ปราชญ์ชาวนาแนะเก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยเคมี ตั้งกองทุนเกษตรอินทรีย์
‘เดชา ศิริภัทร’ ชี้15ปีวาระเกษตรอินทรีย์ล้มเหลว เหตุรัฐไม่จริงใจปฏิรูปการถือครองที่ดิน ภาษีอัตราก้าวหน้าไม่เกิด แนะเก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยเคมี ตั้งกองทุนเกษตรอินทรีย์
นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราต่อประเด็นที่ดินทำกินซึ่งเป็นปัญหาหลักของเกษตรกรไทยว่า ที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในมือคนรวยซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์และกระจายไปถึงคนยากจนจำนวนน้อย ทำให้เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาส่วนใหญ่ต้องเช่าที่ดินทำกิน โดยเห็นว่าการปฏิรูปที่ดินจะเป็นการแก้ปัญหาพื้นฐานดังกล่าว เพราะหากที่มีดินเป็นของตน ชาวนาก็จะดูแลรักษาซึ่งจะส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและการพัฒนาภาคเกษตรกรรมก็จะยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งต้องใช้เวลาปรับปรุงดินถึง 3 ปีจึงจะได้ผลผลิตที่ดี
“ที่ผ่านมาการปฏิรูปที่ดินไม่ได้ผลเพราะรัฐไปเอาที่ดินป่าสงวน ที่ดินสาธารณะมาจัดสรรแทนที่จะเอาที่ดินมาจากคนรวยตามหลักการกระจายที่ดิน ยิ่งไปกว่านั้นก็ง่ายที่ที่ดินจะหลุดมือจากคนจนที่ได้รับสิทธิ์แล้วขายทอดให้คนรวยหรือรีสอร์ตทั้งหลายที่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับที่สาธารณะก็เป็นผลมาจากการปฏิรูปทั้งนั้น ต่อไปที่ดินหลวงก็จะกลายเป็นของคนรวยหมด รัฐบาลต้องทำให้ที่ดินเป็นของคนหว่านไถคนใช้ประโยชน์จริงให้ได้ก่อน ไม่ใช่คนไม่ใช้ประโยชน์เก็บที่ดินไว้เยอะแยะ” นายเดชากล่า
โดยเสนอว่ารัฐบาลต้องจำกัดจำนวนถือครองที่ดิน โดยการเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าแบบทวีคูณตามจำนวนการถือครองและการใช้ประโยชน์ เพื่อป้องกันไม่ให้คนรวยแห่ซื้อที่ดินจากคนจนเพื่อเกร็งกำไรได้ หรืออาจกำหนดให้คนรวยขายที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์แก่รัฐหรือธนาคารที่ดิน แล้วจึงนำไปขายผ่อนให้เกษตรกรในราคาถูก วิธีการเช่นนี้จะช่วยให้การปฏิรูปที่ดินซึ่งประกาศมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2517 เกิดขึ้นได้จริง
ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ยังกล่าวถึงอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางแนวทางเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นการผลิตอาหารอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคว่า ปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรไทยใช้กว่าร้อยละ 90 คือปุ๋ยที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยไม่มีมาตรการเก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยตั้งแต่ในปี2534 สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน โดยการเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สมัยนั้นซึ่งอ้างการลดต้นทุนให้ชาวนา โดยเห็นว่าการไม่เก็บภาษีปุ๋ยเคมีและการที่รัฐบาลอนุญาตให้โฆษณาปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงอย่างกว้างขวาง ทำให้เกษตรกรถูกมอมเมาด้วยการใช้สารเคมีเพื่อเร่งผลผลิต จนเชื่อว่าหากไม่ใช้ปุ๋ยเคมีแล้วจะได้ผลผลิตไม่งอกงาม ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุน ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพผู้บริโภคและตัวเกษตรกรเอง ทั้งที่แนวทางเกษตรอินทรีย์ซึ่งไม่ใช้ปุ๋ยเคมีนั้นมีต้นทุนถูกกว่าและให้ผลผลิตทัดเทียมกันหรือมากกว่า
ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีความพยายามผลักดันให้มีการเก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งในยุครัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ปี 2543) และยุครัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ก็ไม่ประสบผลแม้จะมีการทำประชาพิจารณ์ผ่านทั้ง 2 ครั้งก็ตาม เนื่องจากเรื่องดังกล่าวไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพราะมีเบื้องหลังเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ระหว่างบริษัทปุ๋ยและฝ่ายการเมือง ทำให้ ‘เกษตรอินทรีย์’ ซึ่งเคยประกาศเป็นวาระแห่งชาติไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ปี 2540 จึงไม่เคยประสบผล
นายเดชา ยังเสนอให้เก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยเคมีแล้วนำเงินที่ได้มาจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ รูปแบบเดียวกับการตั้งกองทุนของสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่ได้มาจากการเก็บภาษีเหล้าบุหรี่ ก็จะเป็นแนวทางที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถพึ่งตนเองพึ่งธรรมชาติด้วยการทำเกษตรอินทรีย์อย่างมีความรับผิดชอบและลดต้นทุนการผลิตได้มากขึ้น .
ที่มาภาพ ::: http://www.rsunews.net/index.php/news/detail/4165