กรมอุตุฯ ตกสำรวจ! “รองอธิบดี” พ้อขาดงบพัฒนาระบบเตือนภัย
รองอธิบดีกรมอุตุฯ อัดอั้น ตัดพ้อหน่วยงานต้นน้ำ ไม่ให้งบฯ พัฒนาเครื่องมือ สร้างระบบทันสมัย ต้นเหตุเตือนภัยล่าช้า แจงขอไป 1 พันล้าน ตั้งเป้าพัฒนา เป็นหนึ่งในอาเซียน
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวภายในงาน "ถอดรหัสภัยพิบัติ พลิกวิกฤตให้เป็นคำเตือน" ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ถึงภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นน้ำของการป้องกันภัยพิบัติว่า มีหน้าที่ต้องแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า ตั้งแต่ 24 ชั่งโมง 7 วัน 1 เดือนหรือ 10 ปีข้างหน้า เพื่อให้ประชาชนปรับตัวรับกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น แต่การจะดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลสำเร็จสูงสุด รวมถึงรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไว้ได้นั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ งบประมาณ ซึ่งกรมอุตุฯ ได้รับในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่เพียงพอ
"ในฐานะนักวิชาการ แผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่จะกู้เงินมาลงทุนโครงสร้างบริหารจัดการน้ำระยะยาว เช่น สร้างฟลัดเวย์ และกำแพงกั้นน้ำต่างๆ นั้น การจะไปสร้างที่ใด ประการแรกต้องพิจารณาว่า ฝนจะไปตกจุดนั้นหรือไม่ ซึ่งกรมอุตุฯ รับผิดชอบโดยตรงในการเตือนภัย และรายงานเกี่ยวกับฝน ฉะนั้น แผนที่รัฐบาลวางไว้จึงเหมือน เกาไม่ถูกที่คัน แก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะไม่รู้ว่าฝนจะตกตรงไหนและมีปริมาณเท่าใด"
นายสมชาย กล่าวต่อว่า กรมอุตุฯ พยายามนำเสนอแผนงานและแผนงบประมาณไปในหลายเวทีที่ได้เข้าร่วมว่า หากได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ จะปรับปรุงเครื่องมือให้สามารถพยากรณ์และเตือนภัยได้แม่นยำ และถูกต้องมากขึ้นว่า ฝนจะตกตอนไหน พื้นที่ใด มีปริมาณเท่าใด
"แต่ผ่านมาหลายรัฐบาลก็ยังไม่ได้รับพิจารณา ปัจจุบันจึงพยากรณ์และแจ้งเตือนได้แค่ในระดับอำเภอ จังหวัด หรือภูมิภาคตามที่เครื่องมือและศักยภาพเอื้ออำนวย ไม่ลงถึงระดับตำบล ขณะที่ประชาชนผู้ใช้ข้อมูลก็ต้องการการแจ้งเตือนและพยากรณ์ในระดับย่อยลงไปอีก เพื่อวางแผนป้องกันและลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ"
รองอธิบดีกรมอุตุฯ กล่าวว่า ปัจจุบันการพยากรณ์ภายใน 24 ชั่งโมง มีความถูกต้อง 79% แต่เทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถที่แจ้งเตือนล่วงหน้าได้เป็นเดือน และพยากรณ์ล่วงหน้าในระดับย่อย ๆ เช่น ระดับตำบล แต่เมื่อนำเสนอขอสนับสนุนงบประมาณไปยังรัฐบาลหลายชุดก็เหมือนคลื่นกระทบฝั่งแล้วหายไป เมื่อคราวเกิดภัยพิบัติหรือฝนตกหนัก ก็ชี้มาที่กรมอุตุฯ ว่า พยากรณ์ไม่แม่นยำและแจ้งเตือนไม่ทัน อีกทั้ง รัฐบาลได้สั่งห้ามกรมอุตุฯ แจ้งเตือนเรื่องน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จึงแจ้งเตือนเรื่องฝนและปริมาณน้ำฝนได้เพียงอย่างเดียว เนื่องจากรัฐบาลต้องการรวมศูนย์ข้อมูล (SINGLE COMMAND)
สำหรับรายละเอียดแผนและงบประมาณที่ทางกรมอุตุฯ ได้เสนอไปยังรัฐบาล นายสมชาย กล่าว ว่า นอกเหนือจากการเตือนภัยพิบัติแล้ว จะเพิ่มขีดความสามารถในการพยากรณ์อากาศยาวนานในแต่ละฤดูกาลและรายเดือน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการเกษตรและการท่องเที่ยวด้วย
"ผลลัพธ์ที่จะออกมาสู่ประชาชนจะเป็นแผนที่เชิงตัวเลข ข้อมูลอธิบายและเฉดสี (เขียว เหลือง แดง) ตามระดับความรุนแรง พร้อมคำแนะนำว่า เฉดสีใดต้องรับมืออย่างไร สถานการณ์อยู่ในระดับไหน และมีระบบจัดเก็บและส่งข้อมูลที่ทันสมัย ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบการบินและการพยากรณ์ทางอากาศในทะเล ซึ่งขณะนี้ ครม.ได้อนุมัติในหลักการแล้ว ในปี 2556 กรมอุตุฯ จะจัดทำข้อมูล เช่นเดียวกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็มีการใช้เฉดสี ทำให้ไทยเป็นผู้นำของอาเซียนเรื่องการเตือนภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะพายุและฝนโดยใช้เฉดสี ผ่านการเสนอในที่ประชุมระหว่างอาเซียนแล้ว"
นายสมชาย กล่าวว่า หากสามารถสร้างระบบดังกล่าวนี้ได้ การพยากรณ์และการเตือนภัยก็จะดีอย่างที่คาดไว้ แต่ถ้านำเสนอไปแล้วยังไม่โดนใจรัฐบาล ก็เป็นกรรมของพวกเราต่อไป เนื่องจากระบบปัจจุบันใช้มา 60 ปี เครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งานอยู่ทำงานช้า และไม่มีอะไหล่ขายแล้ว ทางกรมอุตุฯ จึงพยายามใช้เครื่องมืออื่นมาทดแทน ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการทำแบบจำลอง
"ความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ปีที่ผ่านมาสูญเสียไป 1.44 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับเงินที่รัฐบาลจะกู้มาบริหารจัดการน้ำและแก้ปัญหาน้ำท่วมอีก 3.5 แสนล้านบาท นับว่าสูงมากและเป็นการแก้ชั่วคราว ไม่ยั่งยืน แต่ถ้าให้กรมอุตุฯ เพียง 0.1111% หรือกว่า 1,000 ล้านบาท จะตอบได้เลยว่า ฝนจะตกที่ไหน เมื่อไหร่ เท่าใดและเตือนภัยได้เร็ว ตรงจุดมากขึ้น คาดหวังว่า ปีนี้จะได้รับความสนใจ หากเป็นไปได้ระบบจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดในปี 2557-2558 เชื่อว่าได้ประโยชน์มหาศาล"
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า แม้กรมอุตุฯ จะเตือนภัยหรือพยากรณ์แม่นเท่าใด แต่จะไม่มีประโยชน์ หากประชาชนไม่เชื่อและไม่ปฏิบัติตาม เนื่องจากแต่ละพื้นที่เสี่ยงภัยมีสภาพอากาศที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากให้เกิดขึ้น คือ ประชาชนในพื้นที่สามารถสร้างองค์ความรู้ในพื้นที่ของตนเองได้ แล้วนำมาบูรณาการกับข้อมูลการพยากรณ์ทางอากาศ นี่จะเป็นประโยชน์สูงสุดของการเตือนภัย