ส.นักข่าววิทยุฯ ชี้ท่ามกลางความขัดแย้ง สื่อต้องรับผิดชอบต่อสังคม-วิชาชีพ
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ฯ เปิดรายงานสถานการณ์สื่อในรอบปี '55 สะท้อนมาตรฐานองค์กรวิชาชีพ ยันท่ามกลางความขัดแย้ง สื่อต้องรับผิดชอบต่อสังคม-วิชาชีพ
วันที่ 27 ธันวาคม สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สรุปรายงานสถานการณ์สื่อวิทยุและโทรทัศน์ ในรอบปี 2555 ในชื่อ "ภาพสะท้อนสื่อไทยปี 2555.... ปีแห่งการถูกตรวจสอบทางจริยธรรม และปีแห่งความยากลำบากในการทำหน้าที่สื่อมวลชนท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง"
ตลอดปี 2555 ที่ผ่านมา แม้สังคมไทยจะผ่านพ้นจากช่วงวิกฤตความแตกแยกทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองขั้นรุนแรงมาแล้ว แต่สภาพสังคมก็ยังไม่อาจก้าวข้ามความขัดแย้งและความเห็นต่าง จึงเป็นความยากลำบากของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารให้เป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่าย จนบางครั้งสื่อมวลชนก็ตกเป็นจำเลยของสังคม
การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบันมักจะถูกตั้งคำถาม ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกตรวจสอบและเผชิญกับข้อท้าทายอย่างหนักในเรื่องจริยธรรมของสื่อมวลชนจากสังคม ภาคประชาชนและเอกชนอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นเสียงเรียกร้องว่า เสรีภาพของสื่อต้องมาควบคู่กับจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงมีการรวบรวมสถานการณ์ต่างๆในรอบปี 2555 ที่สะท้อนให้เห็นภาพรวมสถานการณ์สื่อไว้ดังนี้
1. ปี 2555 เป็นปีที่สื่อ ถูกตรวจสอบและท้าทายทางจริยธรรมปฏิเสธไม่ได้ว่าในรอบปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนตกเป็นข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมที่มีความท้าทายทางจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นข่าวสื่อมวลชนเดินทางไปดูงานทวีปยุโรปกับประธานรัฐสภา และกรณีของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด และนายสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคม เมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพสื่อ ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับกลไกและมาตรฐานการตรวจสอบจริยธรรมโดยองค์กรวิชาชีพสื่อว่ายังมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่
2. สถานการณ์แทรกแซงและละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อยังคงมีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี เมื่อสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือไปยังประธานโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) เพื่อขอลดจำนวนช่างภาพ และผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ที่ถูกวางตัวไว้เป็นทีมล่วงหน้า เพื่อรายงานข่าวการประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติและแทรกแซงการทำหน้าที่สื่อ
ต่อมาผู้สื่อข่าวหญิงของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 คนเดียวกันนี้ ได้เกิดการกระทบกระทั่งกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้ ร.ต.อ.เฉลิมปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหากมีผู้สื่อข่าวหญิงคนดังกล่าวรวมอยู่ในกลุ่มด้วย ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งในการกดดันสื่อ ให้ไม่ได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
นอกจากนี้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในระหว่างการสลายการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ก็มีการทำร้ายร่างกายของช่างภาพสื่อมวลชนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ มีการใช้กำลัง ใช้ความรุนแรงในการควบคุมตัวช่างภาพสื่อมวลชนขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการติดตามตรวจสอบหรือชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
3.แม้ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมืองจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ความแตกแยกในสังคมไทยอันเนื่องมาจากอุดมการณ์และความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันยังคงอยู่ การสร้าง "สื่อการเมือง" ที่มีจุดยืน "เลือกข้างเลือกสี"ทางการเมืองอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม และอื่น ๆ เพื่อมุ่งหวังการสร้างมวลชนของตนเองมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ เห็นว่า ยังมีความจำเป็นที่สื่อมวลชนจะต้องยืนหยัดต่อสู้ในการทำหน้าที่อย่างยึดมั่นในความถูกต้อง นำเสนอข้อมูลที่รอบด้านอย่างเที่ยงธรรม ตามหลักจริยธรรมวิชาชีพและปราศจากอคติ ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และรักษาความเป็นมืออาชีพในการค้นหาความจริง ต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาไว้ ซึ่งประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด
4.ตลอดปี 2555 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการออกใบอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ โดยมีผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและใหม่ทยอยยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์และวิทยุชุมชน ซึ่งนับเป็นการจัดระเบียบการประกอบกิจการอย่างเป็นรูปธรรม ในรอบ 10-15 ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนาคุณภาพของสื่อมวลชนและปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบต่อประชาชน นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้นี้ กสทช. ยังจะนำระบบโทรทัศน์ดิจิตอลมาใช้ในการแพร่ภาพและสัญญาณอีกด้วย
5.สื่อมวลชนไทยมีความตื่นตัวในการเตรียมก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน มีความพยายามนำเสนอข่าวประชาคมอาเซียนที่แพร่หลายมากขึ้น โดยเน้นในเรื่องมิติทางเศรษฐกิจค่อนข้างมากกว่าด้านอื่นๆ อย่างไรก็ตามเนื่องจากประชาคมอาเซียนครอบคลุมไปถึงมิติด้านสังคมวัฒนธรรม การเมืองและความมั่นคง ดังนั้นสื่อมวลชนต้องให้ความสำคัญในการนำเสนอข่าวในมิติเหล่านี้ด้วย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นว่าในปี 2555 ที่ผ่านมา แม้ว่าสื่อต้องทำงานท่ามกลางแรงกดดันหลายอย่าง แต่สื่อมวลชนก็จะต้องยืนหยัดทำหน้าที่อย่างถูกต้อง พัฒนาการทำงานของสื่อให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ทำหน้าที่รักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ภายใต้ปณิธานเสรีภาพสื่อที่มีความรับผิดชอบทั้งต่อสังคมและต่อวิชาชีพควบคู่กัน