“ชัจจ์” เตรียมเสนอ ครม.ซื้อเฮลิคอปเตอร์หนุนปภ.
เสวนา 8 ปีสึนามิ "ชัจจ์" หนุนซ้อมแผนรับภัยพิบัติ เล็งยื่น ครม.ซื้อเฮลิคอปเตอร์ให้ปภ. ด้านธนวัฒน์ แนะจำกัดการเจริญเติบโตพื้นที่เสี่ยงภัย ชี้ตั้งรับ-สู้ภัยอย่างเดียวไม่ได้
วันที่ 24 ธันวาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา ความเสี่ยงประเทศไทยกับภัยพิบัติโลก "ในวาระรำลึก ๘ ปี สึนามิ" ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ห้องประชุม 201) สาธร กรุงเทพฯ โดยมี พ.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันภัยพิบัติในโลกมีมากขึ้น เนื่องจากสภาวะโลกร้อน ธรรมชาติถูกทำลายโดยฝีมือมนุษย์ ทำให้ต้องมีการศึกษาและร่วมมือร่วมใจกันในการเตรียมตัวสู่ภัยพิบัติ ซึ่งในประเทศที่เจริญก้าวหน้านั้น พบว่าสามารถรวบรวมข้อมูล สำหรับพยากรณ์ภัยพิบัติได้ แต่ในประเทศไทยต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่อยู่
"อย่างไรก็ตาม เมื่อภัยพิบัติเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงในระดับประเทศ ระดับทวีป รัฐบาลจึงต้องการสนับสนุนให้หน่วยงานมีความพร้อม มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ครบครันในการรับมือภัยพิบัติ รวมถึงมีการสร้างกิจกรรม การซ้อมแผน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเล็งเห็นว่า ในส่วนอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ตั้งใจว่าจะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับ อพปร.อยู่ที่ 1,200 บาทต่อเดือนเพื่อให้สามารถทำงานได้ นอกจากนี้จะมีการส่งเสริมให้มีหน่วยงานกู้ภัยกู้ชีพ ในทุกตำบล ทุกองค์การบริหารส่วนตำบล และในอนาคตจะเพิ่มยวดยานพาหนะในการกู้ชีวิตกู้ภัยมากขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังมอบหมายให้ศึกษาข้อมูล เพื่อจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์เป็นของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเอง เพื่อความสะดวกในการทำงานเบื้องต้นคาดว่าจะจัดซื้อประมาณ 10 ลำ แต่ทั้งนี้คงต้องนำเรื่องเข้าหารือกับคณะรัฐมนตรีก่อน"
จากนั้นเป็นเวทีเสวนา "ความเสี่ยงประเทศไทยกับภัยพิบัติโลก" ที่มี นายไมตรี จงไกรจักร เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ ศ.ดร. ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล นักวิชาการจาก หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬา ฯ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ร่วมเสวนา
นายไมตรี กล่าวถึง 8 ปีกับความพร้อมในการรับมือสึนามิว่า นอกจากมีการซ้อมหนีภัยแล้ว โจทย์ที่สำคัญก็คือ การรักษากลุ่มอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติไว้ให้ได้ เนื่องจากในรอบ 8 ปีที่ผ่านมาบรรดาอาสาสมัครได้มีการฝึกซ้อม มีการอบรมต่างๆ แต่สึนามิก็ยังไม่เคยเกิดขึ้น และเพื่อไม่ให้อาสาสมัครหายไป สิ่งที่เครือข่ายได้ดำเนินการก็คือ การสร้างความเป็นจิตสาธารณะให้เกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่อจังหวัดใดเกิดภัยพิบัติ ไม่ว่าจะดินถล่ม หรือน้ำท่วมก็นำอาสาสมัครเหล่านี้เข้าไปช่วยเหลือ ทั้งนี้ เพื่อให้อาสาสมัครรู้จักรับผิดชอบต่อกรณีภัยพิบัติที่เกิดขึ้น
นายไมตรี กล่าวถึงหลักในการช่วยเหลือผู้ประสบด้วยว่า นอกจากการช่วยให้ผู้ประสบภัยสามารถพึ่งตนเองได้แล้ว ยังต้องช่วยให้ผู้ประสบภัยสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย
ขณะที่ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยพิบัติโลกว่าในปี 2011 เกิดเหตุการณ์ทั้งหมด 820 เหตุการณ์ภายในปีเดียวที่เกิดจากแผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุ ไฟป่าและภูมิอากาศ สร้างความเสียหายในภาพรวม 3.18 พันล้านดอลลาร์ และจาก 5 อันดับเหตุการณ์ใหญ่ๆ ดังกล่าวนี้ทำให้ประเทศไทยเกิดความเสียหายในแง่ระบบประกันในอันดับ 3 ของโลก แต่มีผู้เสียชีวิตอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก
"ในปีที่ผ่านมาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเอเชียมีผู้เสียชีวิตมากกว่า หากพิจารณาจากการจัด 20 ลำดับแรกของโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 8 ของโลก โดยญี่ปุ่นเป็นอันดับที่ 1 ที่มีความเสียหายมากที่สุดในทุกๆ ด้าน ทั้งที่ไทยเป็นประเทศที่มีลุ่มน้ำเล็กๆ ถ้าเทียบกับแม่น้ำแยงซี และแม่น้ำมิซซิสซิปปี้ จึงเป็นตัวบ่งชี้ว่าความเสียหายไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ดังนั้น หากยังมีการบริหารจัดการไม่ดี จะเกิดภัยร้ายแรงขึ้นอีกอย่างแน่นอน" ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าว และว่า ต้องไม่ลืมภัยพิบัติที่เคยเกิดขึ้น ต้องเก็บเกี่ยวอดีตและซักซ้อมอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากบริหารจัดการไม่ดี ไทยอาจกระทบหนักกว่าญี่ปุ่น
"เราจะมีความเชื่อว่าไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัยไม่ได้แล้ว เหตุการณ์ที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า จะตั้งรับแบบอดีตไม่ได้แล้ว การจัดการกับความเสียหายที่ผ่านมาตั้งรับด้วยสิ่งก่อสร้างมาตลอด จากนี้ต้องเปลี่ยนแนวความคิดใช้โครงสร้างให้น้อยลง เน้นจัดการชุมชนให้มากขึ้น สิ่งก่อสร้างสู้ภัยไม่ได้ทั้งหมด"
ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวถึงการสู้กับภัยพิบัติด้วยว่า ไม่สามารถสู้ได้ 100% จากบทเรียนการสู้ภัยของเมืองนิวออร์ลีนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สร้างกำแพงกั้นน้ำ ท้ายที่สุดกลายเป็นกับดัก ส่งผลให้สถานการณ์หนักขึ้นและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ฉะนั้น การต่อสู้กับภัยต้องมีการทบทวนให้ดีและต่อสู้อย่างพอดี มองในระยะยาว 50-100 ปี มากขึ้น เช่น จำกัดการเจริญเติบโตของประชาชนในเขตพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต
ด้านดร.เสรี กล่าวว่า แนวโน้มภัยพิบัติขณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ฉะนั้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีและมีการปรับตัวอยู่เสมอ จะสู้กับภัยหรือตั้งรับเพียงอย่างเดียวไม่ได้ อย่างก็ตาม แม้จะมีระบบเตือนภัยที่ดีก็จะไม่มีประโยชน์ หากประชาชนไม่รู้ว่าเมื่อเกิดภัยขึ้นจริงจะต้องทำอย่างไรบ้าง จึงมีความจำเป็นต้องซักซ้อมอยู่เสมอ อย่าฝันว่าระบบจะเตือนแล้วหนีได้ทัน