"ครูอาชีพ" หรือ "มีอาชีพเป็นครู" เสียงจากครูใต้ไม่ย้ายหนีความรุนแรง
"ถามว่าครูเสี่ยงไหม มันก็เสี่ยง ทหารตำรวจก็เสี่ยงไม่ต่างกัน แต่หลายคนก็ไม่ได้ขอย้าย เพราะบางคนอยู่ด้วยอุดมการณ์ ผมว่ามันเป็นบริบทของแต่ละคน อุดมการณ์ครูมันคือตัวบอกว่าเราเป็นครูอาชีพ หรือมีอาชีพเป็นครู"
เป็นคำกล่าวของ ปัญจะ ไชยศร ครูหนุ่มจากโรงเรียนบ้านบางมะนาว ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ที่ตอบคำถามเรา และเหมือนตอบใจตัวเองด้วยว่า เหตุใดเขาจึงยังเลือกรับราชการอยู่ในดินแดนปลายสุดด้ามขวานต่อไป ทั้งๆ ที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาถูกสังหารไปแล้วถึง 157 รายตลอด 9 ปีไฟใต้ที่ผ่านมา
หนำซ้ำระยะเวลาเพียง 19 วันช่วงปลายเดือน พ.ย.ต่อเนื่องต้นเดือน ธ.ค.ก็มีครูถูกยิงไปอีก 5 ราย ตาย 4 รอดแค่ 1 ทำให้มีข่าวครูจำนวนมากทำเรื่องขอย้ายออกจากพื้นที่
ครูปัญจะเป็นชาวนครศรีธรรมราช สอบบรรจุเป็นครูครั้งแรกที่โรงเรียนบ้านริแง ต.ผดุงมาตร อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก่อนจะย้ายเข้ามาอยู่ที่โรงเรียนบ้านบางมะนาว อ.เมืองนราฯ เขาตัดสินใจตั้งรกรากสร้างครอบครัวอยู่ที่เมืองนี้ ไม่ยอมย้ายหนีไปไหน ปัจจุบันแต่งงานอยู่กินกับครูสาวโรงเรียนอนุบาลนราธิวาส ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน และอาศัยอยู่ในบ้านหลังไม่ใหญ่ไม่เล็กในตัวเมือง
ครูปัญจะ บอกว่า ทุกคนในพื้นที่มีความเสี่ยง เขาเข้าใจดีที่ครูหลายคนขอย้าย โดยเฉพาะโครงการ "ครูคืนถิ่น"ย้ายกลับบ้านเกิด ซึ่งตัวเขาก็มีสิทธิย้ายได้ไม่ยากนัก เพียงแต่ไม่เลือกเส้นทางนั้นเท่านั้นเอง
"คนขอย้ายก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีอุดมการณ์ แต่เขาอาจต้องกลับภูมิลำเนา ไปดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา"
ครูปัญจะ เล่าว่า ชีวิตประจำวันของการทำหน้าที่ครู คือต้องถึงโรงเรียนก่อน 8 โมงเช้า ระยะทางจากบ้านไปโรงเรียนก็ราวๆ 6 กิโลเมตร ส่วนเรื่องความปลอดภัยไม่ค่อยมีปัญหา แม้จะไม่มีชุด รปภ.ขณะเดินทางก็ตาม
"เส้นทางที่ผมใช้ค่อนข้างพลุกพล่าน มีชาวบ้านสัญจรตลอด จึงไม่ค่อยมีปัญหามากนัก ประกอบกับระยะทางค่อนข้างสั้น และครูส่วนใหญ่มียานพาหนะ ก็นัดเดินทางพร้อมกัน"
"ภารกิจรักษาความปลอดภัยที่โรงเรียนเป็นของ สภ.ตันหยง ซึ่งรับผิดชอบโรงเรียนของผมกับโรงเรียนบ้านปูลากาป๊ะ ทาง สภ.จะส่งตำรวจมายืนเฝ้าตรงซุ้มประตูทางเข้าโรงเรียน และมีทหารดูแลความเรียบร้อยภายในโรงเรียนช่วงก่อนเข้าเรียนและก่อนเลิกเรียน"
แม้จะไม่มีชุด รปภ.ระหว่างเดินทาง แต่ครูปัญจะก็ไม่รู้สึกเป็นอุปสรรคในการเดินทางไปทำหน้าที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้กับลูกศิษย์
"ส่วนตัวผมจะมีชุด รปภ.หรือไม่มีก็ได้ ครูผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีทัศนคติว่าไม่มีชุด รปภ.ปลอดภัยกว่า แต่สำหรับผมถ้ามีก็อุ่นใจ แต่ไม่มีก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งสำคัญคือเราต้องระวังตัวเอง ไม่เข้าไปในจุดเสี่ยง จุดอับ แม้แต่อยู่ในโรงเรียนก็ต้องสอดส่องดูแล ไม่ประมาท และอยู่อย่างมีสติ"
"เช่นเดียวกับชีวิตส่วนตัวนอกโรงเรียนก็ต้องไม่ประมาท อย่างผมกลับถึงบ้านก็ไม่ค่อยออกไปไหน สถานบันเทิงก็ไม่ได้ไป และไม่ค่อยไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน หากจะสังสรรค์กับเพื่อนก็สังสรรค์กันที่บ้าน เท่านี้ก็ลดความเสี่ยงลงไปได้"
ด้วยการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและอยู่กับชุมชนที่มีความเข้าใจ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ช่วยกันสอดส่องดูแล ทำให้ครูปัญจะบอกว่าชีวิตทุกวันนี้มีความสุขตามอัตภาพ ไม่คิดย้ายไปไหน เชื่อว่าจะสามารถดูแลตนเองกับครอบครัวให้อยู่กันอย่างมีความสุขได้และปลอดภัย
ชีวิตครูไทยพุทธที่เลือกทำงานและอาศัยอยู่ในพื้นที่ ไม่ย้ายหนีความรุนแรง ยังมี วิชาญ อธิกพันธุ์ อดีตประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้คนดัง รวมอยู่ด้วยอีกคนหนึ่ง
ตำแหน่งสุดท้ายของครูวิชาญก่อนเกษียณอายุราชการเมื่อสิ้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านมะนังกาหยี ต.มะนังตายอ อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งตำบลนี้เป็นตำบลที่เขาเกิด หนำซ้ำยังเคยเรียนที่บ้านมะนังกาหยีด้วย เมื่อเรียนจบครูก็กลับมาสอนที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และย้ายเข้ามาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านมะนังกาหยีที่เขาเคยเรียน กระทั่งเกษียณ
ตลอดชีวิตความเป็นครู 38 ปี วิชาญบอกว่าไม่มีเคล็ดลับอะไรพิเศษที่ทำให้อยู่รอดปลอดภัยจากคมกระสุนของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
"ที่ผมรอดมาได้ก็เพราะเขายังไม่ยิงผมเท่านั้นเอง ถ้าเขาจะเอาชีวิตผม เขาเอาเมื่อไหร่ก็ได้ทันที มันไม่มีทางรอด เหมือนโจรขโมยควาย เรารู้อยู่ว่าจะมีคนมาขโมย ก็นั่งเฝ้าทั้งเดือน แต่คลาดสายตานิดเดียวควายหายเลย เราระวังโดยสัญชาตญาณ แต่มันไม่ตลอด 24 ชั่วโมง ถึงแม้จะมีทหารมา รปภ.แต่วันเสาร์-อาทิตย์ล่ะ เวลาที่เราออกไปทำธุระส่วนตัวล่ะ คนที่จ้องจะทำเขาเฝ้าดูอยู่ เมื่อได้จังหวะก็ทำทันที"
แต่ถึงกระนั้น จากประสบการณ์ของการเป็นครู และแกนนำครูที่ต้องมีบทบาทกระทบกระทั่งกับฝ่ายความมั่นคงอยู่เนืองๆ ครูวิชาญบอกว่าการให้ข้อมูลสถานการณ์ที่แท้จริง จะช่วยปกป้องชีวิตครูได้
"ถึงวันนี้เราไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงบอกว่ากดดันกลุ่มก่อความไม่สงบได้ ฝ่ายโน้นกำลังเพลี่ยงพล้ำ กำลังสูญเสียการสนับสนุนทางการเมือง มันเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ที่บอกว่าเขาต้องเร่งก่อเหตุเพื่อโชว์ศักยภาพ ต้องยิงครูเพราะกำลังดิ้นพล่าน มันเป็นความหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้นะ เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เพราะเท่าที่ดู เมื่อใดก็ตามที่เขาอยากทำครู เขาก็ทำได้ทุกครั้ง แล้วเราจะเชื่อใครดี"
ครูวิชาญ ย้ำว่า การบอกเล่าสถานการณ์ที่แท้จริงเป็นการรักษาชีวิตครูไปในตัว เพราะครูจะสามารถประเมินสถานการณ์ได้ แต่หากทำในทางตรงกันข้าม ผลร้ายก็จะเกิดตามมา เช่น คำประกาศว่าจะ รปภ.ครู 24 ชั่วโมงของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งในทางปฏิบัติไม่น่าจะทำได้จริง
"เรื่อง รปภ.ครู 24 ชั่วโมงคงทำได้ยาก ด้วยเหตุผลทั้งเรื่องปริมาณทหาร ตำรวจที่ไม่เพียงพอ ประกอบกับจำนวนครูและโรงเรียนก็มีมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้แน่ และผมอยากให้เพิ่มเข้าไป คือมาตรการทางฝั่งครู โดยเฉพาะสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ต้องห้ามเรียกประชุมครูนอกเวลา รปภ.และงดกิจกรรมทุกอย่างที่ต้องออกนอกโรงเรียนจนเกิดความเสี่ยงหรือไม่ปลอดภัย"
"นอกจากนั้นผมยังอยากเสนอให้มีบทลงโทษทั้งทหาร ตำรวจ และครู คือถ้าครูเสียชีวิตในเวลา รปภ. เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องรับผิดชอบ จะตัดเงินเดือนหรือย้ายหรือมาตรการอื่นใดก็ได้ ขณะเดียวกันถ้าครูออกจากโรงเรียนหรือเดินทางนอกเวลา รปภ.โดยไม่บอกทหาร ตำรวจ ก็ต้องมีมาตรการลงโทษเหมือนกัน เช่น ไม่ได้เงินเยียวยา อย่างนี้เป็นต้น ความเข้มงวดจะได้กระชับเข้ามา"
ในฐานะอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านมะนังกาหยีที่เคยสูญเสีย ครูวิลาศ เพชรพรหม ครูของโรงเรียน พร้อมภรรยาคือ ครูคมขำ เพชรพรหม ครูโรงเรียนบ้านทุ่งโต๊ะดัง อ.เมืองนราธิวาส เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2553 เพราะถูกคนร้ายไล่ยิงนั้น ครูวิชาญ บอกว่า ครูที่เสียชีวิตส่วนมากเป็นคนดี เพราะคนดีมักตกเป็นเป้าหมายอ่อนแอ เนื่องจากคนดีจะไม่ค่อยระวังตัว เพราะไม่คิดว่าใครจะปองร้าย ลูกศิษย์ลูกหาก็เยอะ
"สาเหตุที่ครูโดนทำร้ายมี 2 อย่างเท่านั้น คือ ตกเป็นเป้าหมายอยู่ก่อนเนื่องจากความประมาท เดินทางคนเดียวบ่อยๆ เช่น ครูวิลาศ กับอีกสาเหตุหนึ่งคือการสร้างสถานการณ์ หมายถึงว่าฝ่ายโน้นต้องการจะยิงครูอยู่แล้ว เป็นครูคนไหนก็ได้ เจอใครที่สบโอกาสก็ยิงเลย ไม่ได้กำหนดเป้าหมายไว้ก่อน"
"ฉะนั้นมูลเหตุการยิงครูจึงไม่ได้มาจากเรื่องความขัดแย้งภายในโรงเรียน หรือเรื่องอื่นใดตามที่บางฝ่ายพยายามพูดกัน ผมว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นข้ออ้างมากกว่า" ครูวิชาญ กล่าว
ปัจจุบันครูวิชาญเพิ่งทาสีบ้านใหม่ เป็นบ้านที่ตำบลบ้านเกิด ห่างจากโรงเรียนที่เขาเคยสอนเพียงไม่กี่ร้อยเมตร และไม่เคยคิดย้ายไปไหนเลย ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไรก็ตาม
------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เด็กๆ มุสลิมที่โรงเรียนบ้านบือเจ๊าะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส กำลังช่วยกันเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา
2 วิชาญ อธิกพันธุ์ (ภาพทั้งหมดโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร)