บริหารจัดการน้ำปี 54 เอียงไปด้านป้องกันอุทกภัยมากเกินขอบเขต
นักวิชาการ ชี้บริหารจัดการต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แต่ละส่วนต้องการการจัดการที่แตกต่างกัน ย้ำชัดน้ำท่วมเมืองก็แก้ไขเจาะลงมาที่เมืองเป็นหลัก ขณะที่ธ.โลก พบการเบิกจ่ายเงินงบฯ บริหารจัดการน้ำยังล่าช้ากว่ากำหนด
รศ.มานพ พงศทัต อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงภาพรวมการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลในรอบปี 2555 ว่า การสร้างหน่วยงานกลาง และการเชื้อเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาวางแผนระยะยาวนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่การจัดการน้ำในประเทศไทย ตามโครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ก็เป็นการใช้เงินฟุ่มเฟือยเกินเหตุ โดยเฉพาะเมื่อมีการจ้าง Consultants ใหญ่มาคุมทั้งหมด เพราะมีประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ เรื่องเนื้อหาโครงการ ที่อาจไม่สามารถเจาะลงลึกในรายละเอียดโครงการได้
“การบริหารจัดการต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แต่ละส่วนต้องการการจัดการที่แตกต่างกัน เมื่อน้ำท่วมเมืองคือปัญหาใหญ่ การแก้ไขก็ควรเจาะลงมาที่เมืองเป็นหลัก อีกทั้งเมื่อแต่ละพื้นมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน การกระจายงานให้ท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเชื่อว่าจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
รศ.มานพ กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการน้ำสามารถทำได้ ไม่ว่ากัน แต่ต้องให้คิดให้รอบคอบ เพราะการจ้าง Consultants นั้น นอกจากเป็นการใช้เงินฟุ่มเฟือย ยังเหมือนเป็นการย้อนกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ทั้งที่ข้อมูลเหล่านี้เรามีหมดแล้ว ไปดูได้กรม กระทรวงต่างๆ จัดทำแผนไว้หมด ต้นน้ำ ต้องมีเขื่อนมีกี่เขื่อน กลางน้ำ กำหนดพื้นที่ใช้น้ำ กำหนดพื้นที่การเพาะปลูกไว้เรียบร้อย เพียงแต่ไม่มีการปฏิบัติ ไม่มีการประสานกัน
“ผมขอยืนยันว่า ข้อมูลเรื่องน้ำ ไม่มีใครรู้ดีเท่าคนไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้ที่มีความรู้ดีที่สุดในเรื่องนี้ คำถามคือเราเคยฟังพระราชดำริของพระองค์หรือไม่ รวมถึงคนที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์ เราก็ไม่เคยฟัง สุดท้ายผมเลยกังวลว่า ประเทศอาจไม่ได้อะไร ไม่มีตัวงาน ได้แต่ถกเถียงกัน เขียนออกเป็นหนังสือเก็บไว้บนหิ้งเท่านั้น”
รศ.มานพ กล่าวถึงสิ่งที่ต้องระมัดระวังจากการจ้าง Consultants ด้วยว่า อาจกลายเป็นวิธีหนึ่งในการพร่องถ่ายเงินผ่านกระบวนการทางการเมืองที่ถูกต้องและง่ายที่สุด เนื่องจากการจ้าง Consultants ไม่มีมาตรฐานราคากลาง จะจ้างเท่าไหร่ก็ได้
ด้านนายวีระ วงศ์แสงนาค ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่ปรึกษากรมชลประทาน และอดีตรองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำในรอบปีที่ผ่านมา ภายใต้ระบบซิงเกิลคอมมานด์ (Single Command) ที่มี กบอ.เป็นแกนหลักในการบริหารจัดการเรื่องน้ำว่า การดำเนินการของ กบอ. จัดว่า ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากความกังวลในเชิงนโยบายที่มากเกินไป ไม่ให้น้ำท่วมเลย ทำให้การบริหารจัดการน้ำเอนเอียงไปในด้านการป้องกันอุทกภัยมากเกินขอบเขต ประกอบกับการขาดการยอมรับความจริงในบางเรื่อง เช่นว่า ไทยเป็นประเทศที่ต้องการน้ำในการเพาะปลูกจำนวนมาก ซึ่งเมื่อมีความกังวลมากไปก็เป็นปัญหา ได้ด้านหนึ่งก็ต้องเสียด้านหนึ่ง การหากดำเนินการดังกล่าวจึงอาจทำให้ประเทศไทยเผชิญกับภัยแล้ง
ขณะที่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เมื่อตอนต้นปี 2555 ถึงวันนี้ยังไม่มีการเบิกเงิน ไม่มีการใช้เงิน ซึ่งก็เป็นการพิสูจน์ถึงความจำเป็นเร่งด่วน กับเหตุผลที่รัฐบาลอ้างต้องออกเป็น พ.ร.ก.หรือไม่ ในเมื่อข้อเท็จจริง เราก็รับรู้แล้วว่า ไม่ได้เร่งด่วนขนาดนั้น และพ.ร.ก.นี้ก็ไม่ควรจะต้องผ่านออกมา
ส่วนนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง และหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านทรัพย์สิน กระทรวงการคลัง กล่าวถึงการออก พ.ร.ก. วางระบบบริหารจัดการน้ำ แต่ถึงปัจจุบันนี้ การเบิกจ่ายก็เป็นไปอย่างล่าช้า ยังไม่สามารถนำเงินมาใช้ได้ว่า ต้องมีความพร้อมเสียก่อน
“การกู้เงินมาทำอะไร ไม่ใช่นึกอยากจะใช้เงินก็ใช้ได้ รัฐบาลจะหาเงินก็ต้องออกกฎหมาย ทำโครงการก็ต้องหาโครงการที่เหมาะสม ทำการศึกษา และเปิดประมูล ทั้งหมดย่อมใช้เวลา ทำให้การเบิกจ่ายเงินล่าช้าออกไป”
ทั้งนี้ ธนาคารโลก ได้ออกรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ระบุถึงการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำฯ ซึ่งเงินทุนดังกล่าว เป็นเงินนอกงบประมาณ เหมือนกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2552 (ไทยเข้มแข็ง 1 และ 2 ) ดังนั้นงบฯ ก้อนดังกล่าวจึงไม่ปรากฎอยู่ในดุลงบประมาณ แต่จะปรากฎอยู่ในหนี้สาธารณะ โดยธนาคารโลก พบว่า การเบิกจ่ายงบฯ เพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการน้ำของไทยนั้น ยังล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ ทำให้การใช้จ่ายเงินในประเทศลดลง มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ปี 2556