เอกชน ห่วงรัฐบริหารสต็อคข้าว ชี้ปี 56 ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง
เอกชน ชี้ปี 56 ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ระบุ บริหารสต็อคข้าวกว่า 10 ล้านตัน เรื่องท้าทายรัฐบาล
จากกรณีที่ธนาคารโลก ออกมาคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรของไทยในปี 2556 ว่า จะมีแนวโน้มราคาลดลง ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา น้ำตาล หรือน้ำมันปาล์ม นั้น
นายสุเมธ เหล่าโมราพร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด กล่าวกับ สำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีดังกล่าวว่า มีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากปี 2555 สินค้าในตลาดโลกหลายตัวปรับราคาเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง สาเหตุมาจากการที่สหรัฐอเมริกาเกิดภัยแล้ง ส่วนปี 2556 คาดการณ์ว่า การเพาะปลูกของสหรัฐอเมริกาจะกลับมาปกติ ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่น่าจะขยับตัวสูงขึ้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้แนวโน้มราคาน่าจะอ่อนตัวลง
“ในสินค้าทดแทน เช่น ยางพารา ราคาน่าจะคงยืนอยู่ที่ระดับ 90 บาท ไม่น่าจะไปได้ไกลถึงหลัก 100 บาทเหมือนเมื่อหลายปีก่อน ขณะที่ราคาข้าว ถ้าดูจากปัจจัยในปัจจุบัน มีโอกาสเป็นไปได้ที่ราคาจะปรับลดลง สาเหตุเนื่องจากการเพาะปลูกในอินเดีย อินโดนีเซียยังอยู่ในสภาวะปกติ”
ส่วนสินค้าเกษตรของไทยที่น่ากังวลนั้น นายสุเมธ กล่าวว่า คือ ข้าว เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลใช้นโยบายรับจำนำ ทำให้เก็บสต็อคไว้จำนวนมาก ซึ่งการบริหารสต็อคในระดับ 10 ล้านตันขึ้นไปนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพ และความท้าทายนี้ยังคงมีต่อเนื่องไปถึงปีหน้า เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศชัดแล้วว่า จะใช้โครงการดังกล่าวต่อไป ส่วนราคาปาล์มที่กำลังตกต่ำในขณะนี้ ก็คงเป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ปัจจัยในเรื่องสินค้าเกษตรนั้น มีการขึ้น-ลงเป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นในช่วงเวลาที่สินค้าเกษตรขึ้นก็ต้องเตรียมใจไว้ด้วยว่า เมื่อราคาสินค้าปรับลดลงจะรับมืออย่างไร ซึ่งการเตรียมตัวในระยะสั้น เห็นว่า คงหนีไม่พ้นการแทรกแซงของภาครัฐที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือ
“ขณะที่ในระยะยาว จะต้องการสร้างงานวิจัยที่ดี เพื่อนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้ประเทศไทยหลุดจากวงจรในเรื่องราคา ไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และจะต้องปรับโครงสร้างการผลิต ซึ่งกรณีดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาระบุแล้วว่า จะมีการจัดทำโซนนิ่ง ซึ่งในเรื่องนี้ก็คงต้องใช้การขับเคลื่อนเป็นนโยบายใหญ่ และใช้เม็ดเงินจำนวนมาก เนื่องจากการที่จะให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนนั้น มีประเด็นที่ต้องพิจารณาทั้งในเรื่องระบบการปรับพื้นที่ การชดเชยรายได้ กรณีพืชที่ปลูกชนิดใหม่มีราคาต่ำกว่า รวมถึงความชำนาญของเกษตรกรที่แตกต่างกัน”