สพฉ.เตือนกลับบ้านปีใหม่ ระวังเมา-หลับใน หวั่นผู้ขับรถคันแรกยังไม่ชิน เสี่ยงอุบัติเหตุ
สพฉ.เผยสถิติอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ที่ผ่านมามีผู้บาดเจ็บ 3,375 คน เสียชีวิต 335 คน วิเคราะห์แนวโน้มพบอุบัติเหตุมีความรุนแรงต่อครั้ง หรือคนเสียชีวิตต่อครั้งเพิ่มขึ้น เผยปีนี้เตรียมรับมือเพิ่มเหตุฉุกเฉินใน 3 ด้าน แจ้งเหตุเร็ว-รับเร็ว-ส่งเร็ว พร้อมเพิ่มแพทย์พยาบาลอยู่เวรฉุกเฉินรอให้บริการ 24 ชั่วโมงอีกว่า 1 แสนคนทั่วประเทศ แนะป้องกันอุบัติเหตุต้องเริ่มที่ตัวเอง นอนให้พอ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เตือนผู้ขับขี่รถจากนโยบายรถคันแรก เป็นมือใหม่ยังชำนาญ ย้ำประชาชนแจ้งเหตุฉุกเฉินได้ที่สายด่วน 1669
(24 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดเสวนาเรื่อง “เรียนรู้เทคนิคช่วยชีวิตฉุกเฉิน เพื่อการขับขี่ปีใหม่ ปลอดภัยทั้งไปและกลับ” โดยมี นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รักษาการเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ นพ.ฉัตรบดินทร์ เจตนะศิลปิน หัวหน้าหน่วยแพทย์กู้ชีพ คณะแพทยศาสตร์ วชิระพยาบาล เป็นวิทยากร
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รักษาการเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จากสถิติของการเกิดอุบัติเหตุในการเดินทางกลับภูมิลำเนาเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2554 - 4 ธ.ค. 2555 ที่ผ่านมามีผู้บาดเจ็บจำนวน 3,375 คน ผู้เสียชีวิต 335 คน ซึ่งสาเหตุหลักของการเสียชีวิตมาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทั้งมอเตอร์ไซค์ กระบะ และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมาจากการเมาสุรา ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย นั่งท้ายรถกระบะที่ไม่มีหลังคา และคนขับหลับใน และจากการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติก็พบว่า อุบัติเหตุดูเหมือนจะลดลง แต่ความรุนแรงต่อครั้ง หรือคนเสียชีวิตต่อครั้งเพิ่มขึ้น
รักษาการเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ด้วยเหตุดังกล่าว สพฉ.จึงได้จัดเตรียมระบบรองรับการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่โดยการเตรียมการทำงานไว้ 3 ส่วนคือ 1.แจ้งเหตุเร็ว โดยได้เพิ่มคู่สายรับแจ้งเหตุจาก 300 คู่สายเป็น 500 คู่สาย 2.รับเร็ว โดยประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ โรงพยาบาลให้มีความพร้อมไปถึงจุดเกิดเหตุไม่เกิน 10 นาที และ 3.ส่งเร็ว โดยประสานกับกระทรวงสาธารณสุขให้มีเวรประจำวันที่มีทีมแพทย์พยาบาลที่เชี่ยวชาญพร้อมให้การรักษาฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังเพิ่มทรัพยากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) 11,183 ชุด ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (ALS) 1,796 ชุด รถปฏิบัติการฉุกเฉิน 14,189 คัน นอกจากนี้ยังมีเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบิน และเรือปฏิบัติการฉุกเฉินกู้ชีพ รวมทั้งทีมแพทย์พยาบาลที่เชี่ยวชาญอีก 112,945 คนทั่วประเทศ
ด้านการดูแลตนเองเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า อาการหลับในเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างเดินทางกลับบ้านช่วงปีใหม่ ดังนั้นผู้ที่จะเดินทางไกลต้องสังเกตอาการของตนอยู่ตลอดเวลาว่าเสี่ยงต่อภาวะหลับในหรือไม่ โดยดูจากอาการหาวบ่อย หาวต่อเนื่อง เหนื่อยล้า หงุดหงิดง่าย มองเห็นภาพไม่ชัด หนักศีรษะ และลืมตาไม่ขึ้น ถ้ามีอาการเช่นนี้ผู้ขับขี่รถยนต์จะต้องจอดพักทันทีและนอนหลับให้หายเหนื่อยอย่างน้อย 15 นาทีแล้วค่อยเดินทางต่อ ทั้งนี้ก่อนเดินทางควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 8 ชั่วโมงก่อนการเดินทางอย่างน้อย 2 วัน และต้องงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
นพ.ฉัตรบดินทร์ เจตนะศิลปิน กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในปีนี้อีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ อุบัติเหตุที่อาจเกิดจากผู้ขับขี่รถจากนโยบายรถคันแรก เนื่องจากทั้งกรณีที่ผู้ขับเป็นมือใหม่ยังไม่มีความชำนาญ หรือแม้ว่าขับขี่เป็นอยู่แล้วแต่ได้รถใหม่มาขับ แต่ระยะเวลาในการทำความคุ้ยเคยกับรถยังสั้น ทำให้ไม่มีความคล่องตัว หรือไม่เคยชินกับการควบคุมระบบต่าง ๆ ของรถ จึงทำให้ผู้ขับรถใหม่ขับช้ามาก จึงอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
ทั้งนี้ นพ.ประจักษวิช ย้ำว่า หากเราเป็นผู้ประสบเหตุและยังช่วยเหลือตัวเองได้ ควรตั้งสติประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของอบัติเหตุอย่างรอบคอบ หรือหากเป็นผู้พบเห็นอุบัติเหตุก็ควรรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 ซึ่งเป็นสายด่วนของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติทันที ทั้งนี้อย่าพยายามเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่บาดเจ็บด้วยตนเองเพราะอาจทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น