แก้โลกร้อนส่อเค้าเหลว ทั้ง ปท.พัฒนา-กำลังพัฒนาปฏิเสธลดกาซเรือนกระจก
เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกแก้โลกร้อนร้อยละ 15 เพื่อมนุษยชาติส่อเค้าเหลว ทั้ง ปท.พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาปักธงผลประโยชน์พัฒนาอุตสาหกรรมชาติ เตรียมถกเป้าลดกาซภาคเกษตรอีกรอบ มิ.ย.
นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 18 (COP 18) และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 8 (CMP 8) ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 26 พ.ย.–9 ธ.ค. 55 ณ กรุงโดฮา ได้มีข้อตกลงสำคัญที่นำไปสู่การดำเนินงานในอนาคตหลายฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก สำหรับพันธกรณีระยะที่ 2 ของพิธีสารเกียวโตในช่วง ปี ค.ศ. 2013-2020 ร้อยละ 18 จากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปี ค.ศ. 1990 ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วได้เข้าร่วมลดก๊าซเรือนกระจกลดลง
อย่างไรก็ตามแคนาดาได้ถอนตัวออกจากพิธีสารเกียวโต ส่วนญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และรัสเซีย ไม่ส่งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก และสหรัฐอเมริกายังคงยืนยันไม่เข้าร่วมพิธีสารเกียวโตเช่นเดิม ทำให้ผลรวมปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะถูกควบคุมภายใต้พิธีสารเกียวโตมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 15 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกโลก ดังนั้น ความพยายามที่จะรักษาอุณหภูมิโลก เพื่อการปรับตัวของระบบนิเวศน์ จนไม่ก่อให้เกิดภัยคุกคามความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
สำหรับภาคเกษตร ผลการเจรจายังไม่สามารถนำไปสู่ข้อตัดสินใจของ COP 18 เพราะยังต้องเจรจาข้อตกลงเนื้อหาร่างข้อตัดสินใจภาคเกษตร ประกอบด้วยหลักการ มาตราที่เกี่ยวข้องในอนุสัญญาฯ และประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนายังเห็นต่างกันทั้งหลักการความร่วมมือ หัวข้อสัมมนาผลกระทบและการปรับตัว และการลดก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร ประเทศพัฒนาแล้วยังต้องการให้ปรับรายงานเชิงเทคนิคที่จัดทำขึ้นตั้งแต่ ปี 2551 ให้ทันสมัย
ส่วนประเทศกำลังพัฒนา ต้องการให้ลำดับความสำคัญเรื่องการปรับตัวของภาคเกษตรก่อน โดยอินเดียแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร
ทั้งนี้ประเด็นที่ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนามีความเห็นสอดคล้องกัน คือการดำเนินงานใดๆ ของภาคเกษตรภายใต้ SBSTA ต้องเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การประเมินองค์ความรู้ และศักยภาพ และให้คำแนะนำเรื่องโครงการวิจัยและความร่วมมือวิจัยและพัฒนาระหว่างประเทศ ทั้งนี้ส่วนความเห็นที่ยังแตกต่างกันของทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาอีกครั้งในการประชุม SBSTAมิ.ย.56 .
ที่มาภาพ : http://www.consumersongkhla.org/paper/229