กษ.จัดประกวดสมาร์ทฟาร์มเมอร์-ชูต้นแบบชาวนาผลิตข้าวคุณภาพ ต้นทุนต่ำ
กษ.เปิดตัวโครงการ‘ประกวดเกษตรกรปราดเปรื่อง’ ส่งเสริมต้นแบบปลูกข้าวต้นทุนต่ำ กำไรดี มีคุณภาพ ใช้เคมีน้อย นำร่อง10จังหวัดฤดูนาปรัง เชื่อมศูนย์ข้าวชุมชนเผยแพร่ความรู้ เริ่ม ธ.ค.55 – พ.ค.56
วันที่ 26 ธ.ค. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นาย ยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) แถลงข่าวเปิดตัวโครงการประกวด ‘เกษตรกรปราดเปรื่อง’ หรือ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ด้านการผลิตข้าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกมากว่า 30 ปี แต่สถานการณ์ปัจจุบันข้าวไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558 การสร้างเกษตรกรไทยให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่องเป็นผู้มีความรู้ในเรื่องการผลิตข้าว โดยเน้นส่งเสริมเกษตรกรที่ปลูกข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำและผลกำไรสูงสุด โดยมีส่วนราชการร่วมบูรณาการด้านวิชาการและเทคโนโลยี และจัดทำชุดข้อมูลองค์ความรู้กระบวนการผลิตข้าวของเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพ โดยประสานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(กระทรวงไอซีที)นำความรู้เผยแพร่ไปยังศูนย์ข้อมูลไอซีทีชุมชนด้วย
ด้านนายชาญพิทยา ฉิมพาลี ประธานคณะกรรมการประกวดเกษตรกรปราดเปรื่องระดับกระทรวงฯกล่าวว่า โครงการประกวดเกษตรกรปราดเปรื่องแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกดำเนินการระหว่างเดือนธันวาคม 2555 - พฤษภาคม 2556 นำร่องในพื้นที่ปลูกข้าวฤดูนาปรัง 10 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร และกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพื้นที่ในโครงการจัดระบบการปลูกข้าว และระยะที่สอง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นฤดูปลูกข้าวนาปี โดยจะขยายไปทั่วประเทศและดำเนินการในพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวตั้งแต่ 200,000 ไร่ขึ้นไป
โดยในการคัดเลือกรอบแรกคณะกรรมการประกวดเกษตรกรปราดเปรื่องด้านการผลิตข้าวระดับจังหวัดจะรับสมัครเกษตรกรที่สนใจและมีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการและคัดเลือกให้ได้จังหวัดละ 10 คน โดยมีคุณสมบัติดังนี้ คุณสมบัติทั่วไป 6 ด้าน(100 คะแนน) 1.มีความรู้ด้านการผลิตข้าว (20 คะแนน) โดยสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือให้คำแนะนำ ปรึกษาแก่ผู้อื่นได้ 2.มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ (15 คะแนน)โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูล วางแผน บริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เข้าถึงแหล่งข้อมูลทั้งจากเจ้าหน้าที่ และระบบสารสนเทศ หรือสื่อสารอื่นๆ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 3.มีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค (15 คะแนน) โดยมีการผลิตข้าวตามระบบ GAP หรือเกษตรอินทรีย์ หรือการผลิตที่ได้มาตรฐานในระบบอื่นๆ
4.มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (15 คะแนน) โดยมีกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่องจนได้รับการยอมรับจากสมาชิกชุมชน 5.มีความภูมิใจในความเป็นเกษตรกร (15 คะแนน) มุ่งมั่นในการประกอบอาชีพทำนา รักและหวงแหนพื้นที่ทำนาไว้ให้รุ่นลูกหลานต่อไป และมีความสุขในการประกอบอาชีพ และ6.มีการบริหารจัดการผลผลิตและการตลาด (20 คะแนน) โดยมีความสามารถในการบริหารจัดการ สร้างความเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดเพื่อให้ขายผลผลิตได้
ทั้งนี้ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะ คือ มีความสนใจและความพร้อมไปสู่การเป็นเกษตรปราดเปรื่องด้านการผลิตข้าว เช่น สมาชิกกลุ่มเกษตรกรดีเด่นสาขาทำนา ยุวเกษตรกร เป็นต้น และมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเดียวกับพื้นที่ประกวด โดยมีพื้นที่การทำนาติดต่อกัน 1 แปลง ขนาด 5 ไร่
จากนั้นหลังการเก็บเกี่ยวข้าวคณะกรรมการจะคัดเลือกผู้ชนะการประกวดจำนวน 3 รางวัล โดยตัดสินจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ ได้ผลผลิตสูง และมีกำไรสุทธิสูงสุด ทั้งนี้เกษตรกรผู้ชนะเลิศรางวัลที่ 1 จะได้รับโล่และเงินรางวัล 30,000 บาท, รางวัลที่ 2 ได้รับโล่และเงินรางวัล 20,000 บาท, รางวัลที่ 3 ได้รับโล่และเงินรางวัล 15,000 บาท และรางวัลชมเชย จำนวน 7 รางวัลได้รับโล่และเงินรางวัล 5,000 บาท
ผู้สื่อข่าวถามถึงคุณสมบัติวิธีการปลูกข้าวของเกษตรกรว่าจำเป็นต้องเป็นการปลูกข้าวด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมีเท่านั้นหรือไม่ รมว.กษ.กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรสามารถใช้สารเคมีในการปลูกข้าวได้ แต่เน้นให้ลดจำนวนการใช้สารเคมีน้อยลงเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและมีคุณภาพ
ด้านนายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวจะนำโครงการประกวดฯไปบูรณาการกับโครงการต่างๆของกรมการข้าว เช่น ศูนย์ข้าวชุมชน หมู่บ้านลดต้นทุนการผลิตข้าว หรือการพัฒนาคุณภาพข้าว GAP โดยเฉพาะการเชื่อมโยงองค์ความรู้กับศูนย์ข้าวชุมชนของกรมการข้าว โดยให้เกษตรกรปราดเปรื่องเป็นผู้วิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ชาวนาต่อไป