มองเรื่องโกง ผ่านสายตา “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” สุดท้ายไม่มีใครขอรับ!
เป็นศิลปินอีกหนึ่งคนที่ช่วงหลังมานี้ โดดเข้ามาจับงานต้านคอร์รัปชั่นแบบเต็มตัว สำหรับ ‘เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2536 และกวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์ เรื่อง“เพียงความเคลื่อนไหว”
ปัจจุบันอาจารย์เนาวรัตน์ รับตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป ผลิตผลงานเรื่องสั้น-หนังสั้น "เล่าเรื่องโกง" ตีแผ่สู่สาธารณะเป็นระยะ เพื่อหวังให้ประชาชนรู้เท่าทันการโกงผ่านงานศิลปะ ซึ่งเป็นสื่อที่อาจารย์เชื่อว่าซึมลึกเข้าถึงจิตใจคนได้ง่ายที่สุด
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสพบกับอาจารย์เนาวรัตน์อีกครั้ง พร้อมแลกเปลี่ยนทัศนะในเรื่องโกงๆ ที่สุดท้ายอาจารย์มองว่า ต่อให้เห็นคาตาก็ยังจับไม่ได้...(?) พร้อมขายไอเดียสัญลักษณ์แห่งการประจาน ‘กากบาทสีแดง’
‘อิศรา’ ถาม – ในทัศนะของอาจารย์มองเรื่องคอร์รัปชั่นอย่างไร?
‘เนาวรัตน์’ ตอบ - ผมคิดว่าเรื่องของคอร์รัปชั่น คือเรื่องของการโกง คอร์รัปชั่นคือการโกงที่จับไม่ได้ การโกงคือคอร์รัปชั่นที่จับได้ เพราะฉะนั้นมันจับไม่ได้เลยในเรื่องนี้ ถึงแม้จะมองเห็นกับตา คาตา มันก็ยังจับไม่ได้
และถ้าแปลเป็นภาษาไทยอีกที คอร์รัปชั่น คือ คอร์รัปฉันที่ไม่มีใครขอรับ มีแต่โกงกินครับ !!
ที่สำคัญคือเรื่องโกงที่ผมว่านี้ มันเป็นทั้งผิดกฎหมาย และไม่ผิดกฎหมาย การโกงทางจริยธรรม โกงทางศีลธรรม ก็เป็นการโกงอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องที่เรามองเห็นกันอยู่ บางทีเราก็คิดว่าเออ..ปล่อยๆมันไป
จนกระทั่ง...ทำให้มันลุกลามถึงขั้นกลายเป็นโกงผลประโยชน์ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องอันตราย และทำให้คนไทยตกอยู่ในสภาวะที่ว่า โกงเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่เห็นเป็นไร ใครๆ มีโอกาสที่จะโกงได้ก็โกง เพราะมันเป็นเรื่องของสังคมแข่งขัน การเอาชนะคือการได้เปรียบ การได้เปรียบมันก็เลยทำให้เอาเปรียบคนอื่นได้อีก
‘อิศรา’ ถาม – แล้วทำไมช่วงหลังมานี้คนไทยมองการโกงเป็นเรื่องปกติกันมาก ทั้งที่กระแสการรณรงค์มีมาก
‘เนาวรัตน์’ ตอบ – ผมว่า...เป็นเพราะระบบกฎหมาย กระบวนการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมต้องศักดิ์สิทธิ์ ต้องลงโทษกันจริงๆ จังๆ คนทำผิดต้องขึ้นศาล ไม่ว่าใครทั้งนั้น
แต่ที่นี้บ้านเรามันเป็นระบบอภิสิทธิ์ชน คนต้องการเป็นอภิสิทธิชน และถ้าพูดกันลึกๆ แล้วก็คือ มันเป็นเหยื่อของสังคมเจ้าขุนมูลนาย ที่มีมาเป็นพันๆ ปี
หมายความว่า ระบบเจ้าขุนมูลนาย มันทำให้คนต้องเข้าพึ่งคนที่เหนือกว่า ให้คุ้มครอง ฉะนั้น การที่เข้าพึ่งคน มันทำให้มองไม่เห็นความสำคัญของความเป็นคนของตัวเอง กลับมองเห็นความเป็นคนที่เหนือกว่าไปเรื่อยๆ ที่นี้เป้าหมายก็คือตัวเองจะต้องไปอยู่ในตำแหน่งที่เหนือกว่า หรือไม่ก็ต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ยิ่งใหญ่เพื่อประโยชน์ในการเป็นอภิสิทธิ์ชน คือเป็นเรื่องของการได้เปรียบ
และพอได้เปรียบมันก็จะเอาเปรียบ ซึ่งเรื่องนี้ผมว่าน่าสนใจมาก
สมมุติ...ลูกจ้างกับนายจ้าง ดูเหมือนว่านายจ้างได้เปรียบ แต่ว่าถ้านายจ้างไม่ได้เอาเปรียบ การได้เปรียบนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย ในทางกลับลูกจ้าง ซึ่งเป็นฝ่ายเสียเปรียบ โกงนายจ้าง นี่ก็ถือว่าเอาเปรียบแล้ว ดังนั้น การเอาเปรียบจึงไม่ใช่เรื่องฐานะของคน แต่เป็นเรื่องของคนอยู่ในฐานะได้เปรียบ ก็มีโอกาสเอาเปรียบได้มากกว่า และคนก็พยายามตะเกียกตะกายขึ้นไปอยู่ในฐานะนั้น เพื่อที่จะได้เอาเปรียบคนที่ต่ำกว่าตน
ในสังคมไทยอย่างนี้มันเป็นสังคมที่เหลื่อมล้ำ ซ้ำซ้อน ทำให้คนสับสน และก็ให้เห็นเรื่องโกงเป็นเรื่องปกติธรรมดา เหมือนกับเป็นเกม เล่นปิดตาซ่อนหา เราก็แอบลืมตา แล้วก็มีการแช่งปิดตาไม่มิด สาระพิษเข้าตา เป็นเรื่องที่สนุกสนานกัน
หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น การแซงคิว แม้มันไม่ผิด แต่ก็เป็นการเอาเปรียบคน
‘อิศรา’ ถาม – แล้วในฐานะที่อาจารย์ทำงานต่อต้านเรื่องนี้มา คิดว่าสถานการณ์คอร์รัปชั่นในประเทศไทยดีขึ้นหรือไม่
‘เนาวรัตน์’ ตอบ – หนักขึ้นๆ แต่ไม่ใช่ไม่ทำเลยนะ ทุกคนที่ตระหนักในเรื่องนี้ควรต้องทำ ซึ่งผมใช้คำว่า ‘ปลูก’ กับ ‘ปลุก’ คือต้องปลูกจิตสำนึกให้กับเด็กๆ และเยาวชนของเรา ซึ่งก็มีหลายหน่วยงานที่ทำเช่น ‘โตไปไม่โกง’ รวมทั้งต้องช่วยกันปลูกจิตสำนึกให้กับผู้ที่ยังไม่มีจิตสำนึกในเรื่องเหล่านี้
ขณะเดียวกันต้องปลุกจิตสำนึกของคนที่รู้แล้ว มีแล้ว แต่ยังนอนหลับอยู่ ต้องเขย่าเขา ปลุกเขาให้ตื่นขึ้นมา เพราะการ ‘ปลูก’ และ ‘ปลุก’ นั้นเป็นกระบวนการที่จะช่วยต้านโกงได้
แต่ที่เราไม่กล้าต้านคนที่เขามีอำนาจ ที่โกงกันอย่างหน้าด้านๆ ก็ต้องย้อนกลับไปที่เรื่องระบบกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมที่ต้องศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเรื่องนี้ก็คงจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมขนานใหญ่ แม้กระทั่งต้นเหตุอย่างเรื่องการเมือง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ ผู้มีอำนาจทางการเมืองมักจะใช้ความได้เปรียบตรงนี้มาเอาเปรียบ
เหมือนกับที่ชาวบ้านชอบพูดกันว่า ‘กินเป็นวงกลม’ ชาวบ้านกินผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านไปกินกำนัน กำนันไปกินองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อบต.ไปกินองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อบจ.ไปกินผู้แทนฯ ผู้แทนฯมากินพรรค พรรคก็มากินสภา สภาก็มากินบ้านกินเมือง กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ตัดไม่ขาด ฉะนั้น ทำอย่างไรถึงจะปฏิรูปตรงนี้ให้ได้ ถ้าปฏิรูปตรงนี้ไม่ได้ ผมเชื่อว่าไม่มีทางที่เรื่องโกงมันจะเด็ดขาด
‘อิศรา’ ถาม – แล้วโครงการเล่าเรื่องโกง ตีแผ่เรื่องโกงที่อาจารย์ทำอยู่พอจะช่วยได้มากน้อยขนาดไหน?
‘เนาวรัตน์’ ตอบ – เรื่องนี้มันก็ช่วยได้ด้านหนึ่ง เพราะศิลปะเป็นเรื่องที่สื่อถึงใจคนได้ง่ายที่สุด
อย่างงานศิลปะที่ผมได้ไปทำกับเด็กๆ ให้เขียนรูปหยุดโกงอะไรพวกนี้ ผมก็ไปขอให้พ่อแม่ขึ้นป้ายบนหลังคา ไปขอนายกเทศมนตรีให้ติดไว้สัก 1เดือน ขึ้นป้ายไว้ให้มันผ่านตา เหมือนกับป้ายโฆษณาที่ติดกับเต็มบ้านเต็มเมือง
และการทำงานที่ผ่านมาก็เพื่อจะได้เรียนรู้ว่า ควรจะแก้ไข หรือควรจะต้องพัฒนาอย่างไร ซึ่งเรามีศิลปินที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้และยินดีที่จะมาร่วมพลังกัน ที่สำคัญเรื่องนี้คงต้องทำกันไปเรื่อยๆ หยุดไม่ได้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เป็นแฟชั่น
ส่วนที่ว่าจะได้ผลมากน้อยอย่างไร ผมคิดว่า สื่อเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ ต้องไปดูว่าองค์กร หน่วยงานหรือกลุ่มต่างๆ ที่เขาทำๆ เรื่องเหล่านี้กันอยู่ มันมีอุปสรรค ปัญหา หรือมีอะไรที่น่าจะช่วยกันขยายต่อให้คนเข้าใจได้มากขึ้น ในที่สุดเมื่อเรื่องนี้มันถูกพูดถึงกันมากขึ้นๆ เหมือนเป็นวาทะ คนก็จะเปิดตา มองเห็นว่าอันนี้กลวงนี่หว่า
‘อิศรา’ ถาม – สุดท้ายอาจารย์พอมีกลวิธีทางศิลปะอะไรไหม ที่จะแนะนำให้คนไม่นิ่งเฉย เมื่อพอเห็นคนโกง?
‘เนาวรัตน์’ ตอบ – คือถ้าพบเห็นคนโกง บางคนอาจไม่กล้าไปทำอะไรตรงๆ ซึ่งผมคิดว่า มันคงต้องหากลวิธี กระบวนการในการประจานคว่ำบาตรทางสังคม รวมทั้งทำให้เรื่องเหล่านี้ปรากฏให้ได้
"ซึ่งถ้าเป็นในทางศิลปะก็ง่ายๆ เป็น 'กากบาทสีแดง' หน้าประตูอะไรประมาณนี้ ให้รู้กันไปเลย..."