2 ปี พ.ร.บ.รับงานทำบ้าน ไม่บังคับใช้ – ‘แจ๋ว’เข้าไม่ถึงเงินชดเชยประกันสังคม
ถกปัญหาแรงงานนอกระบบ 2 ปี พ.ร.บรับงานทำบ้านปฏิบัติไม่ได้ ‘แจ๋ว’ถูกกีดกันเงินชดเชยประกันสังคมม.40 เกษตรกรยังไม่ได้รับการคุ้มครอง ‘ไอแอลโอ’แนะกรรมกรไทยรวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรอง
วันที่ 21 ธ.ค. 55 ที่โรงแรมทีเคพาเลส แจ้งวัฒนะ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ จัดสัมมนา ‘การคุ้มครองแรงงานนอกระบบในประเทศไทย และจังหวะก้าวต่อไปบนมาตรฐานแรงงานสากลและหลักการการงานที่มีคุณค่า’
โดยผู้แทนแรงงานนอกระบบกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น งานทอผ้า เกษตรกรเกษตรพันธสัญญา แม่ค้าหาบเร่ แท็กซี่รับจ้าง ได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นปัญหาของแรงงานนอกระบบที่น่าสนใจ เช่น ปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองค่าแรงขั้นต่ำที่แม้จะมีกฎหมายออกมากว่า 2 ปีแล้วแต่ยังบังคับใช้ไม่ได้ โดยยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ส่งผลให้การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพแก่แรงงานนอกระบบยังไม่เกิดขึ้น , ปัญหาช่องโหว่ของการเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ในพ.ร.บ.ประกันสังคมของอาชีพคนทำงานบ้านซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นอาชีพอิสระทำให้ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตเช่นเดียวกับผู้ประกันตนกลุ่มอื่น, ปัญหาเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญาถูกเอาเปรียบจากบริษัททุนเพราะกฎหมายตีความว่าเป็นแรงงานนอกระบบจึงไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิการทำงานขั้นพื้นฐาน เป็นต้น ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่โดยมีสาระขยายสิทธิความคุ้มครองให้แรงงานนอกระบบอาชีพผู้รับงานไปทำที่บ้านและคนทำงานบ้านเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33 (เช่นเดียวกับแรงงานในระบบ)ก็ยังมีความล่าช้าในขั้นตอนการผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ
นายบัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ มูลนิธิอารมณ์พงศ์พงัน กล่าวว่า ปัจจุบันการคุ้มครองสิทธิแรงงานนอกระบบเป็นเรื่องที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ(ILO) ให้ความสำคัญมากขึ้น ขณะที่ไทยในฐานะประเทศสมาชิกไอแอลโอกลับยังไม่ให้สัตยาบันรองรับอนุสัญญาสำคัญอันเป็นหัวใจหลักของแรงงาน คือ อนุสัญญาฉบับที่ 111 ว่าด้วยโอกาสการจ้างงานอย่างเท่าเทียมกันของชาย หญิง และฉบับที่ 87 กับฉบับที่ 98 ว่าด้วยเสรีภาพการรวมตัว การเจรจาต่อรอง
ขณะที่นางระกาวิน ลีชนะวาณิชพันธุ์ ผู้แทนไอแอลโอ กล่าวว่า ปัจจุบันไอแอลโอมีสมาชิก 185 ประเทศ มีอนุสัญญามาตรฐานแรงงานโลก 189 ฉบับ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกก่อตั้งกลับให้สัตยาบันเพียง 14 ฉบับ น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ทั้งนี้ไอแอลโอเคยเสนอต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเรื่องอนุสัญญาฉบับที่ 87 98 และ 111 แล้วซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์มีท่าทีเห็นด้วย โดยมองว่าการให้ความคุ้มครองแรงงานนอกระบบทางกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งยังไม่ค่อยเห็นเป็นรูปธรรมในประเทศอาเซียน ขณะที่ไทยเน้นคุ้มครองเพียงด้านสังคม อย่างไรก็ดีมองว่าการขับเคลื่อนเรื่องมาตรฐานแรงงานไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐฝ่ายเดียว แต่ลูกจ้างหรือแม้กระทั่งนายจ้างเองต้องพร้อมขับเคลื่อนด้วย โดยต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง
โดยมองว่าแรงงานภาคเกษตรเป็นแรงงานที่อาจเข้าถึงหลักประกันเช่นเดียวกับแรงงานในระบบได้ยาก เนื่องจากมีรายได้ไม่แน่นอนเปลี่ยนไปตามฤดูกาลผลผลิต
นายบัณฑิต กล่าวต่อว่า รัฐบาลไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีแนวโน้มให้ความคุ้มครองแรงงานนอกระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดกระทรวงแรงงาน ได้ทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2555 -2559 โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติที่มีนายรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่จนถึงเวลานี้ยังไม่มีการประชุมเกิดขึ้น จึงมีความกังวลว่าการขับเคลื่อนต่างๆจะอยู่เพียงระดับบนที่ไม่อาจบังคับใช้ในระดับล่างได้จริง
นายประธาน ถาวร สำนักส่งเสริมความมั่นคงแรงงานนอกระบบ กล่าวถึงการประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา40ของแรงงานนอกระบบว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ขณะที่ผู้ประกันตนม.40 เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 91 จากเป้าหมาย 1.4 ล้านคนขณะนี้ แต่อัตราการคงอยู่ของผู้จ่ายเงินสมทบต่อเนื่องกลับลดลงเหลือเพียงร้อยละ 50 ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการไม่ได้รับเงินชดเชย
ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า แรงงานนอกระบบทุกอาชีพที่รับงานจากนายจ้างในระบบมาทำนั้น สมควรเป็นผู้ประกันตนตามม.33 เช่นเดียวกับแรงงานในระบบโดยไม่ควรมีการแบ่งแยก เพราะเข้าข่ายความสัมพันธ์การจ้างานลักษณะที่มีนายจ้าง-ลูกจ้างเช่นกัน
นางสุนี ไชยรส คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า แรงงานหลายอาชีพไม่ถูกตีความด้วยกฎหมายว่าเป็นแรงงานในระบบซึ่งทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนทำงานควรได้รับ โดยเห็นว่าการออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่อไปควรเป็นกฎหมายหลักที่รวมการคุ้มครองแรงงานทุกประเภท ไม่ใช่การออกกฎหมายรองรับแรงงานแต่ละกลุ่มทีละหน ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้ยาก
ขณะที่นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานอาชีพ กล่าวว่า จากประสบการณ์การเรียกร้องสิทธิคุ้มครองแรงงานนอกระบบพบว่า สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ในการแก้ไขปัญหาแรงงาน คือ การเปลี่ยนผู้บริหารเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ทำให้การดำเนินการเรื่องใดๆไม่ต่อเนื่อง
“พอเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ คนผลักดันก็ต้องเทียวไปเล่าแต่เรื่องเดิม พูดแต่เรื่องซ้ำซาก จนเหนื่อย ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น”
ปัญหาสำคัญอีกประการคือการที่สังคมโดยประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องกฎหมายไม่เข้าใจเรื่องแรงงาน ทำให้การผลักดันอยู่ที่คนเพียงไม่กี่กลุ่ม ดังนั้นการเสริมสร้างความเข้าใจต่อสังคมรวมทั้งในหมู่แรงงานนอกระบบด้วยกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ที่มาภาพ :: http://voicelabour.org