าแม้เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วและผ่านไปแล้ว ชีวิตเขาดีขึ้นภายใต้การดูแลของรัฐ หรือกลุ่มที่ได้รับการเยียวยา คนที่ได้มากก็ช่วยเหลือคนที่ได้น้อย หรือคนที่ไม่ได้เลย จะทำอย่างไรให้เขาได้รับความยุติธรรม เท่าเทียม เสมอภาค
O ในแง่ประวัติศาสตร์มีทางออกเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผลอย่างไร?
ทางออกในแง่ประวัติศาสตร์เราคงแก้ไม่ได้ เพราะประวัติศาสตร์ก็คือความจริงที่เกิดขึ้น แล้วก็ผ่านระยะเวลาไป เพียงแต่ว่ามุมมองและจุดยืนทางประวัติศาสตร์อาจจะแตกต่างกัน คนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็มองเหตุการณ์ตากใบอย่างหนึ่ง ผู้สูญเสียก็มองแบบหนึ่ง คนพุทธมองอีกมุมหนึ่ง ทุกคนล้วนมองเหตุการณ์ตากใบในแง่มุมของตน เมื่อเป็นประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ฝ่ายใด และคุณอยู่ในมุมมองใดที่มองเหตุการณ์นั้น ซึ่งทุกคนก็เสียใจกับการจัดการปัญหาเรื่องม็อบที่ล้มเหลว
หรืออีกหลายคนเห็นตากใบในแง่มุมอื่นที่ไม่ได้รู้สึกเพียงแค่ความสูญเสียเท่านั้น แต่มีเรื่องของการพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมไทย การจัดการการประท้วงของสังคมไทย รัฐควรจะมีวิธีการจัดการอย่างไรให้เจ้าหน้าที่รับมือได้อย่างถูกต้อง ผมคิดว่าสิ่งนี้ก็เป็นการป้องกันประวัติศาสตร์บาดแผลที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตข้างหน้า
ถามว่าจะแก้อย่างไร ผมคิดว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องเรียนรู้ว่าเราจะกลับไปแก้อดีตไม่ได้ แต่เราสามารถวางแผนรับมือครั้งหน้าไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกได้ ถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีก รัฐหรือทุกฝ่ายจะมีวิธีการรับมืออย่างไร
O มีความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐแค่ไหน?
สิ่งที่น่าพึงพอใจประการหนึ่งก็คือ รัฐบาลชุดนี้ผ่านประวัติศาสตร์บาดแผลในกรณีราชประสงค์ (เหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อ พ.ค.2553) และใช้เกณฑ์เยียวยา 7.5 ล้านบาทมาเป็นมาตรฐานเดียวกับการเยียวยาคนในพื้นที่ แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าก็คือการเยียวยาลักษณะอย่างนี้เป็นแค่การซื้อเวลาหรือเปล่า หรือเป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม หรือมันสามารถเบ็ดเสร็จในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมในเชิงอื่นๆ ด้วยว่าคนเหล่านั้นถูกพิพากษาอย่างไร คนที่สูญเสียทุกครอบครัวไหมที่ได้รับการเยียวยา บางท่านได้ไปทำฮัจญ์ แล้วคนอื่นๆ ที่อยู่ในสถานะเดียวกันได้ไปหรือไม่
ผมคิดว่าความเหลื่อมล้ำของการแก้ไขปัญหาก็ถือเป็นปัญหาเหมือนกัน ถ้าเราไม่ดูแลให้ดี เพราะในบรรดาผู้สูญเสีย ผมไม่แน่ใจว่าได้เข้าถึงทุกคนหรือเปล่า บางครั้งอาจจะถูกตั้งคำถามในเรื่องความยุติธรรม ผมคิดว่าในเชิงปริมาณก็ควรดู แต่ในเชิงคุณภาพก็ไม่ควรมองข้าม
O ในแง่ความเป็นธรรม รัฐต้องคืนอะไรอีกบ้างนอกเหนือจากความเป็นธรรมทางกฎหมายและการเยียวยา?
ความเป็นธรรมมีหลายแง่มุม ทั้งในแง่กฎหมาย ทรัพยากร ผมคิดว่าสำคัญที่สุดบางครั้งอาจจะไม่ใช่เรื่องปัจจัยภายนอก แต่เป็นเรื่องของจิตใจ คุณธรรมเชิงศาสนา ที่นี่เราใช้กฎหมายไทยก็จริง แต่เราก็มีความยุติธรรมในแง่องค์ประกอบของอิสลามเช่นเดียวกัน ในอิสลามการสูญเสียแบบนี้ คำว่ายุติธรรมที่แท้จริงมันสอดคล้องหรือเห็นต่างกับกรณีการเยียวยาและการให้ความหมายของคำว่ายุติธรรมในแง่ของรัฐไทยอย่างไร ผมคิดว่าผู้นำศาสนาสามารถให้ข้อมูลตรงนี้ได้
O ทางออกสำหรับเด็กที่เป็นผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ต้องทำอย่างไร?
เด็กที่สูญเสียผู้นำครอบครัวไป กว่าที่เขาจะก้าวผ่านและยืนได้ด้วยตนเองนั้นต้องใช้เวลา อันหนึ่งที่อยากเสนอต่อสังคมคือกลุ่มผู้หญิงออกมาทำงานกันเยอะขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ไม่ควรละทิ้งก็คือ การที่ต้องมีองค์กรทำงานด้านเด็กกำพร้า รูปธรรมที่สำคัญไม่เฉพาะเพียงแค่การเอามารวมกันแล้วมาเรียนศาสนา แต่มันมีมิติในเรื่องของการฝึกอาชีพและการศึกษา เพื่อเขาจะไม่กลับไปเลือกใช้ความรุนแรง
การศึกษาทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้นที่จะไม่จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับภาครัฐ ถ้ารัฐดูแลกลุ่มเหล่านี้ได้ดีพอ ก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่แม้จะไม่สามารถแก้ประวัติศาสตร์ได้ทั้งหมด แต่สามารถบรรเทาหรือเยียวยาความรู้สึกชอกช้ำ เจ็บแค้น ของการถูกกระทำในคราวนั้นได้
O ข้อเสนออื่นๆ ที่อาจารย์เห็นว่าสำคัญและฝ่ายต่างๆ อาจจะหลงลืมไป?
รายงานของคณะกรรมการที่ศึกษาผลกระทบหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นใหม่ๆ ผมคิดว่ามีข้อเท็จจริงบางประการที่น่าสนใจ เราจะสามารถเรียนรู้บทเรียนจากคณะกรรมการที่เข้ามาสืบสวนสอบสวนข้อผิดพลาดของเหตุการณ์ในคราวนั้นๆ ได้อย่างไร มีเรื่องอะไรบ้าง และสรุปบทเรียนหรือผลการสืบสวนสอบสวนนั้นเป็นเรื่องที่สังคมไทยทั้งสังคมต้องพิจารณาว่าต่อไปเราจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร
อีกประการหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงคือ ที่ฝังศพกรณีตากใบ ผมจำได้ว่าที่ฝังศพมากที่สุดคือที่ตะโละมาเนาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และยังมีอีกหลายศพที่ไม่มีการสืบค้นด้วยซ้ำว่าคนที่ตายคือใคร สิ่งที่เราเห็นและได้สัมผัสจากปัญหาตากใบล้วนมาจากโครงสร้างหลักๆ หรือคนสำคัญๆ ในกรณีตากใบที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อรองกับภาครัฐ ผมคิดว่าในอีกหลายสิบคนที่เสียชีวิต ยังมีอีกหลายคนหรือเปล่าที่ยังไม่ได้รับความสนใจหรือเอ่ยถึง
ฉะนั้นเป็นไปได้ไหมที่จะทำให้ที่ฝังศพของกรณีตากใบที่อยู่ใกล้กับมัสยิดตะโละมาเนาะเป็นอนุสรณ์สถานบางอย่าง แทนที่เขาจะไปประท้วงหรือระลึกถึงคนที่เสียชีวิตด้วยวิธีการอื่นๆ ผมคิดว่าการทำให้พื้นที่ทางศาสนา เช่น กุโบร์ (สุสาน) หรือมัสยิด ถูกทำให้มีความสำคัญมากขึ้น จะทำให้ตากใบได้รับการจดจำในอีกแง่มุมหนึ่ง มากกว่าขับรถผ่านหน้า สภ.ตากใบ แล้วรู้สึกว่าที่ตรงนี้คือจุดเกิดเหตุ ผมคิดว่าที่ฝังศพของคนเสียชีวิตในคราวนั้นสำคัญพอๆ กับการสร้างอนุสาวรีย์ให้กับเจ้าหน้าที่บางคนที่เสียชีวิตในปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยซ้ำไป
ถ้าสังเกตปัญหาในรอบปีที่ผ่านมา จะพบว่า อ.บาเจาะ เกิดเหตุถี่ที่สุด ฉะนั้นเป็นไปได้ว่าสาเหตุที่ถี่ที่สุดคือยังถอนเข็มจากความเจ็บแค้นกรณีตากใบไม่หมด ในทางวิชาการเราไม่เคยทำ เช่น หลายสิบศพที่เกิดจากกรณีตากใบนั้น คนที่เสียชีวิตที่นั่น รวมถึงคนบาดเจ็บ นอกจากคนตากใบแล้ว มีหมู่บ้านไหนมากที่สุด แล้วหมู่บ้านเหล่านั้นยังอยู่ในโซนสีแดงหรือไม่ใช้ความรุนแรงแล้ว ในทางวิชาการหากมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์จากอดีต ก็จะสามารถนำมาทำเรื่องบาดแผลเพื่อแก้ไขเยียวยาในระยะยาวได้ ผมคิดว่าปัญหาประวัติศาสตร์บาดแผลแก้ไขได้ แต่มันก็ต้องใช้วิธีการที่ยากและสลับซับซ้อนหลายประการ
O อยากถามอาจารย์เรื่องการข่มขู่ให้หยุดทำงานวันศุกร์ อาจารย์มีความเห็นอย่างไร การอนุญาตให้หยุดราชการวันศุกร์จะเป็นหนึ่งในทางออกด้วยหรือไม่?
การหยุดวันศุกร์มันมีในประวัติศาสตร์จริงๆ ว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น รัฐบาลไทยประกาศให้หยุดวันพฤหัสบดีครึ่งวัน และหยุดวันศุกร์เต็มวันมาแล้ว การเสนอให้หยุดวันศุกร์เป็นสิ่งที่ดีมาก นักวิชาการด้านสันติภาพที่เป็นคนพุทธเองก็พูดว่าทำไมเราไม่ให้เขาหยุดวันศุกร์กับวันเสาร์ แล้วกลับมาทำงานวันอาทิตย์ เพื่อทำให้สังคมไทยเห็นว่ามีความหลากหลายในเรื่องวันหยุด
เราลองดูประเทศมาเลเซีย มีวันหยุดภาพรวมระดับประเทศกับวันหยุดประจำรัฐ ทำไมเราไม่ทำให้แต่ละกลุ่มจังหวัด แต่ละภูมิภาคสามารถมีวันหยุดที่เป็นวันหยุดเฉพาะท้องถิ่นได้ เช่น ใน ม.อ.มีปัญหาทุกปี ก็คือวันอีด (ปีหนึ่งมี 2 ครั้ง เป็นวันเฉลิมฉลองหลังเดือนรอมฎอน และการประกอบพิธีฮัจญ์) มุสลิมหาย พอถึงวันบุญเดือนสิบ คนพุทธก็หาย แล้วทำไมเราไม่ทำให้วันเหล่านี้ที่มันสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนเป็นวันหยุดราชการเฉพาะท้องถิ่น
วันหยุดที่เป็นเกณฑ์กลางที่ผ่านมาในสังคมไทยถูกกรุงเทพฯกำหนด ผมคิดว่าปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มันทดสอบการกระจายอำนาจของไทย ทดสอบในเรื่องของการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นจัดการตนเองให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต หากให้การหยุดราชการวันศุกร์เป็นวันหยุดประจำของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะสอดคล้องวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นของที่นี่
การที่ทางเลขาธิการ ศอ.บต. (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาใต้) จัดการปัญหาเรื่องการเยียวยากรณีตากใบ 7.5 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ทำให้ได้ใจคนในพื้นที่ ถ้าทำเรื่องหยุดวันศุกร์ได้อีก ก็จะยิ่่งทำให้เป็นที่ยอมรับเพิ่มมากขึ้น ผมคิดว่าถ้าจะสร้างสันติภาพ ต้องกล้าเปิดรับ กรณีอาเซียนเรายังกล้าเปิดรับความเป็นอาเซียน แล้วเราจะปิดความหลากหลายของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ
----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 โชคชัย วงศ์ตานี (ภาพโดย แวลีเมาะ ปูซู)
2 กุโบร์ที่ตะโละมาเนาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส (ภาพโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร)