ร้องรัฐยกเครื่องมื้อกลางวัน รร.13บาท ทำเด็กไทยไอคิวต่ำกว่าเพื่อนบ้าน
เผยเด็กไทยไอคิวต่ำกว่าเพื่อนบ้าน เหตุกินเกินแต่ขาดสารอาหาร ร้องรัฐยกเครื่องนโยบายอาหารกลางวันในโรงเรียน-งบ 13บ.ค่าวัสดุยังไม่พอ แนะ อปท.สมทบทุน-สร้างมาตรฐานเมนูกลางศูนย์เด็กเล็ก
รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยในเวทีวิชาการ “อาหารในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนของเด็กไทย คุณภาพความปลอดภัยใครกำหนด” จัดโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เมื่อเร็วๆนี้ว่าปัญหาโภชนาการที่สำคัญของเด็กไทยมีทั้งการขาดสารอาหารและการบริโภคเกิน ทั้งการขาดสารไอโอดีนและเป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และโรคอ้วน ล้วนมีผลต่อปัญหาพัฒนาการ สุขภาพ และไอคิวของเด็กไทยซึ่งถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน ต่ำกว่าประเทศอื่นในทวีปเอเซีย การได้รับอาหารอย่างเพียงพอเหมาะสมจากโรงเรียนจึงช่วยแก้ปัญหา
นางอุไร อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์โรงเรียนสวนส้ม จ.สมุทรปราการ กล่าวว่ายากที่จะให้โรงเรียนจัดอาหารตามมาตรฐานได้ด้วยงบประมาณ 13 บาทต่อวันที่ได้รับจัดสรรจากรัฐ ซึ่งไม่เหมาะสมกับความเป็นจริงปัจจุบันที่จะจัดบริการอาหารคุณภาพได้ แค่ค่าวัตถุดิบก็ยังไม่พอ ซึ่งโรงเรียนยังต้องแบกภาระค่าแรงแม่ครัว ค่าก๊าซหุงต้ม และอื่นๆ หากจะให้มีแม่ครัวคุณภาพมีความรู้โภชนาการก็ต้องมีการลงทุนมากกว่านี้
นายสาธิต กลิ่นภักดี ท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าจากประสบการณ์ของจังหวัดภูเก็ตนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)สามารถเข้ามามีบทบาทพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวันในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน โดยการทำงานเป็นเครือข่ายกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ต้องเร่งพัฒนามาตรฐานศูนย์เด็กและโรงเรียน โดยเฉพาะมาตรฐานเมนูกลาง พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้โภชนาการ และตรวจประเมินอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ อปท.สามารถสมทบงบประมาณค่าอาหารเพิ่มเติมได้ตามบริบทของพื้นที่
น.พ.ธีรพล โตพันธานนท์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ากรมอนามัยพร้อมสนับสนุนด้านวิชาการผ่านทางสื่อนวัตกรรมของกรม อบรมบุคลกรให้มีความรู้และมีการประเมินพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งการบูรณาการความรู้โภชนาการในหลักสูตรการเรียนการสอน และการจัดอาหารเสริมที่มีความจำเป็นแก่เด็กกลุ่มเสี่ยงเช่น ยาเสริมธาตุเหล็กโดยมีเป้าหมายให้โรงเรียนสามารถจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพแก่เด็กทุกคน และมีการควบคุมอาหารว่าง อาหารที่ไม่มีประโยชน์ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน
นายสง่า ดามาพงศ์ เครือข่ายโภชนาการสมวัย เผยว่าการพัฒนาระบบการจัดอาหารในโรงเรียนของประเทศไทยถือเป็นความท้าทายของสังคม ที่ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะผลักดันให้มีการยกเครื่องระบบอาหารภายในโรงเรียน ทั้งด้านทรัพยากร งบประมาณ การบริหารจัดการ เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยมีพัฒนาการที่สมวัยและเป็นทรัพยากรที่สำคัญในอนาคต .
ที่มาภาพ : http://www.fscc.or.th/thai/d_gift.html