ไทยตั้งเป้าปี 56 เข็นหอมมะลิ 105 แข่งตลาดข้าวกับเวียดนาม
โอดงบวิจัยไทยไม่ถึง 1% จีดีพี ปีหน้าตั้งเป้าหอมมะลิ 105 แข่งกับเวียดนาม ดันข้าวไร่ชาวเขาออกสู่ตลาด
วันที่ 21 ธ.ค. 55 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นผู้แทนพระองค์ในการเปิดการประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ‘มิติใหม่วิจัยข้าวไทย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเปิดตลาดเสรีอาเซียน’ ณ โรงแรม สวิซโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ
ดร.สุเมธ กล่าวในพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่า ในต่างประเทศมีการประชุมด้านข้าวหลายหน่วยงาน และนับเป็นการดีที่ประเทศไทยที่เป็นประเทศรับสมญานามเมืองอู่ข้าวอู่น้ำและเป็นแชมป์ส่งออกข้าวมากว่า 30 ปี ได้มีการจัดประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติขึ้น และจัดเป็นประจำทุก 2 ปี โดยความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพัฒนาความก้าวหน้างานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ และยังส่งผลให้เกิดเครือข่ายงานวิจัยข้าวทั้งประเทศมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับสากลโลก สามารถแก้ปัญหาข้าวไทยได้อย่างเป็นระบบ และทำให้ชาวนาไทยกินดีอยู่ดีขึ้น ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาข้าวอย่างต่อเนื่องในเชิงระบบ โดยบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และต้องให้ความสำคัญกับชาวนารุ่นใหม่ สร้างค่านิยมให้คนรุ่นใหม่ดีใจเมื่อได้ทำนา และยังเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งไทยโชคดีที่มีพันธุ์ข้าวหลากหลาย มีพื้นดินอุดมสมบูรณ์ และด้วยเหตุนี้ทำให้เราผลิตข้าวส่งออกได้ แต่จะทำอย่างไรให้ไทยยังครองตำแหน่งการปลูกและส่งออกข้าวทั้งคุณภาพและปริมาณ โดยให้ชาวนาไทยมีการกินอยู่ที่ดีขึ้น
จากนั้นนายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวในหัวข้อ ‘ข้าวกับสุขภาวะของคนบนพื้นที่สูง’ ว่า
ข้าวไร่คือข้าวที่ปลูกในพื้นที่สภาพไร่ไม่มีน้ำขัน แบ่งเป็น 1.ข้าวพื้นที่สูงบริโภคและปลูกโดยกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือ 2.ข้าวไร่พื้นราบในภาคเหนือและอีสาน และ3.ข้าวไร่ปลูกแซมพืชชนิดอื่นในภาคใต้ แต่ข้าวไร่ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ พันธุ์ลืมผัว ซึ่งปลูกในพื้นที่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อการค้าเป็นหลัก อย่างไรก็ตามปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวไร่ของกลุ่มชาติพันธุ์มีประมาณ 6 แสนราย มีพื้นที่ปลูก 6.6 แสนไร่ ซึ่งมีความหลากหลายทางพันธุกรรมถึง 5,400 สายพันธุ์ แต่รับรองขึ้นทะเบียนแล้ว 12 สายพันธุ์ โดยล่าสุด เมื่อปี 55 ได้รับรองพันธุ์ลืมผัว
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อว่า เราปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวไร่อย่างต่อเนื่อง เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่กลับพบปัญหาการทำลายป่าจากการย้ายพื้นที่ปลูก ดังนั้นจึงให้กลุ่มชาติพันธุ์ปลูกพืชไร่หมุนเวียน แต่การปลูกลักษณะดังกล่าวต้องใช้พื้นที่และน้ำจำนวนมาก หากข้าวไร่ขาดน้ำติดต่อกัน 20 วันจะสร้างความเสียหายได้ จึงเปลี่ยนมาส่งเสริมให้ปลูกข้าวแบบขั้นบันไดแทน แม้จะต้องใช้งบประมาณในการปรับสภาพดินมาก เพื่ออนาคตจะเป็นฐานความมั่นคงทางอาหารโลก
ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ กล่าวว่า ข้าวเป็นอาหารหลักของคนเอเชียที่ให้พลังงานถึงร้อยละ 50 และเป็นแหล่งโปรตีนร้อยละ 30-50 อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระด้วย โดยเฉพาะข้าวไร่ที่มีสารอาหารอยู่มากกว่าข้าวขาว แต่ปัจจุบันไทยมีการปลูกข้าวไร่เพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะข้าวไร่ปลูกได้ปีละครั้ง ให้ผลผลิตต่ำ จึงไม่เพียงต่อการบริโภคในครัวเรือนและจำหน่าย ทำให้ชาวเขาที่เป็นผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่หันมาบริโภคข้าวขัดสีและปลูกข้าวพันธุ์อื่นมากขึ้น เนื่องจากมีสภาพเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งผลกระทบที่ตามมาทำให้ชาวเขาขาดสารโปรตีน โดยเฉพาะในแม่และเด็ก ดังนั้นควรพัฒนาพันธุ์ข้าวไร่ให้มีผลผลิตสูง บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ชาวเขาได้บริโภคและมีสุขภาพที่ดี โดยต้องส่งเสริมความรู้และการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นควบคู่ด้วย เพราะอนาคตคาดว่าข้าวไร่ที่มีศักยภาพทนแล้งจะเป็นความมั่นคงทางอาหารได้
ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยเกษตร (สวก.) กล่าวถึงสถานภาพและทิศทางงานวิจัยด้านข้าวของไทยว่า การลงทุนด้านงานวิจัยไทยอยู่ในระดับ 0.22% ของจีดีพีในระยะเริ่มแรกก่อนจะลดลงเหลือ 0.19% ของจีดีพีในปัจจุบัน มีสัดส่วนนักวิจัยประมาณ 2 คน/ประชากร 1 หมื่นคน ซึ่งเราพยายามผลักดันให้เกิดงบประมาณด้านวิจัย 1% ของจีดีพี เพื่อให้การพัฒนาเกิดสภาพคล่อง โดยตั้งแต่ปี 49-53 มีการลงทุนงบประมาณงานวิจัยข้าวแล้ว 970 โครงการ แบ่งเป็นด้านพัฒนาพันธุ์ข้าวกว่าร้อยละ 50 รองลงมาคือเทคโนโลยีการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการตลาด ตามลำดับ
“ทิศทางการพัฒนาปี 56 จะเน้นปรับปรุงพันธุ์ข้าวเป็นหลัก โดยเฉพาะการพัฒนาข้าวขาวหอมมะลิ 105 แข่งกับเวียดนาม โดยตั้งใจเลือกพื้นที่ปลูกที่มีคุณภาพ ไม่ขาดแคลนน้ำ เหมือนทุ่งกุลาร้องไห้”
อย่างไรก็ตามคงไม่คาดหวังว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความกังวลว่า อีก 15 ปีข้างหน้าโลกต้องการข้าวเพิ่มขึ้น 114 ล้านตัน เพราะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งไทยก็เจอปัญหาเช่นเดียวกัน ที่สำคัญการขาดแคลนเกษตรกรรุ่นใหม่ ทำให้อีก 3 ปีที่ไทยจะเข้าสู่เออีซีจะได้รับผลกระทบ จึงต้องเร่งพัฒนาการศึกษาวิจัยโดยด่วนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นข้าวตลาดระดับบน เพราะเชื่อว่าสังคมผู้สูงอายุต้องการอาหารเพื่อสุขภาพที่ช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังได้
ผอ.สวก. กล่าวต่อว่า ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการพัฒนาข้าวร่วมกัน จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การวิจัยเรื่องข้าวแห่งชาติ พ.ศ.2555-2560 โดยได้เปิดประชาพิจารณ์เมื่อ 17 ธ.ค. 55 จากผู้แทนภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร 300 คน เพราะเห็นว่ายุทธศาสตร์แต่ละหน่วยงานมีความคล้ายคลึงกันถึงร้อยละ 80 ยกเว้นการจัดการโลจิสติกส์ รวมถึงระบบส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงจะเป็นต้องออกแผนดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาข้าวไทยภายใต้ทิศทางเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร, กรมการข้าว และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติร่วมเป็นสักขีพยานและลงนามความตกลง ‘กรอบยุทธศาสตร์การวิจัยเรื่องข้าวแห่งชาติ พ.ศ.2555-2560’ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวผลผลิตสูงคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด เหมาะสมต่อพื้นที่และรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังพัฒนาองค์ความรู้ด้านพันธุกรรมและเทคโนโลยีโอมิกส์ของพันธุ์ข้าวไทย เพื่อเป็นพื้นฐานสู่การสร้างศักยภาพในการปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต และอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว.