ทุจริตที่ปลายขวาน!
แม้จะใกล้เทศกาลปีใหม่ แต่ที่ชายแดนใต้ยังมีประเด็นน่าสนใจให้พูดถึงอีกหลายเรื่อง อย่างเช่น ข่าวฮือฮาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือเหตุการณ์บุกเผาอาคาร อบต.บาเจาะ (หลังเก่า) เมื่อ 20 ธ.ค.
จู่ๆ ก็มีกลุ่มชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธครบมือบุกเข้าไปถามหาข้าราชการไทยพุทธหนึ่งเดียวของ อบต. เมื่อไม่พบก็ไล่ข้าราชการมุสลิมออกจากสำนักงาน แล้วก็จุดไฟอาคารจนวอด
วันแรกหลังเกิดเหตุก็สรุปกันว่าเป็นการก่อความไม่สงบ ไล่ล่าข้าราชการไทยพุทธ แต่พออีกวันคดีชักเริ่มสะดุด ส่อเค้าโอละพ่อ เมื่อตำรวจให้น้ำหนักไปที่การเผาทำลายเอกสารหลักฐานเชื่อมโยงการทุจริต เพราะเพิ่งมี สตง. กับ ปปง.ลงพื้นที่ไปเกาะติดตรวจสอบ คดีมันก็เลยเริ่มเบี่ยงเบน...
ต่อมานายก อบต.ออกมาปฏิเสธข่าวอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะประเด็นที่ว่ากำลังถูก สตง.กับ ปปง.สอบ แต่ยอมรับว่าเพิ่งมีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ติดต่อขอหลักฐานเพิ่มเรื่องบัญชีทรัพย์สินของตัวท่านเอง แต่ที่น่าสนใจคือข้อมูลที่ท่านพูดทิ้งท้ายเอาไว้ว่า มีปัญหาความขัดแย้งภายใน อบต.อยู่ด้วย!!!
ข้อมูลจากคนในพื้นที่เองแบบนี้ ทำให้พออนุมานได้ว่าเหตุการณ์รุนแรงหลายๆ ครั้งมันเป็นเรื่องผลประโยชน์และความขัดแย้ง (กันเอง) ใช่หรือไม่ แต่มีขบวนการสร้างสถานการณ์ให้มันใหญ่ กลายเป็นปัญหาแบ่งแยกดินแดน
บทเรียนจากเรื่องนี้ก็คือ กรณีบุกเผา อบต.บาเจาะ ก็ต้องสืบสวนสอบสวนเชิงลึุกกันต่อไป แต่ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่ชายแดนใต้มันมีอยู่จริง และรุนแรงไม่แพ้ที่ไหนๆ แต่ไม่ค่อยมีใครเปิดโปง เพราะไปติดกับดักเรื่องความรุนแรง จะว่าไปเอาแค่เรื่องใกล้ๆ ตัวที่เพิ่งเกิดมาไม่นาน ก็พอจะชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างได้สัก 2-3 เรื่อง
1.การทลายแหล่งกักเก็บน้ำมันเถื่อนในเมืองปัตตานีของ "เสี่ยคนดัง" เมื่อวันที่ 17 ต.ค. เจ้าหน้าที่พบหลักฐานที่คนร้ายพยายามเผาทำลาย แต่ยังพอเห็นตัวอักษรหลังรอยไหม้ เป็นรายชื่อข้าราชการน้อยใหญ่จากหลายหน่วย "รับส่วย" กันชื่นบาน ตอนนี้จัดการไปถึงไหนแล้ว...วานบอก?
2.เหตุการณ์กล้องวงจรปิดที่ถูกเผาทำลายเมื่อเช้ามืดวันเสาร์ที่ 22 ธ.ค.ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี จริงๆ เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดมาตลอดตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ความเสียหายนับถึงปัจจุบันน่าจะเกิน 200 ตัว ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ยอมรับว่าบางส่วนน่าจะเป็นการ "เผาเอางบ" คือเผาเพื่อตั้งงบจัดซื้อใหม่ แล้วตัวเองก็ได้หัวคิว ฟันกำไรอีกทอดหนึ่ง
ขณะเดียวกัน การที่กล้องวงจรปิดถูกทำลายได้ แสดงว่าไม่มีการดึงภาพไปที่จอมอนิเตอร์ หรือมีการดึงภาพไปที่จอแต่ไม่มีคนเฝ้าหน้าจอ เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่าไม่รู้จะติดเอาไว้ทำไม เพราะเท่ากับติดให้โจรเผาทำลายนั่นเอง
หลายรัฐบาลที่ผ่านมา มีโครงการจัดซื้อกล้องวงจรปิดสำหรับพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงมหาดไทย แต่โครงการก็ล้มไป ติดตั้งได้ไม่ตามเป้า ส่วนที่ติดได้ก็ไร้ประสิทธิภาพ เหมือนเป็นพื้นที่ถูกสาป เป็นแดนสนธยาตลอดกาล
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตที่ปรึกษานายกฯ ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้ข้อมูลว่า เคยมีการเสนอติดกล้องวงจรปิดเป็นโครงข่าย ตั้งแต่ด่านเข้าพื้นที่สามจังหวัดที่บ้านเกาะหม้อแกง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี รถที่ผ่านด่านนี้ทุกคัน คนในรถทุกคนต้องลงมาถ่ายรูป แล้วจะมีเครือข่ายกล้องตามจับภาพทุกอำเภอ มอนิเตอร์จากกรุงเทพฯได้ ถ้าขนระเบิดมา หรือคนในรถหายไปก่อเหตุรุนแรง ลงรถตรงไหนก็ตรวจสอบได้หมด
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อที่มีบางหน่วยในพื้นที่บอกว่าไม่จำเป็นต้องใช้ อ้างว่ากล้องสู้คนไม่ได้ ไม่รู้กำลังย่ามใจกับส่วยน้ำมันเถื่อนและยาเสพติดอยู่หรือเปล่า?
ยิ่งน้ำมันเถื่อนขายกันเกร่อ ยาเสพติดระบาดหนัก ปัญหาใต้ยิ่งแก้ยาก เพราะชาวบ้านไม่เชื่อน้ำยาเจ้าหน้าที่ คนเขาเห็นด่านทั่วพื้นที่ ก็เกิดคำถามว่าสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาได้อย่างไรถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่เกี่ยวข้อง นี่แหละคือสาเหตุที่ว่าทำไมชาวบ้านถึงเชื่อโจรมากกว่าคนของรัฐ
3.สืบเนื่องจากเรื่อง อบต.ที่เล่าค้างไว้ตอนต้น สะท้อนว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นของหน่วยงานระดับท้องถิ่นมีสูงมาก (หมายถึงกรณีทั่วไป ไม่ใช่กรณี อบต.บาเจาะ ที่กำลังตรวจสอบกันอยู่) การจัดซื้อจัดจ้างทำกันอย่างเสรี แทบไม่มีใครควบคุม โดยอาศัยสถานการณ์ความไม่สงบเป็นช่องโหว่ มีคนเคยเล่าให้ฟังว่า ข้าราชการจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจรับงานบางหน่วยไม่ยอมเข้าพื้นที่สามจังหวัดด้วยซ้ำ เพราะกลัวอันตราย จึงไปเช่าโรงแรมนอนที่หาดใหญ่ แล้วเรียกหน่วยงานเจ้าของโครงการไปชี้แจง
ว่ากันว่าอาคารบางหลังในพื้นที่ ตามแบบต้องสร้าง 2 ชั้น แต่สร้างจริงเหลือแค่ชั้นเดียวก็มี เพราะไม่มีใครไปตรวจ เล่นกันถึงขนาดนั้น พอถึงฤดูตรวจรับงานก็จะพบผู้รับเหมาและผู้แทนหน่วยราชการหอบแปลนอาคารวิ่งเข้าวิ่งออกหาดใหญ่กันให้วุ่น ลายเซ็นรับรองความถูกต้องมีราคาค่างวดเท่าไรคงไม่ต้องพูดกันให้มากความ
นี่ยังไม่นับเหตุการณ์เผาแล้วสร้าง สร้างแล้วเผา เพราะผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ผู้รับเหมา และโจร บางทีก็เป็นคนเดียวกัน...
ทั้งหมดนี้คือความสับสนอลหม่าน ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวาน และคำตอบส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับ 9 ปีไฟใต้ว่าทำไมมันไม่สงบเสียที!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่เข้าเก็บหลักฐานจากเศษซากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ถูกเผาที่ อ.รามัน จ.ยะลา เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2555 (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์แกะรอย ฉบับวันอังคารที่ 25 ธ.ค.2555