'ดร.นิพนธ์' ฟันธงอนาคตส่งออกข้าวไทยไม่แจ่มใส ยิ่งขาย-ยิ่งขาดทุน
ดร.นิพนธ์ ชี้อนาคต ศก.ข้าวไทยไม่แจ่มใส ยิ่งส่งออก-ยิ่งขาดทุน เหตุ ‘จำนำ’ ดันต้นทุนการผลิตพุ่ง-รัฐบาลเก็บข้าวไม่ยอมขาย ทำประเทศคู่ค้าตกใจ หันไปใช้นโยบายปลูกข้าวเลี้ยงตัวเองแทน
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการกิตติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 2 “มิติใหม่วิจัยข้าวไทย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเปิดตลาดเสรีอาเซียน” ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอคองคอร์ด กรุงเทพฯ ถึงแนวโน้มการบริโภคข้าวทั่วโลก ในช่วง 10 ปีข้างหน้าว่า จะมีอัตราการเพิ่มขึ้นช้า และยังจะมีแนวโน้มลดลง สาเหตุเกิดจากอัตราประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชีย ซึ่งเป็นผู้บริโภคข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลกเริ่มชะลอตัว ประกอบกับเมื่อรายได้ของคนเอเชียเริ่มสูงขึ้น แบบแผนการบริโภคก็เปลี่ยนไป การบริโภคข้าวต่อหัวจึงมีปริมาณลดลง จากเดิมที่การบริโภค 100 แคลลอรี มาจากข้าว 36% ลดลงเหลือ 29%
ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงการผลิตข้าวในอีก 10-15 ปีข้างหน้าว่า จะมีอัตราเพิ่มขึ้น 1.1% แม้จะน้อยกว่าในอดีต ซึ่งอัตราการผลิตอยู่ที่ 1.4% แต่ก็ยังถือว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นพอสมควร ในขณะที่การบริโภคกลับมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลง ปีละ 1% โดยเฉพาะเมื่อประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ในเอเชีย อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เริ่มหันไปใช้นโยบายผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเอง ตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์ข้าว เมื่อต้นปี 2551 และเริ่มเห็นนโยบายเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เมื่อรัฐบาลไทยใช้นโยบายรับจำนำข้าวและไม่ขายข้าว ก็ยิ่งทำให้ประเทศดังกล่าวเกิดความตกใจมากขึ้น
“อนาคตความหวังที่จะขายข้าวในปริมาณมากๆ เป็นเรื่องลำบาก ฉะนั้น อนาคตส่งออกข้าวไทยจึงไม่แจ่มใส แต่ยังพอมีความหวังในเรื่องคุณภาพข้าว ที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและเป็นสินค้าที่ไทยพอมีอำนาจตลาดอยู่บ้าง แต่สิ่งที่น่าห่วงที่สุด คือ นโยบายจำนำข้าว กำลังจะทำลายตลาดข้าวคุณภาพของไทย”
ดร.นิพนธ์ ยังกล่าวถึงการบริโภคข้าวของประเทศไทย ในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ด้วยว่า จะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ อยู่ที่ประมาณ 0.4% ต่อปี เนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำ การบริโภคต่อหัวต่ำลดลง โดยเฉพาะการบริโภคข้าวขาวที่มีอัตราลดลงชัดเจน ส่วนในด้านการผลิตข้าว พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละ 3% โดยเฉพาะข้าวนาปี ทั้งนี้ เมื่อผลผลิตเพิ่มขึ้น สวนทางกับการบริโภคที่เพิ่มช้ากว่าปกติ การส่งออกจึงต้องเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่เพิ่มขึ้นนั้น อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับเมืองไทยตัวเลขส่งออก อาจไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนา เพราะพบว่ายิ่งส่งออก ยิ่งขาดทุน
“เนื่องจากต้นทุนในการผลิต การใช้ทรัพยากรของไทยสูงขึ้นกว่าประเทศคู่แข่ง โดยข้อมูลพบว่า ต้นทุนการผลิตข้าวนาปรัง ช่วงปี 2540-2554 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละ 11% และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากนโยบายจำนำข้าวที่ทำให้เกษตรกรทำทุกวิถีทาง เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ทั้งใส่ปุ๋ย สารเคมี ค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่ง ขณะที่ค่าเช่าที่นา มีการถีบตัวจาก 1,000 บาทต่อปี เป็น 1,000 บาทต่อฤดูเก็บเกี่ยว ดังนั้น ปัจจัยดังกล่าวจึงกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย”
สำหรับยุทธศาสตร์และความท้าทายของข้าวไทย ชาวนาไทยในอนาคตนั้น ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า เรื่องของลดต้นทุนการผลิตนั้น เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่กลับไม่ได้สร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น เนื่องจากประเทศคู่แข่งก็จะหาวิธีในการลดต้นทุนตามไปด้วยเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่อยากเสนอคือ การยกระดับรายได้ของชาวนาต่อหัวให้ใกล้เคียงกับรายได้ของแรงงานนอกภาคเกษตร ที่ปัจจุบันต่างกันถึง 9.6 เท่าลง โดยการเพิ่มผลิตภาพต่อแรงงานต่อคนให้เพิ่มขึ้น ลดจำนวนเกษตรกรของประเทศลง เนื่องจากพบเกษตรกรทั่วประเทศ สามารถสร้างรายได้เพียงแค่ 10% ของรายได้ทั้งประเทศ
“ขณะที่นโยบายของรัฐในด้านการวิจัยนั้น เห็นว่ายังมีจุดอ่อน ตรงที่งบวิจัยเรื่องข้าวในปัจจุบันมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจีดีพี อีกทั้งงบวิจัยยังเป็นงบประมาณรายปี ทำให้เกิดความผันผวน เปลี่ยนแปลงตามวัฎจักรเศรษฐกิจ ที่สำคัญงบประมาณดังกล่าวยังถูกเบียดบังไปใช้ในงบส่งเสริม เนื่องจากงานวิจัยไม่ก่อให้เกิดผลทางการเมืองในระยะสั้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยมาก”ดร.นิพนธ์ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอ หรือความพยายามต่างๆ ที่วงการข้าวพยายามจะทำกัน หรือพยายามพัฒนากันมาจะหมดความหมายไปโดยสิ้นเชิง หากรัฐบาลยังคงใช้นโยบายการจำนำ มีการแทรกแซงตลาดของรัฐอยู่ต่อไป