ชายแดนใต้ทำประชามติล่วงหน้าขอกำหนดชะตาตัวเอง - จี้รัฐป้องกันฆ่าล้างแค้น
ในห้วง 1-2 เดือนที่ผ่านมามีเวทีของภาคประชาชน นิสิตนักศึกษา และภาคการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายเวที ประเด็นที่เป็นข้อเสนอแนวทางดับไฟใต้ที่คล้ายคลึงกันก็คือ การขออำนาจในคนในพื้นที่ได้มีสิทธิมีเสียง "กำหนดชะตาชีวิตตนเอง" มากขึ้นกว่าเดิม
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2558 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ (สนน.จชต.) ได้จัดโครงการเสวนา "สงครามและสันติภาพ...ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่? อย่างไร?" ที่ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ภายในงานมีการจัดบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้ทางวิชาการหลายเรื่อง เช่น วิพากษ์นโยบายบริหารการจัดการชายแดนใต้, ประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ปาตานี, ผลกระทบจากสงครามที่ปาตานี, กฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน, เปรียบเทียบแนวทางสู่สันติภาพ, นิทรรศการภาพถ่าย และนิทรรศการเกี่ยวกับกิจกรรมนักศึกษา เป็นต้น
ประชามติจำลอง...77%ขอกำหนดชะตาตนเอง
ไฮไลท์ที่สำคัญของงานคือการจัดกิจกรรมจำลอง "ลงประชามติกำหนดชะตากรรมตนเอง" จากผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด 1,535 คน ผลปรากฏว่ามีผู้ที่กากบาทในช่อง "ต้องการกำหนดชะตากรรมตนเอง" จำนวน 1,184 คน คิดเป็นร้อยละ 77.13 มีผู้กากบาทในช่อง "ไม่ต้องการกำหนดชะตากรรมตนเอง" จำนวน 16 คน คิดเป็นร้อยละ 1 ไม่ประสงค์ออกเสียง 8 คน คิดเป็นร้อยละ 0.5 และไม่ส่งแบบสอบถามประชามติ 327 คน คิดเป็นร้อยละ 21.3
สำหรับบรรยากาศบนเวทีเสวนา "สงครามและสันติภาพ...ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่" มีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างคับคั่ง อาทิ นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการด้านสันติวิธี และอดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) นายอับดุลรอนิง เด๊งสาแม เลขานุการศูนย์ประสานงานโรงเรียนตาดีกาจังหวัดชายแดนใต้ (PERKASA) นายตูแวดานียา ตูแวแมแง รองผู้อำนวยการสถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (YDA) นายฮัมซะห์ โฏมลซังลัยดายัน ประธานองค์กรเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนาสาขาจังหวัดโนดกอตอบาตู บังซาโมโร ประเทศฟิลิปปินส์ (UNYPAD) นายสุพัฒน์ อาษาศรี เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) นายกริยา มูซอ เลขาธิการ สนน.จชต. เป็นต้น
ชู"สาตูปัตตานี"ดันแนวคิดการเมืองดับไฟใต้
นายกริยา กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำให้นิสิตนักศึกษารวมตัวกันในหลายๆ พื้นที่ ทั้ง จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา หรือแม้แต่กรุงเทพมหานคร เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เป้าหมายคือแสวงหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับกฎหมาย การละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ส่วนตัวรู้สึกว่ายังไม่ประสบผล จึงหันมาศึกษาเรื่องการบริหารการจัดการอำนาจรัฐ และเป็นที่มาของกิจกรรมในครั้งนี้
"ถึงเวลาแล้วที่เราต้องสร้างพื้นที่ตรงกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พวกเราพร้อมจะกำหนดชะตากรรมของชาติพันธุ์ของเรา เพราะวันนี้ชาวปัตตานีมีชาติพันธุ์ที่ชัดเจน เป็นไปได้หรือไม่ว่าความไม่เข้าใจของรัฐ การไม่ได้เปิดพื้นที่ให้บริหารจัดการตนเอง เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหา กลุ่มนิสิตนักศึกษาต้องจัดกิจกรรมเช่นนี้ขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนลงไปอยู่ในวังวนความขัดแย้ง เราเชื่อในการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี เราเชื่อว่าประชาชนต้องมีสถานะทางการเมืองมากกว่านี้ เพื่อสร้างการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจ ภายใต้หลักคิด 'สาตูปัตตานี' (หนึ่งปัตตานี) คือแนวคิดทางการเมืองหลังจากนี้ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด อยากให้ใช้นิยาม 'สาตูปัตตานี' เพื่อความเป็นเอกภาพร่วมกัน" นายกริยา กล่าว และย้ำว่าปัญหาชายแดนใต้ต้องแก้ด้วยการเมือง
นายอุสมาน (สงวนนามสกุล) ประชาชนจาก จ.ปัตตานี ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมกำหนดชะตากรรมของตนเอง กล่าวว่า กิจกรรมลักษณะนี้เป็นกิจกรรมที่ดี ทำให้ชาวบ้านรู้สึกมีที่พึ่ง อยากให้รัฐเปิดใจยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชน
วงสานเสวนานักการเมืองเร่งเดินหน้าปกครองพิเศษ
ก่อนหน้านั้น สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดเวทีสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกันระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 9 ที่โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยมีนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคดำรงไทย พรรคเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย พรรคภูมิใจไทย อดีตผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปัตตานี และสมาชิก อบจ.นราธิวาส เข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก
นายเด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส.ปัตตานี และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะตัวแทนนักการเมืองในพื้นที่ กล่าวว่า ข้อเสนอจากการสานเสวนาของนักการเมืองตลอด 8 ครั้งที่ผ่านมายังไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลมากนัก แต่ทุกคนก็ไม่ท้อ วันนี้ทุกคนจึงเห็นตรงกันว่าการจัดสานเสวนาคราวต่อไปจะเชิญตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาร่วมพูดคุยด้วยอย่างตรงไปตรงมา
"ประเด็นทั้งหมดที่มีการพูดคุย โดยเฉพาะประเด็นกฎหมายพิเศษ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ถือว่ามีความสำคัญ และนักการเมืองในพื้นที่มีความเป็นห่วง จึงเห็นว่ารัฐบาลควรเปิดใจรับทราบปัญหาของคนในพื้นที่อย่างจริงจังมากกว่านี้" นายเด่น กล่าว
ขณะที่ นายสุทธิพันธ์ ศรีริกานนท์ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่มีการพูดคุยกัน คือ เรื่องเขตปกครองพิเศษ ตามนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ซึ่งส่วนตัวยืนยันว่าจะหารือเรื่องนี้โดยตรงกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อย่างแน่นอน
ทบทวนกฎหมายพิเศษ - ป้องกันฆ่าล้างแค้นคนต่างชาติพันธุ์
สำหรับข้อเสนอจากเวทีเสวนานักการเมือง ประกอบด้วย
1.จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 รัฐบอกว่าถ้าไม่ประกาศใช้กฎหมายพิเศษที่มีอยู่ 3 ฉบับแล้วใครจะรับผิดชอบ แต่การใช้กฎหมายพิเศษไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีส่วนช่วยลดความรุนแรงได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ประชาชนพึงมีสิทธิ โดยให้ประชาชนมีโอกาสตรวจสอบและประเมินผลงานของภาครัฐให้มากขึ้น เช่น ประเมินความเหมาะสมในการจัดทำงบประมาณ ประเมินความรัดกุมและประสิทธิผลจากการใช้งบประมาณ ประเมินนโยบายที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาชน เป็นต้น
2.ที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคการเมือง และภาครัฐเอง ได้ศึกษาและเสนอแนะทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนใต้เอาไว้หลายเรื่อง อาทิ เรื่องกฎหมายความมั่นคง กระบวนการยุติธรรม และเขตปกครอง/เศรษฐกิจ/วัฒนธรรมพิเศษ จึงขอให้รัฐบาลนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นไปพิจารณา โดยให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าข้อเสนอแนะจากฝ่ายความมั่นคง และขอให้ดำเนินการอย่างจริงจังตามข้อเสนอแนะที่พิจารณาอย่างดีแล้วต่อไป
3.ที่ผ่านมามีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กฏอัยการศึก และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ทำให้เกิดผลกระทบแก่คนในพื้นที่อย่างมาก เช่น มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่าผู้ที่ถูกเชิญตัวตามกฎหมายพิเศษและมีรายชื่ออยู่ในระบบสารสนเทศของฝ่ายความมั่นคง อาจถูกตัดสิทธิในการสมัครเข้ารับราชการ ไม่ได้รับความสะดวกในการขอลงตราหนังสือเดินทาง (วีซ่า) เพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์อย่างทันท่วงที และอาจจะไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
ดังนั้นเพื่อให้ไม่เกิดความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ฝ่ายรัฐควรทำความกระจ่างในเรื่องนี้ว่ามิได้มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ต้องหา โดยเฉพาะให้บุคคลเหล่านั้นได้รับใบรับรองจากฝ่ายความมั่นคงให้ได้รับสิทธิการเยียวยาตามเกณฑ์ของ ศอ.บต.ด้วย
4.การดำเนินการให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น "เขตปกครองพิเศษ" ตามนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยนั้น ที่ประชุมขอให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง อย่างไรก็ดี ในขณะที่ยังไม่มีการออกกฏหมายรองรับเขตปกครองพิเศษดังกล่าว ก็ยังมีการกระจายอำนาจหลายด้านที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้โดยใช้อำนาจฝ่ายบริหารได้เลย โดยเฉพาะการโอนอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น อำนาจการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับบุคลากรด้านการศึกษา ด้านการสาธารณสุข ด้านคดีครอบครัวและมรดก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์และภาษา เป็นต้น
5.ปัจจุบันมีการลอบทำร้ายซึ่งกันและกันระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ โดยไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นปัญหาการก่อความไม่สงบโดยตรง เพราะผู้ตกเป็นเหยื่อคือชาวบ้านธรรมดา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ชาวบ้านจึงมีข้อสันนิษฐานไปต่าง ๆ นานา เช่น เป็นการไล่บุคคลต่างชาติพันธุ์ออกจากพื้นที่ มีกระบวนการติดอาวุธที่มิใช่ฝ่ายขบวนการผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือเป็นการแก้แค้นกันไปมา
ที่ประชุมจึงขอเสนอให้รัฐบาลให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ และให้ความคุ้มครองอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น เพื่อลดบรรยากาศความหวาดระแวงและฟื้นฟูการอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ให้อยู่กันได้เหมือนเดิม
ยธ.หอบ 1.8 ล้านจ่ายเยียวยาเหยื่อคดีอาญาชายแดนใต้
อีกเวทีหนึ่งเมื่อกลางเดือน พ.ย.2555 ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้เป็นประธานมอบเงินช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายและทายาทจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จ.ปัตตานี จำนวน 18 ราย ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ยอดเงิน 1,803,000 บาท
ทั้งนี้ ภายในงานได้เปิดโครงการสัมมนาเรื่อง "การช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" ด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ได้รับผลกระทบและประชาชนที่ตกเป็นผู้เสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบ พร้อมทั้งได้รับการพิจาณาช่วยเหลือเยียวยาทางการเงินอย่างสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และทั่วถึง
พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ กล่าวว่า นิยามที่ได้บัญญัติรับรองสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐตามกฎหมายค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาฯ มีบุคคล 2 กลุ่มที่อยู่ในข่าย กลุ่มที่ 1 คือผู้เสียหาย หมายถึงบุคคลซึ่งได้รับความเสียหาย ได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากถูกทำร้าย ถูกฆ่าตาย ถูกลูกหลง ถูกทำให้แท้งลูก ถูกข่มขืน ถูกกระทำอนาจารเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น และต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น
กลุ่มที่ 2 จำเลย หมายถึงบุคคลซึ่งถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกคุมขังในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดี ต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด และการถอนฟ้องระหว่างการดำเนินคดี หรือมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ยกฟ้องจำเลย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 การทำประชามติจำลอง และบรรยากาศเวทีเสวนา "สงครามและสันติภาพ...ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่"
3 เวทีสานเสวนานักการเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อเสนอทางออกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่สงบ
4 อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ถ่ายภาพร่วมกับผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาที่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาตามกฎหมาย
อ่านประกอบ : ประชามติแยกดินแดน...จุดจบไฟใต้หรือฝันไกลที่ไปไม่ถึง?
http://www.isranews.org/south-news/scoop/item/15731-2012-08-14-02-33-37.html