ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ฝากส่งท้ายปี "ผมอยากเห็นนักการเมือง เป็นรัฐบุรุษ คิดถึงชั่วคนหน้า"
จากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ตลอดปี 2555 ทั้งปัญหาวิกฤตยูโร ปัญหาการว่างงานของสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจถดถอยของญี่ปุ่น รวมถึง เงินเฟ้อที่จีน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และสังคมไทย ในมุมกว้าง
ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ให้โอกาส "สำนักข่าวอิศรา" สัมภาษณ์พิเศษ มองย้อนกลับไปในช่วงปีที่ผ่านมา นโยบายสาธารณะอะไรบ้าง ที่น่าเป็นห่วงสุด
"ผมเป็นห่วงนโยบายที่ตัดสินใจในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่เอาเรื่องการตลาด การเมืองมานำ เรื่องนี้น่ากลัวที่สุด เพราะไม่ได้ตัดสินใจทำนโยบายต่างๆ บนเนื้อผ้า ของเศรษฐศาสตร์จริงๆ"
อย่างกรณีของกรีซ เป็นตัวอย่าง ดำเนินนโยบายประชานิยม ตั้งแต่ปี 1980 คล้ายๆ ประเทศไทยในตอนนี้ แจก (เน้นเสียงยาว) ทุกอย่าง แต่กรีซ มีคนไม่รู้เรื่องความเป็นไปของประเทศ น้อยกว่าไทย ซึ่งเขาก็ยินดีแบมือรับการศึกษาฟรี ตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาเอก บริการสาธารณะ การรักษาพยาบาล
ช่วงที่พลิกผันจริงคือ ช่วงที่กรีซเข้าเป็นสมาชิกอียู ที่มีกฎเกณฑ์บังคับบริจาคเงินสมทบอียู ทำให้เกิดภาระหนี้สูงขึ้นมา การที่รัฐบาลเป็นหนี้ไม่ต่างจากบุคคลเป็นหนี้ ที่ต้องจ่ายทั้งดอกเบี้ยรายปี ทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายแต่ละปีน้อยลงไป เช่น ตัดเรื่องการรักษาพยาบาลบางอย่างออกไป
ที่สำคัญเมื่อวันหนึ่งคุณต้องชำระหนี้ให้หมด ผ่อนเฉพาะดอกเบี้ยไม่ได้ ต้องผ่อนเงินต้นด้วย วันที่เผชิญกับการต้องจ่ายเงินต้นมากๆ งบประมาณรัฐบาลน้อยลง กรีซลุกเป็นไฟเพราะรัฐไปตัดค่าใช้จ่ายหลายเรื่อง เช่น เงินช่วยเหลือคนยากจน ตัดเงินช่วยเหลือหน่วยงานที่มีหน้าที่สร้างงาน ทำให้คนว่างงาน เป็นต้น
นี่คือวิกฤติของกรีซ
@ แสดงว่า ไทยกำลังเดินเส้นทางที่คล้ายกับกรีซใช่หรือไม่
(พยักหน้า) หากประเทศไทยเรายังมีนโยบายที่ใช้การตลาด การเมือง นำหน้าเศรษฐศาสตร์
หลักเศรษฐศาสตร์ ระบุถึงการใช้จ่ายต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ ประโยชน์ที่ได้รับ เงินต้องนำไปใช้จ่ายหรือสร้างสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในวันข้างหน้า แต่ไม่ใช่ใช้เงินที่เก็บจากภาษีประชาชนไปใช้แบบ "อีหลุยฉุยแฉก" หมดไปเพื่อการบริโภค หมดไปโครงการที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์
นี่คือสัญญาณที่น่ากลัว สิ่งที่ผมกลัวมากที่สุด !!
@ โครงสร้างเศรษฐกิจไทย กำลังเริ่มเปลี่ยน มีตัวอย่างที่เห็นชัดบ้างหรือไม่
เรื่องของการส่งออกที่ช้าลงไป เศรษฐกิจไทย จึงต้องมีการปรับโครงสร้างจะมามัวผลิตของที่มีต้นทุนต่ำ และส่งไปขายต่างประเทศ ....เป็นไปไม่ได้แล้ว
@ ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ไทยต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่
อันแรก ธรรมชาติของการค้าโลก เปลี่ยนแปลงไป ความสำคัญของยุโรป จีน ก็เปลี่ยนไป สอง เศรษฐกิจในยุโรป สหรัฐฯ ก็มีปัญหา ขณะที่จีนใหญ่ขึ้นมา และสาม เกิดจากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่บังคับให้สูงขึ้น รวมถึงปริญญาตรี 15,000 บาท ซึ่งทำให้ต้นทุนแรงงานที่ถูกกฎหมายของบ้านเรา สูงตามมาด้วย
"ภาคอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่เคยให้ค่าจ้าง 300 บาทอยู่แล้ว ไม่กระทบหรอก แต่เอสเอ็มอี เล็ก ๆ จะไปไม่ได้ ค่าแรงอย่างเดียวก็ไม่เท่าไหร่ แต่เราต้องนำไปเปรียบเทียบค่าแรงของประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ธุรกิจใดอยู่ไม่ได้ ก็ต้องย้ายฐานการผลิตไป และต้องนำแรงงานต่างชาติเข้ามา"
เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยน เราต้องหันไปพึ่งพิงเรื่องการท่องเที่ยวมากขึ้น ความบันเทิง ธุรกิจอาหาร การรักษาพยาบาล สปา ซึ่งจะมีบทบาทเด่นขึ้นมา
@ ไทยมีความสามารถในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้สอดรับกับโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น หรือไม่
ผมคิดว่า ไทยมีความสามารถในการปรับตัวมานานแล้ว
แต่กับดักที่น่าห่วงสุด ก็คือ เรื่องการเมือง
วันนี้ ผมคิดว่าฝ่ายที่มีอำนาจ ฝ่ายรัฐบาลต้องผลักดันไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการ ขณะเดียวกันหากการใช้จ่ายเงินไม่ระมัดระวัง ก็จะเป็นปัญหา โดยเฉพาะการกู้เงิน การกลั่นกรองโครงการที่เหมาะสม อะไรที่ควรใช้ หรือไม่ควรใช้ เพื่อไม่ให้ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
@ อาจารย์เห็นผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศปี 56 อย่างไรบ้าง
การขึ้นค่าจ้าง 300 บาท จะทำให้ผู้ประกอบการลดแรงงานลงไป เช่น จาก 200 คน ก็เหลือ 100 คน แต่ผมก็ยังเชื่อว่า ยังมีแรงงานที่ยอมรับค่าจ้างที่ต่ำกว่า 300 บาท ในภาคที่ไม่เป็นทางการ โดยลูกจ้างเหล่านี้ พร้อมยอมรับค่าจ้างที่ต่ำกว่า
@ การเมือง ความขัดแย้ง และการแก้ไข รธน. ซึ่งจะนำมาสู่การไม่เห็นพ้องต้องกัน คิดว่า มีผลโดยตรงกับเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน
แน่นอน...(ตอบทันที) มีผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อทำให้ภาพพจน์ประเทศ
@ ขอมุมมองต่อนโยบายประชานิยม
มุมหนึ่งของ ประชานิยม ก็เป็นเรื่องดี ทำให้คนที่ไม่เคยได้ ได้ขึ้นมาด้วย แต่ก็มีประเด็นที่พึงพิจารณา ก็ต้องดูด้วยว่า คนที่ควรได้ประโยชน์จากประชานิยม ได้จริงหรือไม่ เช่น นโยบายรับจำนำข้าว
ถามว่า เกษตรกรได้ประโยชน์จากจำนำข้าว จริงๆ แค่ไหน โครงการอย่างนี้นำไปสู่ปัญหาต่างๆ หรือไม่ เช่น การสวมสิทธิ์ คอร์รัปชั่น การทำลายพันธุ์ข้าวไทยดั่งเดิม สร้างภาระทางการเงินแก่รัฐมากมาย
เรื่องแบบนี้ต้องเปิดเผยข้อมูล รวมถึงการขายข้าวแบบจีทูจี ให้ประเทศไทย เท่าไหร่ อย่างไร เพื่อความโปร่งใส
ดังนั้น ประชานิยม ต้องอยู่ในขอบเขตที่เรามีเงินสามารถทำได้อย่างมีเหตุมีผล มีเงินน้อยก็ใช้น้อย ช่วยเหลือคนยากจนได้ แต่หากทำตัวเกิน กู้ยืมเงินมากเพื่อมาใช้จ่าย ก็จะเกิดการเสียสมดุล
ในอนาคตเกิดปัญหาตามมา วันข้างหน้ามีภาระต้องใช้หนี้ วันนั้นเราต้องตัดรายจ่ายหลายๆ อย่าง จะนำเงินไปลงทุนก็ไม่ได้ เป็นการส่งต่อภาระให้คนรุ่นต่อไป
@ ห่วงค่านิยมคนไทยหรือไม่ เมื่อประชานิยมสร้างนิสัยแบบมือรับจากภาครัฐตลอด
ทัศนคติของคนเราต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน ให้คิดใหม่ว่า การก้าวหน้า หรือเข้มแข็งได้ ต้องมีความคิดอยู่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งการแบมือขออย่างเดียว จะกลายเป็นนิสัย ทำให้คนไทยช่วยเหลือตัวเองน้อยลง
“เหมือนน้องคนเล็ก ต้องแบบมือขอเงินจากพี่ชายตลอด คุณอาจทำร้ายเขาก็ได้นะ เพราะเขาไม่ได้เข้มแข็ง”
@ แล้วค่านิยมผิดๆ เรื่องการคอร์รัปชั่น
เป็นปัญหาที่รุนแรงมาก !!
สังคมที่คิดว่า ก็โกงทั้งนั้น โกงแล้วโอเคด้วย ผมคิดว่า หากลงลึกถึงข้างล่าง จะกลายเป็นคอร์รัปชั่นทางจิตใจ เห็นถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นถูก โกงไม่เป็นไร ขอให้ได้ประโยชน์ ผมคิดว่า มีแต่พังแน่นอน ในเชิงจริยธรรม
ปัญหานี้มีต้นทุนที่สูงกว่าเรื่องเศรษฐกิจเสียอีก!!
@ สุดท้าย อาจารย์มองนักการเมืองไทย กับการบริหารประเทศ สมัยนี้เป็นอย่างไร
นักการเมืองไทย ไม่ใช่รัฐบุรุษ เพราะรัฐบุรุษมองชั่วคนหน้า แต่นักการเมืองไทย มองแค่เลือกตั้งคราวหน้า ปีหน้า คิดเช่นนี้ เขาจึงมีพฤติกรรมระยะสั้น ไม่ได้อะไรที่คิดยาวกว่านั้น ยิ่งหากนักการเมืองไม่มีความรู้สึกทางอุดมการณ์ ก็จะทำอะไรที่สั้นๆ
"ผมอยากเห็นนักการเมืองไทยที่เป็นรัฐบุรุษ คิดถึงชั่วคนหน้า โดยทำวันนี้แต่คิดถึงชั่วคนหน้า"